โรคจิต

กลุ่มโรคทางระบบประสาทที่สามารถรักษาได้
(เปลี่ยนทางจาก Extrapyramidal symptoms)

โรคจิต[6] หรือ ภาวะโรคจิต หรือ อาการโรคจิต(อังกฤษ: psychosis) เป็นจิตภาวะที่ผิดปกติซึ่งมีผลให้กำหนดไม่ได้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง[4][7]อาจมีอาการหลงผิด (delusion) ประสาทหลอน (hallucination) คือเห็นหรือได้ยินอะไรที่คนอื่นไม่เห็นไม่ได้ยิน[4]พูดไม่ปะติดปะต่อ มีพฤติกรรมที่ไม่สมควรกับสถานการณ์[4]มีปัญหานอนหลับ ปลีกตัวจากสังคม ไม่อยากจะทำอะไร และมีปัญหากับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

โรคจิต
(Psychosis)
ชื่ออื่นPsychotic break
ภาพ ราตรีประดับดาว ปี 1889 ของจิตรกรชาวดัตช์ฟินเซนต์ ฟัน โคค แสดงความเปลี่ยนแปลงของแสงและสีที่อาจปรากฏกับอาการทางจิตนี้[1][2][3]
สาขาวิชาจิตเวช, จิตวิทยาคลินิก
อาการหลงผิด เห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงหลอนที่คนอื่นไม่เห็นไม่ได้ยิน พูดไม่ปะติดปะต่อ[4]
ภาวะแทรกซ้อนทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย[5]
สาเหตุความเจ็บป่วยทางจิตใจ (โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว) การขาดนอน โรคหรืออาการบางอย่าง ยาที่กินรักษาบางอย่าง สารเสพติด (รวมทั้งแอลกอฮอล์และกัญชา)[4]
การรักษายาระงับอาการทางจิต รับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์พยาบาล ความช่วยเหลือทางสังคม[5]
พยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับเหตุ[5]
ความชุกในสหรัฐอเมริกา 3% ของประชากรทั้งหมดในช่วงชีวิต[4]

ภาวะนี้มีเหตุหลายอย่าง[4]รวมทั้งความเจ็บป่วยทางจิต (mental illness) เช่น โรคจิตเภทหรือโรคอารมณ์สองขั้ว, การขาดนอน, โรคหรืออาการบางอย่าง, ยาที่กินรักษาบางอย่าง, สารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์หรือกัญชา[4]แบบหนึ่งคือโรคจิตหลังคลอด (postpartum psychosis) อาจเกิดหลังคลอดบุตร[8]สารสื่อประสาทคือโดพามีนเชื่อว่ามีบทบาท[9]อาการที่เป็นปัจจุบันจัดเป็นภาวะปฐมภูมิถ้ามีเหตุทางจิตเวช และเป็นภาวะทุติยภูมิถ้ามีเหตุจากโรคหรืออาการทางแพทย์อย่างอื่น ๆ[10]การวินิจฉัยความเจ็บป่วยทางจิตใจจำเป็นต้องกันเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ออก[11]แพทย์อาจตรวจดูว่าโรคระบบประสาทกลาง ภาวะพิษ และปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ อาจเป็นเหตุหรือไม่[12]

การรักษาอาจรวมยาระงับอาการทางจิต (antipsychotic) รับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์พยาบาล (counselling) และความช่วยเหลือทางสังคม[4][5]การได้การรักษาตั้งแต่ต้น ๆ ดูเหมือนจะทำให้ได้ผลดีขึ้น[4]การรักษาด้วยยาดูเหมือนจะมีผลปานกลาง (moderate)[13][14]ผลที่ได้จะขึ้นอยู่กับเหตุ[5]ในสหรัฐอเมริกา ประชากร 3% จะเกิดภาวะนี้ในช่วงชีวิต[4]แพทย์กรีกโบราณคือ ฮิปพอคราทีส ได้กล่าวถึงภาวะนี้ตั้งแต่ 4 ศตวรรษก่อน ค.ศ. และพาไพรัสอียิปต์โบราณ (ที่เรียกว่า Ebers Papyrus) อาจกล่าวถึงภาวะนี้เมื่อ 15 ศตวรรษก่อน ค.ศ.[15][16]

อาการ

ประสาทหลอน

ภาพวาดแสดงอาการภาพหลอนของ ดอน กิโฮเต้

ประสาทหลอน (hallucination) นิยามว่าเป็นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสโดยไม่มีสิ่งเร้าภายนอกจริง ๆผิดไปจากสิ่งลวงประสาทสัมผัส (illusion) หรือความบิดเบือนทางการรับรู้ (perceptual distortion) ซึ่งเป็นการแปลสิ่งเร้าภายนอกที่มีอยู่จริง ๆ ผิดไปประสาทหลอนอาจเกิดทางประสาทสัมผัสใด ๆ ก็ได้ มีรูปแบบเช่นไรก็ได้อาจเป็นการรับรู้อย่างง่าย ๆ (เช่น แสง สี เสียง รส หรือกลิ่น) หรือเป็นประสบการณ์ที่ซับซ้อนละเอียดยิ่งกว่า (เช่น เห็นและมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์หรือบุคคล ได้ยินเสียงคน หรือมีการสัมผัสที่ซับซ้อน)โดยทั่วไปปรากฏอย่างชัดเจนและควบคุมไม่ได้[17]ตัวอย่างรวมทั้งได้ยินเสียงคนที่ตายไปแล้ว ได้ยินเสียงกระแสจิต หรือเห็นภาพที่คนอื่นไม่เห็น ได้กลิ่นที่คนอื่นไม่ได้กลิ่น หูแว่วโดยเฉพาะที่ได้ยินเสียงพูดเป็นประสบการณ์สามัญสุดและเด่นสุดของภาวะโรคจิต

ประชากรทั่วไปถึง 15% อาจประสบกับหูแว่วความชุกในคนไข้โรคจิตเภททั่วไประบุว่าอยู่ที่ 70% แต่อาจมีถึง 98%ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หูแว่วจัดว่าเกิดบ่อยเป็นอันดับสองต่อจากประสาทหลอนทางตา แต่ปัจจุบันปรากฏบ่อยสุดในโรคจิตเภท แม้อัตราจะต่างกันบ้างในวัฒนธรรมต่าง ๆ และเขตภูมิภาคต่าง ๆ หูแว่วมักจะเป็นเสียงพูดที่จับความไม่ได้จำนวนเสียงบุคคลที่คนไข้ได้ยินโดยเฉลี่ยประเมินว่าอยู่ที่ 3 คนรายละเอียดต่าง ๆ เช่นความบ่อยครั้งที่ได้ยิน จะต่างกันอย่างสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเทียบทางวัฒนธรรมและกลุ่มประชากรต่าง ๆคนที่หูแว่วบ่อยครั้งสามารถระบุความดัง แหล่งเกิดเสียง และอาจระบุเสียงว่าเป็นของบุคคลต่าง ๆ ได้คนในวัฒนธรรมตะวันตกมักจะหูแว่วในเรื่องศาสนา บ่อยครั้งเกี่ยวกับบาปประสาทหลอนอาจผลักดันให้บุคคลทำอะไรที่เป็นอันตรายเมื่อมีอาการหลงผิดประกอบด้วย[18]

extracampine hallucination เป็นการรับรู้เกินพิสัยของอวัยวะรับความรู้สึก (เช่น เสียงที่รับรู้ด้วยเข่า)[18]

ประสาทหลอนทางตาเกิดขึ้นกับคนไข้โรคจิตเภทในอัตราประมาณ 1 ใน 3 แต่ก็มีรายงานว่าอาจถึง 55%สิ่งที่เห็นบ่อยครั้งเป็นสิ่งเคลื่อนที่ แต่สิ่งที่รับรู้ผิดปกติอาจรวมระดับแสง เงา ริ้วลาย และเส้นการเห็นผิดปกติอาจขัดกันกับการรับรู้อากัปกิริยา เช่น อาจเห็นว่าพื้นเอียง (โดยไม่ได้รู้สึกว่าพื้นเอียง)การเห็นวัตถุใหญ่ เล็ก ใกล้ไกลเกินความเป็นจริง (Lilliputian hallucination)จะเกิดน้อยกว่าในโรคจิตเภท และเกิดบ่อยกว่าในโรคสมองต่าง ๆ (เช่นใน ภาวะประสาทหลอนเหตุก้านสมอง คือ peduncular hallucinosis)[18]ประสาทหลอนภายใน (visceral hallucination, cenesthetic hallucination) เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับอวัยวะภายในโดยไม่มีสิ่งเร้าจริง ๆ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเหมือนถูกเผาถูกไหม้ หรือว่ามีการจัดเรียงอวัยวะใหม่[18]

อาการหลงผิด

ภาวะโรคจิตอาจมีอาการหลงผิด (delusion)ซึ่งก็คือความรู้สึกมั่นใจในเรื่องผิด ๆ อย่างไม่ลดละแม้จะมีหลักฐานที่แสดงว่าไม่จริง การตัดสินว่าอะไรเป็นความหลงผิดจะขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรม ความเชื่อที่ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งที่ควรและจัดว่าเป็นความหลงผิดในประชากรกลุ่มหนึ่งอาจเป็นเรื่องสามัญ (แม้จนกระทั่งเป็นการปรับตัวที่ดี) ในอีกกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่ในกลุ่มประชากรเดียวกันต่อ ๆ มาแต่เพราะความเชื่อความเห็นปกติอาจไม่ตรงกับหลักฐานความจริงเอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องฝ่าฝืนความเชื่อของสังคมเพื่อที่จะจัดว่า เป็นความหลงผิดตัวอย่างรวมทั้งคิดว่ามีคนจะมาฆ่า ทั้งที่จริง ๆ ไม่มี หรือคิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้ากลับชาติมาเกิด หรือคิดว่ามนุษย์ต่างดาวได้จับตนไปฝังเครื่องส่งสัญญาณ โดยที่ไม่มีรายละเอียดหรือเหตุผลใดที่น่าเชื่อถือ

คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) จัดความหลงผิดบางอย่างว่า แปลกประหลาด (bizarre) ถ้าชัดเจนว่าเป็นไปไม่ได้ หรือว่าไม่เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมแต่แนวคิดเรื่องนี้ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง ที่เด่นสุดก็คือการตัดสินว่าคนไข้มีหรือไม่มีอาการนี้ เชื่อถือได้ไม่มากแม้ในบุคคลที่ได้ฝึกมาแล้ว[18]ความหลงผิดอาจมีตีมหลายอย่างแบบสามัญที่สุดก็คือ ความหลงผิดว่ามีคนตามรังควาน (persecutory delusion) คือเชื่อว่า บุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังพยายามทำร้ายตนแบบอื่น ๆ รวมทั้ง

  • การหลงผิดว่าหมายเพื่อตนเอง (delusions of reference) เป็นความเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดเป็นการกระทำที่ตั้งใจโดยเฉพาะ ๆ หรือเป็นการส่งสารจากบุคคลหรือสิ่งที่มีตัวตนอื่น ๆ
  • ภาวะหลงผิดคิดตนเขื่อง (delusions of grandiosity) เป็นความเชื่อว่าตนมีอำนาจหรือมีอิทธิพลพิเศษเกินกว่าที่มีจริง ๆ
  • การกระจายความคิด (thought broadcasting) เป็นความเชื่อว่า ความคิดของตนคนอื่นได้ยินได้
  • การแทรกความคิด (thought insertion) เป็นความเชื่อว่า ความคิดที่มีไม่ใช่ของตน

ตามประวัติ จิตแพทย์ชาวเยอรมันคือ คาร์ล จัสเปอร์ (Karl Jaspers) ได้แบ่งความหลงผิดเหตุโรคจิตออกเป็นปฐมภูมิ (primary) และทุติยภูมิ (secondary)โดยแบบปฐมภูมินิยามว่า เกิดอย่างฉับพลัน อธิบายไม่ได้ว่าเป็นกระบวนการทางจิตที่ปกติ เทียบกับแบบทุติยภูมิที่ปกติจะได้อิทธิพลจากประวัติหรือสถานการณ์ปัจจุบันของบุคคลนั้น ๆ (เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ และความเชื่อทางการเมือง)[19]

ความสับสนวุ่นวาย (disorganization)

ความสับสนแยกเป็นทางคำพูดหรือทางความคิด และการเคลื่อนไหวที่สับสนคำพูดที่สับสน ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า formal thought disorder[A] เป็นความสับสนทางความคิดที่รู้ได้โดยคำพูดลักษณะของคำพูดสับสนรวมทั้งการเปลี่ยนประเด็นไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรียกว่า derailment หรือ loose associationการเปลี่ยนประเด็นไปในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเรียกว่า tangential thinkingคำพูดที่จับใจความไม่ได้เรียกว่า word salad หรือ incoherence (คำพูดไม่ปะติดปะต่อ)

การเคลื่อนไหวสับสนรวมการเคลื่อนไหวที่ซ้ำ ๆ แปลก ๆ หรือไม่มีจุดมุ่งหมายการเคลื่อนไหวสับสนน้อยครั้งที่จะรวมอาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonia) แม้นี่จะเป็นอาการเด่นตามประวัติ แต่ก็ไม่ค่อยเห็นในปัจจุบันแต่เป็นเพราะการรักษาที่เคยใช้หรือการไม่ได้รักษาก็ไม่ชัดเจน[18][17]

อาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonia) เป็นภาวะกายใจไม่สงบอย่างรุนแรงที่การรับรู้ความจริงพิการโดยทั่วไปมีพฤติกรรมที่ปรากฏสองอย่างโดยหลักอาการคลาสสิกก็คือไม่เคลื่อนไหว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเมื่อตื่นโดยประการทั้งปวงซึ่งมักประกอบกับอาการจัดท่าทางได้เหมือนหุ่นขี้ผึ้ง (waxy flexibility)คือคนอื่นสามารถปรับท่าทางแขนขาของบุคคลนั้นแล้วดำรงอยู่ในท่านั้นแม้จะเป็นท่าที่แปลกหรือไม่ได้ช่วยอะไร เช่น ยกแขนของบุคคลนั้นตั้งขึ้นแล้วก็คงอยู่อย่างนั้น

อีกรูปแบบหนึ่งมีอาการเป็นกายใจไม่สงบอย่างรุนแรงคือคลื่อนไหวมากเกิน ไม่มีจุดมุ่งหมาย โดยประกอบกับคิดอะไรอยู่ทางใจที่ทำให้ไม่สามารถรับรู้ความจริงได้ตัวอย่างเช่น เดินอย่างเร็ว ๆ เป็นวงกลมโดยไม่สนใจอะไรอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเดิน ซึ่งไม่ปกติสำหรับบุคคลนั้นก่อนจะมีอาการคนไข้ทั้งสองแบบปกติจะไม่ตอบสนองต่ออะไร ๆ นอกเหนือสิ่งที่ตนทำการแยกแยกภาวะเช่นนี้กับคราวฟุ้งพล่าน (mania) ที่เกิดจากโรคอารมณ์สองขั้วเป็นเรื่องสำคัญ แต่บุคคลหนึ่ง ๆ ก็สามารถมีอาการทั้งสองอย่างพร้อม ๆ กัน

อาการนี้ถ้าในช่วงแรกจะสังเกตได้ยาก ต้องเป็นคนใกล้ชิดเท่านั้นที่พอทราบ แต่ช่วงหลังจะเปลี่ยนไปอย่างหนัก เช่น ไม่หลับไม่นอน ไม่กินอาหาร เดินทั้งคืน พูดคนเดียว

อาการเชิงลบ/บกพร่อง (negative symptoms)

อาการเชิงลบ หรืออาการบกพร่อง (negative symptoms) รวมการแสดงออกทางอารมณ์ที่ลดลง ไม่มีแรงจูงใจทำอะไร และพูดเองน้อยลงเป็นการขาดความสนใจและการไม่ทำอะไรเอง และไม่สามารถเกิดความยินดี[20]

เหตุ

ที่เป็นปกติ

ประสาทหลอนระยะสั้น ๆ ไม่ใช่อะไรที่มีน้อยในบรรดาบุคคลที่ไม่มีโรคทางจิตเวช เหตุหรือสิ่งที่จุดชนวนรวมทั้ง[21]

  • เมื่อกำลังจะหลับหรือเมื่อกำลังจะตื่น เป็นการเห็นภาพหลอนขณะเคลิ้มหลับ (hypnagogic) และการเห็นภาพหลอนขณะเคลิ้มตื่น (hypnopompic) ซึ่งเป็นเรื่องปกติ[22]
  • การเสียบุคคลที่รัก ประสาทหลอนเห็นคนรักผู้เสียชีวิตไปแล้วเป็นเรื่องสามัญ[21]
  • การขาดนอนอย่างรุนแรง[23][24][25]
  • ความเครียด[26]

ความบาดเจ็บ

เหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้บอบช้ำทางกายใจพบว่า สัมพันธ์กับความเสี่ยงเกิดอาการโรคจิตเพิ่มขึ้น[27]ความบอบช้ำทางกายใจในวัยเด็กโดยเฉพาะพบว่าเป็นตัวพยากรณ์อาการโรคจิตในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่[28]คนไข้ที่มีอาการโรคจิต 65% ประสบกับการบาดเจ็บทางกายใจในวัยเด็ก (เช่น ถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศ ถูกละเลยทางกายหรือทางใจ)[29]

ความอ่อนแอที่เพิ่มขึ้นของบุคคลอาจมีปฏิสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่ทำให้บอบช้ำทางกายใจ ส่งเสริมให้เกิดอาการโรคจิตในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงระยะพัฒนาการที่อ่อนไหวมาก[28]ที่สำคัญก็คือ อาการโรคจิตดูจะสัมพันธ์กับเหตุการณ์บอบช้ำทางกายใจในชีวิตโดยเป็นไปตามความมากน้อย คือเหตุการณ์ที่เจ็บปวดหลายเหตุการณ์จะรวม ๆ กันเพิ่มการแสดงออกและความรุนแรงของอาการ[27][28]จึงแสดงว่า การป้องกันความบอบช้ำทางกายใจและการรักษาตั้งแต่ต้น ๆ อาจเป็นเป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดความชุกและบรรเทาผลของโรคจิต[27]

โรคทางจิตเวช (psychiatric disorder)

จากมุมมองของการวินิจฉัยโรค โรคทางกาย (organic disorder) จัดว่ามีเหตุจากความเจ็บป่วยทางกายที่มีผลต่อสมอง (และมีผลเป็นโรคทางจิตเวชซึ่งเป็นรอง คือ ทุติยภูมิ) เทียบกับโรคเชิงหน้าที่ (functional disorder) ซึ่งจัดว่ามีเหตุจากการทำงานของจิตใจโดยไม่มีความผิดปกติทางกายอื่น ๆ (คือ เป็นโรคทางจิต [psychological] หรือทางจิตเวช [psychiatric] แบบปฐมภูมิ)แต่จริง ๆ ก็ได้พบความผิดปกติทางกายที่ละเอียดอ่อนในโรคที่ปกติจัดเป็นโรคเชิงหน้าที่ เช่น โรคจิตเภทดังนั้น คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตรุ่น DSM-IV-TR จึงไม่แบ่งแยกระหว่างโรคทางกายกับโรคทางหน้าที่ แต่จัดรายการเป็นโรคจิตแบบดั้งเดิม (traditional psychotic illnesses), ภาวะโรคจิตเพราะอาการทางแพทย์ทั่วไป (psychosis due to general medical condition) และภาวะโรคจิตเหตุสารภายนอก (substance-induced psychosis)

ในทางจิตเวช โรคปฐมภูมิที่เป็นเหตุของภาวะโรคจิตรวมทั้ง[30][31][21]

อาการโรคจิตยังอาจพบใน[21]

ความเครียดรู้ว่ามีบทบาทและเป็นตัวจุดชนวนภาวะโรคจิตประวัติการมีเหตุการณ์บอบช้ำทางกายใจในชีวิต และประสบการณ์เครียดที่เพิ่งมี ทั้งสองสามารถมีบทบาทให้เกิดภาวะโรคจิตภาวะแบบสั้น ๆ ที่จุดชนวนโดยความเครียดเรียกว่า brief reactive psychosis และคนไข้อาจกลับเป็นปกติภายในสองอาทิตย์[53]ในกรณีที่มีน้อย บุคคลอาจจะมีภาวะโรคจิตเป็นเวลาหลายปี หรืออาจมีอาการโรคจิตที่บรรเทาลงบ้างอยู่ตลอดเวลา (เช่น ประสาทหลอนอย่างอ่อน ๆ)

ลักษณะทางบุคลิกภาพคือวิตกจริต (neuroticism) เป็นตัวพยากรณ์การเกิดภาวะโรคจิตที่เป็นอิสระตัวหนึ่ง[54]

ประเภทย่อย

ประเภทย่อย ๆ ของภาวะโรคจิตรวมทั้ง

  • ภาวะโรคจิตตามประจำเดือน (menstrual psychosis) เกิดป็นคาบ ๆ ตามรอบประจำเดือน
  • ภาวะโรคจิตหลังคลอด (postpartum psychosis) เกิดหลังคลอดบุตร
  • monothematic delusions เป็นภาวะหลงผิดในเรื่อง ๆ เดียว
  • โรคจิตเหตุขาดไทรอยด์ (myxedema psychosis) เป็นผลที่มีน้อยเนื่องกับภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) เช่น ในโรค Hashimoto's thyroiditis และในคนไข้ที่ผ่าเอาต่อมไทรอยด์ออกและไม่ทานยา thyroxine ต่อมไทรอยด์ที่ทำงานน้อยเกินอาจก่อภาวะสมองเสื่อมที่แย่ลงเรื่อย ๆ อาการเพ้อ และในกรณีรุนแรงประสาทหลอน โคม่า หรือภาวะโรคจิต โดยเฉพาะในคนชรา
  • stimulant psychosis เป็นความผิดปกติทางจิต (mental disorder) ที่มีอาการเป็นภาวะโรคจิต (เช่น ประสาทหลอน คิดระแวง หลงผิด ความคิดไม่ประติดประต่อ พฤติกรรมไม่มีจุดมุ่งหมาย) โดยปกติหลังจากทานยากระตุ้นประสาท (psychostimulant) มากเกินไป[55] แต่ก็มีรายงานว่าเกิดกับบุคคลประมาณ 0.1% หรือ 1 คนในพันคนภายในสัปดาห์แรก ๆ หลังเริ่มกินยาเพื่อรักษาคือแอมเฟตามีน หรือ methylphenidate[56][57]
  • tardive psychosis เป็นภาวะที่เกิดเพราะการใช้ยารักษาโรคจิต (neuroleptics) เป็นระยะเวลานาน จะเห็นภายหลังเมื่อยาลดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้มากขึ้น หรือเมื่อคนไข้ไม่ตอบสนองต่อยาขนาดที่มากขึ้น
  • shared psychosis[J]

Cycloid psychosis

cycloid psychosis เป็นภาวะโรคที่แย่ลงจากปกติไปเป็นโรคจิตอย่างสมบูรณ์ ปกติใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนเป็นวัน ๆ โดยไม่เกี่ยวกับยาที่กินหรือความบาดเจ็บที่สมอง[58]cycloid psychosis มีประวัติยาวนานตามประวัติจิตเวชยุโรปจิตแพทย์ชาวเยอรมัน Karl Kleist ได้ใช้คำนี้เป็นครั้งแรกในปี 1926แม้จะเป็นประเด็นทางคลินิกที่สำคัญ แต่ทั้งวรรณกรรมและวิทยาการจำแนกโรคในช่วงนั้นก็ไม่ได้ให้ความสนใจแก่การวินิจฉัยโรคเช่นนี้และแม้จะได้ความสนใจจากวรรณกรรมทั่วโลกในช่วง 50 ปีก่อน แต่งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ลดลงอย่างมากภายใน 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดว่า วินิจฉัยนี้ได้รวมเข้ากับระบบการจัดวินิจฉัยโรคแล้ว ซึ่งจริง ๆ กล่าวถึงอาการนี้เป็นบางส่วนเท่านั้นนี้เป็นโรคโดยเฉพาะของมันเองที่ต่างกับโรคอารมณ์สองขั้ว และกับโรคจิตเภท แม้จะมีทั้งอารมณ์แปรปรวนเป็นสองขั้วและอาการทางจิตเภทโรคมีภาวะโรคจิตอย่างฉับพลันโดยปกติจำกัดเวลา มีอาการหลายอย่างโดยมีความสับสนหรือความงุนงงที่อาจก่อทุกข์ลักษณะหลักของโรคก็คือการเกิดอาการต่าง ๆ อย่างฉับพลัน และปกติจะกลับคืนปกติ พยากรณ์โรคระยะยาวจึงดี

เกณฑ์วินิจฉัยรวมอาการอย่างน้อย 4 อย่างดังต่อไปนี้[58]

  • สับสน
  • อาการหลงผิดที่ไม่เป็นไปตามอารมณ์
  • ประสาทหลอน
  • วิตกกังวลอย่างรุนแรงที่ไม่จำกัดต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์
  • มีความสุขหรือดีใจมาก
  • มีปัญหาการเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวเกิน
  • กังวลเรื่องความตาย
  • อารมณ์แปรปรวนในระดับหนึ่ง แต่ยังน้อยเกินกว่าจะวินิจฉัยเป็นความผิดปกติทางอารมณ์

โรคนี้เกิดกับผู้มีอายุระหว่าง 15-50 ปี[58]

โรคอื่น ๆ

โรคหรืออาการทางแพทย์เป็นจำนวนมากอาจก่อภาวะโรคจิต บางครั้งเรียกว่า โรคจิตทุติยภูมิ (secondary psychosis)[21]ตัวอย่างรวมทั้ง

สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (psychoactive drug)

สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายอย่าง ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเชื่อว่า เป็นเหตุ หรือทำให้แย่ลง หรือเร่งให้เกิด ซึ่งภาวะโรคจิตหรือโรคอื่น ๆ สำหรับผู้ที่ใช้สาร โดยมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ต่าง ๆ กันอาการจะเกิดหลังใช้สารเป็นระยะเวลานานหรือหลังจากการขาดยา[21]บุคคลที่มีภาวะโรคจิตที่สารก่อมักจะสำนึกในภาวะโรคจิตของตนมากกว่า และมักคิดฆ่าตัวตายมากกว่าบุคคลที่มีโรคปฐมภูมิที่มีอาการโรคจิต[95]ยาที่อ้างว่าชักนำให้เกิดอาการโรคจิตรวมทั้งแอลกอฮอล์, กัญชา, โคเคน, แอมเฟตามีน, cathinone, สารก่ออาการโรคจิต (เช่น แอลเอสดีและ psilocybin), κ-opioid receptor agonist เช่น enadoline และ salvinorin A, NMDA receptor antagonist เช่น เฟนไซคลิดีนและ ketamine[21][96]กาเฟอีนอาจทำให้อาการแย่ลงในคนไข้โรคจิตเภทและก่อภาวะโรคจิตสำหรับคนปกติถ้ากินในขนาดมาก ๆ[97][98]

แอลกอฮอล์

คนประมาณ 3% ที่ติดเหล้า (alcoholism) จะประสบกับภาวะโรคจิตในช่วงที่เมามากหรือกำลังขาดเหล้าอาจปรากฏโดยเป็นส่วนของภาวะทางประสาทที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการขาดเหล้าซ้ำ ๆ ที่เรียกว่า kindlingนี่เป็นผลระยะยาวของแอลกอฮอล์ซึ่งบิดเบือนเยื่อเซลล์ประสาท บิดเบือนการแสดงออกของยีน พร้อมกับทำให้ขาดไทอามีน (วิตามินบี1)อาจเป็นไปได้ว่า ในบางกรณี กลไก kindling สำหรับการติดเหล้าในระยะยาวอาจก่อความผิดปกติเรื้อรังที่มีอาการโรคจิตโดยสารเป็นตัวชักนำ คือ โรคจิตเภทผลของภาวะโรคจิตเนื่องกับแอลกฮอล์รวมความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคซึมเศร้า ต่อการฆ่าตัวตาย และต่อความพิการทางจิตสังคม[99]

กัญชา

ตามงานศึกษาบางส่วน ยิ่งใช้กัญชาบ่อยเท่าไร ก็จะมีโอกาสเกิดโรคที่มีภาวะโรคจิตเท่านั้น[100]คนใช้บ่อยจะมีสหสัมพันธ์กับความเสี่ยงภาวะโรคจิตและโรคจิตเภทเป็นสองเท่า[101][102]แม้นักวิชาการบางส่วนจะยอมรับว่ากัญชาเป็นเหตุส่วนหนึ่งของโรคจิตเภท[103]แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ โดยความอ่อนแอต่อภาวะโรคจิตที่มีอยู่แล้วปรากฏกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชากับภาวะโรคจิต[104][105]งานศึกษาบางงานได้ระบุว่า ผลของสารประกอบออกฤทธิ์สองอย่างในกัญชา คือ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และ cannabidiol (CBD) มีผลตรงกันข้ามกันในเรื่องภาวะโรคจิตโดย THC อาจก่ออาการโรคจิตในบุคคลปกติ และ CBD อาจลดอาการที่เกิดจากกัญชา[106]

อย่างไรก็ดี การใช้กัญชาได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่อัตราการเกิดภาวะโรคจิตกลับไม่เพิ่มดังนั้น สิ่งที่พบเหล่านี้อาจแสดงว่า การใช้กัญชานั้นเร่งการเกิดภาวะโรคจิตในบุคคลที่อ่อนแอต่อภาวะนี้อยู่แล้ว[107]การใช้กัญชาที่มีฤทธิ์แรงก็ดูเหมือนจะเร่งการเกิดภาวะโรคจิตในคนไข้ที่อ่อนแอต่อการเกิดอาการ[108]งานศึกษาปี 2012 สรุปว่า กัญชามีบทบาทสำคัญในการเกิดภาวะโรคจิตในบุคคลที่อ่อนแอ ดังนั้น การสูบกัญชาในช่วงต้นวัยรุ่นควรห้าม[109]

เมแทมเฟตามีน

เมแทมเฟตามีนอาจก่ออาการโรคจิตสำหรับผู้ใช้ยาอย่างหนัก 26-46%บางคนอาจเกิดภาวะโรคระยะยาวที่คงยืนเกินกว่า 6 เดือนอนึ่ง ผู้ที่มีภาวะโรคจิตระยะสั้น ๆ เนื่องกับยาก็อาจเกิดอาการอีกหลังจากนั้นหลายปีเมื่อเกิดเหตุการณ์เครียด เช่น การนอนไม่หลับอย่างรุนแรง หรือการดื่มแอลกอฮอล์ขนาดหนักแม้จะไม่ได้กลับไปใช้ยาใหม่[110]ผู้ที่ใช้ยาเป็นเวลานานและได้เกิดอาการโรคจิตในอดีตเพราะยา มีโอกาสสูงมากที่จะกลับมีภาวะโรคจิตเนื่องกับยาภายในสัปดาห์เดียวที่กลับไปใช้ยาอีก[ต้องการอ้างอิง]

ยา

การกินยาหรือการขาดยาเป็นจำนวนมากอาจก่ออาการโรคจิต[21]ยาที่ก่ออาการโรคจิตในการทดลองหรือในกลุ่มประชากรเป็นส่วนสำคัญ รวมแอมเฟตามีนและยากลุ่ม sympathomimetic[T]อื่น ๆ, dopamine agonist, ketamine, corticosteroids (ซึ่งทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปด้วย) และยากันชัก เช่น vigabatrin[21][111]สารกระตุ้นที่ก่ออาการนี้รวมทั้ง lisdexamfetamine[U][112]

การเข้าสมาธิ (meditation) อาจมีผลข้างเคียงทางจิตใจ รวมทั้ง depersonalization[V], derealization[E]และอาการโรคจิต เช่นประสาทหลอนและความแปรปรวนทางอารมณ์[113]

พยาธิสรีรวิทยา

การสร้างภาพทางประสาท (neuroimaging)

ภาพสมองของคนไข้ภาวะโรคจิตภาพแรกได้ทำอย่างช้าที่สุดก็ปี 1935 ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า การถ่ายภาพรังสีโพรงสมองหลังฉีดอากาศ (pneumoencephalography)[114]เป็นหัตถการที่ทำให้เจ็บและปัจจุบันถือว่าล้าสมัย ทำโดยระบายน้ำในท่อสมองไขสันหลัง (CSF) จากรอบ ๆ สมองแล้วแทนที่ด้วยอากาศเพื่อให้ถ่ายภาพเอกซ์เรย์เห็นได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งอาการโรคจิตคราวแรก และภาวะที่มีความเสี่ยงต่ออาการโรคจิตสูง สัมพันธ์กับปริมาตรเนื้อเทา (GMV) ที่ลดลงความสัมพันธ์ในกลุ่มคนทั้งสองแม้จะคล้ายกันแต่ก็ต่างกันบ้างการลดปริมาตรใน middle temporal gyrus ซีกขวา, รอยนูนสมองกลีบขมับส่วนบน (STG) ซีกขวา, พาราฮิปโปแคมปัสซีกขวา, ฮิปโปแคมปัสซีกขวา, middle frontal gyrus ซีกขวา และ anterior cingulate cortex (ACC) ซีกซ้าย ล้วนพบในกลุ่มประชากรที่เสี่ยงสูงส่วนผู้มีภาวะโรคจิตเป็นครั้งแรกมีปริมาตรลดลงตั้งแต่ STG ซีกขวาไปจนถึง insular cortex ซีกขวา, ใน insular cortex ซีกซ้าย และในสมองน้อย โดยมีระดับการลดปริมาตรใน ACC ซีกขวา, STG ซีกขวา, insular cortex และสมองน้อยที่รุนแรงกว่า[115][116]งานวิเคราะห์อภิมานอีกงานรายงานการลดปริมาตรในซีกสมองทั้งสองข้างของ insular cortex, operculum, STG, medial frontal cortex และ ACC แต่ก็รายงานปริมาตรที่เพิ่มขึ้นใน lingual gyrus ซีกขวา และ precentral gyrus ซีกซ้ายด้วย[117]โรคจิตเภทต่างกับโรคอารมณ์สองขั้วเพราะปริมาตรของเนื้อเทาลดลงมากกว่า แต่เมื่อปรับตามความแตกต่างระหว่างเพศด้วย ก็จะลดความแตกต่างเหลืออยู่ที่ dorsomedial prefrontal cortex ซีกซ้าย และ dorsolateral prefrontal cortex ซีกขวาเท่านั้น[118]

เมื่อทำงานที่ต้องใส่ใจ[W]ภาวะโรคจิตครั้งแรกสัมพันธ์กับการทำงานของ middle frontal gyrus ซีกขวาที่น้อยกว่า เป็นบริเวณที่ปกติจัดว่าครอบคลุม dorsolateral prefrontal cortex (dlPFC)และการทำงานที่น้อยกว่าของ insular cortex ซีกขวาและสมองกลีบข้างด้านล่างซีกขวาก็พบด้วยสมกับงานศึกษาในเรื่อง GMV[119]

เมื่อทำงานทางประชาน[X]พบว่า insular cortex ซีกขวา, dorsal ACC (dACC), และ precuneus ซีกซ้ายทำงานลดลง พร้อมกับที่ basal ganglia ซีกขวา, ทาลามัสซีกขวา, inferior frontal gyrus ซีกขวา และ precentral gyrus ซีกซ้ายทำงานมากขึ้น (reduced activation)ผลเหล่านี้คงเส้นคงวาและทำซ้ำได้เป็นอย่างดียกเว้นความผิดปกติของ inferior frontal gyrus ซีกขวา[120]

GMV ที่ลดลงพร้อมกับการทำงานที่ลดลงของซีกสมองทั้งสองซีกได้พบใน insular cortex ด้านหน้า, dorsal medial frontal cortex และ dACCส่วน GMV ที่ลดลงพร้อมกับการทำงานเกินของซีกสมองทั้งสองซีกพบที่ posterior insular cortex, ventral medial frontal cortex และ ventral ACC[121]

ประสาทหลอน

งานศึกษาในคนไข้ที่กำลังประสบประสาทหลอนแสดงการทำงานที่เพิ่มขึ้นในคอร์เทกซ์รับความรู้สึกทั้งส่วนปฐมภูมิและทุติยภูมิเพราะหูแว่วเกิดบ่อยสุดในภาวะโรคจิต หลักฐานจึงชัดเจนที่สุดว่า middle temporal gyrus ซีกซ้าย, superior temporal gyrus ซีกซ้าย (เป็นที่อยู่ของเปลือกสมองส่วนการได้ยินปฐมภูมิและ Wernicke's area) และ inferior frontal gyrus ซีกซ้าย (คือ Broca's area) ล้วนทำงานเพิ่มขึ้นการทำงานในส่วน striatum ด้านล่าง, ฮิปโปแคมปัส และ ACC สัมพันธ์กับความเหมือนจริงของประสาทหลอน จึงแสดงว่า การทำงานหรือบทบาทของวงจรประสาทเกี่ยวกับอารมณ์เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องผลกระทบของการทำงานผิดปกติในคอร์เทกซ์รับความรู้สึกรวม ๆ กันแล้ว สิ่งที่ได้ค้นพบเหล่านี้ระบุว่า การแปลผลผิดปกติซึ่งประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่สร้างขึ้นภายใน (internally generated) เมื่อจับคู่กับการแปลผลทางอารมณ์ มีผลเป็นประสาทหลอน

แบบจำลองที่เสนอแบบหนึ่งระบุว่า ประสาทหลอนเกิดจากความล้มเหลวของเครือข่ายประสาทแบบ feedforward ที่เริ่มต้นจากคอร์เทกซ์รับความรู้สึกและส่งไปยัง inferior frontal cortex (บริเวณที่ Broca's area อยู่) ซึ่งปกติจะหักลบกระแสประสาทจากคอร์เทกซ์รับความรู้สึกเมื่อระบบประสาทกำลังสร้างคำพูดซึ่งเริ่มจากภายในความขัดข้องเกี่ยวกับคำพูดที่คาดหวังและคำพูดที่รับรู้เชื่อว่า ก่อประสาทหลอนที่เหมือนจริง[122]

อาการหลงผิด

แบบจำลองอาการหลงผิดมีสองปัจจัย (two-factor model of delusions) ระบุว่า การทำงานผิดปกติของทั้งระบบประสาทสร้างความเชื่อและระบบประสาทประเมินความเชื่อจำเป็นเพื่อให้เกิดอาการหลงผิดการทำงานผิดปกติของระบบประเมินความเชื่อซึ่งเกิดจำเพาะอยู่ที่ lateral prefrontal cortex ซีกขวา ไม่ว่าจะเป็นการหลงผิดในเรื่องใด ได้หลักฐานจากงานวิจัยที่สร้างภาพประสาทโดยเข้ากับบทบาทของมันในการตรวจตราข้อมูลขัดแย้งในบุคคลปกติการทำงานผิดปกติและปริมาตรที่ลดลงได้พบในคนไข้ที่มีอาการหลงผิด และในโรคที่สัมพันธ์กับอาการหลงผิดเช่น frontotemporal dementia, โรคจิต และ dementia with Lewy bodies[L]อนึ่ง รอยโรคในบริเวณนี้สัมพันธ์กับการด่วนตัดสินใจ (jumping to conclusion) ความเสียหายในบริเวณนี้สัมพันธ์กับอาการหลงผิดหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เมแทบอลิซึมที่ต่ำเกินในบริเวณนี้สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมองที่บริเวณ caudate nucleus ซึ่งมีอาการหลงผิด

แบบจำลองความเด่นที่ผิดปกติ (aberrant salience model) ระบุว่า ความหลงผิดเป็นผลของการให้ความสำคัญเกินจริงกับสิ่งเร้าที่ไม่สำคัญหลักฐานสนับสนุนสมมติฐานนี้ก็คือ บริเวณประสาทที่สัมพันธ์กับเครือข่ายความเด่น (salience network) ปรากฏกว่ามีเนื้อเทาที่ลดลงในคนไข้ที่มีอาการหลงผิด และสารสื่อประสาทคือ โดพามีน ซึ่งมีบทบาทในการแปลผลเรื่องความเด่นทางการรับรู้ ก็มีบทบาทในโรคต่าง ๆ ที่มีอาการโรคจิต

บริเวณประสาทโดยเฉพาะ ๆ สัมพันธ์กับความหลงผิดโดยเฉพาะ ๆ ปริมาตรในฮิปโปแคมปัสและพาราฮิปโปแคมปัสสัมพันธ์กับอาการหลงผิดแบบหวาดระแวง (paranoid delusion) ในคนไข้โรคอัลไซเมอร์ และมีรายงานว่าผิดปกติหลังตายสำหรับคนไข้คนหนึ่งที่มีอาการหลงผิดอาการหลงผิดคะกราส์สัมพันธ์กับความเสียหายที่สมองกลีบท้ายทอย-กลีบขมับ และอาจเกี่ยวกับความล้มเหลวในการเกิดอารมณ์หรือความจำเมื่อเห็นใบหน้า[123]

อาการเชิงลบ/อาการบกพร่อง (negative symptom)

อาการโรคจิตสัมพันธ์กับการทำงานน้อยกว่าปกติของสมองส่วน ventral striatum ในช่วงการหวังสิ่งที่ชอบใจ (reward anticipation) และการได้สิ่งที่ชอบใจ (reward feedback)การทำงานน้อยกว่าปกติของ ventral striatum ซีกซ้าย มีสหสัมพันธ์กับความรุนแรงของความบกพร่องทางอารมณ์หรือทางอื่น ๆ (negative symptom)[124]

แม้ภาวะสิ้นยินดีจะสามัญในอาการโรคจิต แต่คนไข้โรคจิตเภทโดยมากจริง ๆ ไม่มีปัญหากับการมีประสบการณ์ที่ให้ความสุขความบกพร่องที่ปรากฏเป็นภาวะสิ้นยินดีอาจจะเป็นเพราะความไม่สามารถกำหนดเป้าหมาย การกำหนดพฤติกรรมที่จำเป็น และการดำเนินให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ[125]

งานศึกษาได้สนับสนุนความบกพร่องทางประสาทในเรื่องเป้าหมายและพฤติกรรมเพื่อให้ถึงเป้าหมายโดยแสดงว่า[125]

  • การได้สิ่งที่น่ายินดี (receipt) ไม่ใช่การมุ่งหวัง จะสัมพันธ์กับการตอบสนองที่มีกำลังของ ventral striatum
  • การเรียนรู้แบบเสริมแรงไม่มีปัญหาเมื่อผลต่าง ๆ ที่อาจได้ (stimulus-reward contingencies) เป็นเรื่องง่าย ๆ (implicit) แต่มีปัญหาเมื่อต้องประมวลผล (explicit processing) คืออาจต้องคิด
  • การตอบสนองต่อรางวัลที่พยากรณ์คลาดเคลื่อน (reward prediction errors) โดยเฉพาะในเชิงบวก (positive PE) จะผิดปกติ[Y]
  • การตอบสนองของ ACC เมื่อใช้เป็นตัวระบุความพยายามที่คนไข้ให้ ไม่เพิ่มขึ้นแม้รางวัลจะเพิ่มขึ้นหรือโอกาสได้รางวัลจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับอาการบกพร่อง (negative symptom)
  • การทำงานที่น้อยเกินของ dlPFC และการทำงานทางประชานที่ไม่ดีขึ้น เมื่อให้รางวัลเป็นเงินทอง
  • หน้าที่ที่อำนวยโดยระบบประสาทโดพามีนผิดปกติ

ประสาทชีววิทยา

อาการโรคจิตเดิมได้สัมพันธ์กับสารสื่อประสาทคือโดพามีนสมมติฐาน "dopamine hypothesis of psychosis" ที่มีอิทธิพลสูงได้ระบุว่า อาการโรคจิตเกิดจากการทำหน้าที่เกินของระบบประสาทโดพามีนในสมอง โดยเฉพาะที่วิถีประสาท mesolimbic pathway[Z]หลักฐานสำคัญสองอย่างที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ก็คือ ยาที่ระงับการทำงานของหน่วยรับโดพามีนแบบ dopamine receptor D2 (เป็นยารักษาโรคจิตหรือ antipsychotic) มักจะลดความรุนแรงของอาการโรคจิต และยาที่เพิ่มการหลั่งโดพามีน หรือยับยั้งการดูดซึมโดพามีนเข้าไปใช้ใหม่ (เช่น แอมเฟตามีนหรือโคเคน) อาจจุดชนวนโรคจิตในบุคคลบางพวก[134]

การทำงานผิดปกติของหน่วยรับ NMDA receptor (N-methyl D-aspartate receptor) เสนอว่าเป็นกลไกของอาการโรคจิต[135]ทฤษฎีนี้มีหลักฐานว่า ยากลุ่มดิสโซสิเอทีฟ[AA]ยากลุ่ม NMDA receptor antagonists (สารต้านหน่วยรับ NMDA แบบดิสโซสิเอทีฟ) เช่น ketamine, phencyclidine และ dextromethorphan เมื่อกินเกินไปอย่างมาก จะก่อภาวะโรคจิตอนึ่ง อาการเนื่องจากความเป็นพิษจากยาดิสโซสิเอทีฟก็จัดว่า เลียนอาการของโรคจิตเภทรวมทั้งอาการบกพร่อง (negative symptom)[140]ฤทธิ์ต้านหน่วยรับ NMDA นอกจากจะก่ออาการคล้ายกับโรคจิตแล้ว ยังเลียนผลทางประสาทสรีรวิทยา เช่น ลดแอมพลิจูดขององค์ evoked potential ต่าง ๆ รวมทั้ง P50, P300 และ mismatch negativity (MMN)[141]

แบบจำลองการป้อนกลับของประสาทสัมผัสแบบ hierarchical Bayesian neurocomputational model เข้ากับงานที่สร้างภาพประสาท คือเชื่อมการทำงานน้อยเกินของหน่วยรับ NMDA กับอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน โดยเสนอว่ากระบวนการพยากรณ์สิ่งที่จะรับรู้ทางประสาทสัมผัสของประสาทระดับสูงที่อำนวยด้วยหน่วยรับ NMDA (NMDA mediated top down prediction) ไม่สามารถลบล้างความผิดพลาดเกินของการพยากรณ์ที่มาจากประสาทสัมผัสและอำนวยด้วยหน่วยรับ AMPA (bottom up AMPA mediated predictions errors)[142]ความผิดพลาดเกินของการพยากรณ์อันเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่ปกติจะไม่ก่อปฏิกิริยาเช่นนั้น เชื่อว่า เป็นการให้ความเด่นเกิน (excessive salience) ต่อเหตุการณ์ธรรมดา ๆ[143]การทำงานผิดปกติของประสาทระดับสูง ที่แปลข้อมูลประสาทสัมผัสอย่างเป็นนามธรรมมากกว่า อาจก่ออาการหลงผิด[144]การลดการแสดงออกของยีน GAD67 อย่างสามัญในคนไข้ที่มีอาการโรคจิตอาจอธิบายการเพิ่มส่งกระแสปประสาทที่อำนวยโดยหน่วยรับ AMPA ซึ่งมีเหตุจากการยับยั้งโดยระบบประสาทแบบกาบาที่ลดลง[145][146]

ความสัมพันธ์ระหว่างโดพามีนกับอาการโรคจิตโดยทั่วไปเชื่อว่าเป็นเรื่องซับซ้อนคือหน่วยรับ dopamine receptor D2 ระงับการทำงานของเอนไซม์ adenylate cyclase[AB]ในขณะที่หน่วยรับ dopamine receptor D1 เพิ่มการทำงานของเอนไซม์เมื่อใช้ยาที่ระงับการทำงานของหน่วยรับ D2 โดพามีนที่ไม่จับกับ D2 ก็จะล้นไปหาหน่วยรับ D1การทำงานที่เพิ่มขึ้นของเอนไซม์มีผลต่อการแสดงออกของยีนในเซลล์ประสาทแม้จะใช้เวลาดังนั้น ยารักษาโรคจิต (antipsychotic) จึงใช้เวลา 1-2 สัปดาห์เพื่อลดอาการโรคจิตอนึ่ง ยารักษาโรคจิตที่ใหม่กว่าแต่มีผลเท่า ๆ กันจริง ๆ ระงับฤทธิ์ของโดพามีนน้อยกว่าเล็กน้อยแต่ก็ระงับหน่วยรับ 5-HT2A receptor ด้วยซึ่งแสดงว่า สมมติฐานโดพามีนนี้อาจจะง่าย ๆ เกินไป[147]งานปี 2000 ไม่พบหลักฐานว่าระบบประสาทโดพามีนทำงานผิดปกติในคนไข้อาการโรคจิตเนื่องกับแอลกอฮอล์[148]และงานปี 1995 รายงานการใช้ยา ondansetron ซึ่งเป็นยากลุ่ม 5-HT3 receptor antagonist เพื่อรักษาอาการโรคจิตเนื่องกับยา levodopa ในคนไข้โรคพาร์คินสันโดยสำเร็จผลในระดับกลาง ๆ (moderate)[149]

งานทบทวนวรรณกรรมงานหนึ่งพบความสัมพันธ์ระหว่างอาการโรคจิตคราวแรกกับบุคคลก่อนจะเป็นโรคเบาหวาน[150]

การใช้ยากระตุ้นจิตประสาท (psychostimulant) เป็นระยะยาวหรือขนาดมาก ๆ อาจเปลี่ยนการทำงานของร่างกาย ก่ออาการคล้ายคราวฟุ้งพล่าน (mania) ของโรคอารมณ์สองขั้ว[151]ยากลุ่ม NMDA antagonist ก่ออาการบกพร่อง (negative symptom) ต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติทางความคิด (thought disorder)[A]เมื่อกินในขนาดที่ยังไม่พอให้เกิดอาการชา และก่ออาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonia) เมื่อกินในขนาดสูงยากระตุ้นจิตประสาทโดยเฉพาะเมื่อคนไข้มักมีความคิดแบบโรคจิตอยู่แล้ว อาจก่ออาการเชิงบวก (positive symptoms) เช่น ความหลงผิด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องมีคนรังควาน

วินิจฉัย

เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness) ในบุคคลที่มีอาการโรคจิต เหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ต้องกันออกเสียก่อน[153]การตรวจในเบื้องต้นรวมประวัติคนไข้และการตรวจร่างกายโดยแพทย์พยาบาลอาจตรวจเพื่อกันการใช้สาร กายใช้ยารักษา พิษ ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด และความเจ็บป่วยอื่น ๆ คนที่มีอาการโรคจิตเรียกในภาษาอังกฤษว่า psychotic

อาการเพ้อควรจะกันออก ซึ่งอาจแยกได้เพราะมีประสาทหลอนทางตา เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และมีระดับความรู้สึกต้วที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งแสดงปัจจัยที่เป็นมูลอื่น ๆ รวมทั้งโรคหรืออาการทางแพทย์[154] การกันโรคอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับอาการโรคจิตออกอาจต้องตรวจเลือดตามเหตุผลดังต่อไปนี้

การตรวจอื่น ๆ รวมทั้ง

เพราะอาการโรคจิตอาจจุดชนวนหรือทำให้แย่ลงด้วยยาสามัญต่าง ๆ อาการที่เกิดจากยาควรกันออก โดยเฉพาะอาการที่เป็นคราวแรกอาการโรคจิตที่เกิดจากสารหรือยาอาจกันออกได้อย่างชัดเจนทางพิษวิทยา

เพราะอาหารเสริมบางอย่างอาจก่ออาการโรคจิตหรือภาวะฟุ้งพล่าน (mania) แต่ไม่สามารถตรวจได้ทางแล็บ จึงควรถามครอบครัว คู่ชีวิต หรือเพื่อนของคนไข้ว่ากำลังกินอาหารเสริมอยู่หรือไม่[155]

ข้อผิดพลาดที่สามัญเมื่อวินิจฉัยคนไข้อาการโรคจิตรวมทั้ง[153]

  • ไม่กันอาการเพ้อออกอย่างถูกต้อง
  • ไม่สำนึกเข้าใจอาการทางแพทย์ที่ผิดปกติ (เช่น สัญญาณชีพ)
  • ไม่ตรวจประวัติคนไข้หรือประวัติครอบครัว
  • ตรวจคัดโรคอย่างไม่เลือกโดยไม่มีหลักการ
  • ตรวจไม่พบอาการโรคจิตเหตุสารเป็นพิษเพราะไม่ได้ตรวจสารและยา
  • ไม่ได้ถามญาติหรือบุคคลอื่น ๆ เกี่ยวกับอาหารเสริม
  • การด่วนวินิจฉัยเร็วเกินไป
  • ไม่กลับตรวจดูหรือตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าเป็นโรคทางจิตเวชแบบปฐมภูมิ

หลังจากได้กันเหตุอื่น ๆ ของอาการโรคจิตที่สมควรออกแล้ว แพทย์จึงอาจจะวินิจฉัยแยกโรคทางจิตเวชโดยอาศัยประวัติครอบครัว ประวัติบุคคล ข้อมูลจากเพื่อนและคู่ชีวิต

ประเภทของอาการโรคจิตที่มีในบรรดาโรคจิตเวชต่าง ๆ อาจตรวจดูได้โดยใช้แบบประเมินที่ทำเป็นรูปนัยเช่น Brief Psychiatric Rating Scale (BPRS)[156]ซึ่งประเมินโรคจิตตามอาการที่ตั้งไว้ 18 อย่าง เช่น ความไม่เป็นมิตร (hostility) ความระแวงสงสัย (suspicion) ประสาทหลอน (hallucination) และความรู้สึกว่าตนเขื่อง (grandiosity)เป็นอาการที่แพทย์สามารถสังเกตเห็นเมื่อสัมภาษณ์คนไข้และเฝ้าดูพฤติกรรมของคนไข้เป็นเวลา 2-3 วันครอบครัวของคนไข้ก็สามารถให้คำตอบสำหรับคำถามในแบบวัดได้ด้วยในช่วงการประเมินเบื้องต้นและช่วงติดตาม สามารถประเมินอาการเชิงบวก (positive symtom) และอาการบกพร่อง (negative symtom) ของโรคจิตด้วยแบบคำถาม Positive and Negative Symptom Scale (PANSS) ซึ่งมี 30 รายการ[157]

DSM-5 จัดโรคว่าเป็นโรคจิต (psychotic) หรืออยู่ในสเปกตรัมของโรคจิตเภทถ้ามีประสาทหลอน ความหลงผิด ความคิดสับสน[A] การเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดหมาย หรือมีอาการบกพร่อง (negative symptom)[17]แต่ก็ไม่นิยามอาการโรคจิต (psychosis) ในส่วนอภิธานแม้จะนิยามคำว่า "psychotic features" และ "psychoticism" ในเรื่องความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (PD)ส่วน ICD-10 ไม่มีนิยามโดยเฉพาะสำหรับคำว่า psychosis[158]

การวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) ของอาการต่าง ๆ ที่ทั่วไปจัดเป็นของโรคจิตบ่อยครั้งจะได้ผลเฉลยเป็นปัจจัย 5 อย่าง แม้จะต่างกับโดเมน 5 อย่างตามที่ DSM-5 นิยามว่าเป็นอาการของกลุ่มอาการ schizophrenia spectrum disordersปัจจัย 5 อย่างบ่อยครั้งขึ้นป้ายเป็นประสาทหลอน (hallucination) อาการหลงผิด (delusion) ความสับสน (disorganization) ความตื่นเต้น (excitement) และความเป็นทุกข์ (emotional distress)[158]DSM-5 เน้นว่าอาการโรคจิตมีสเปกตรัม คือเริ่มจากน้อยสุดเป็น schizoid personality disorder[H] และที่มากสุดเป็นโรคจิตเภท[65]

การป้องกัน

หลักฐานไม่ชัดเจนว่าการรักษาเพื่อป้องกันอาการโรคจิตตั้งแต่ต้น ๆ มีประสิทธิภาพ[159]แต่อาการโรคจิตเนื่องกับสาร/ยาสามารถป้องกันได้[160]แม้การรักษาตั้งแต่ต้น ๆ สำหรับคนที่เกิดอาการโรคจิตอาจทำให้ผลระยะสั้นดีขึ้น แต่ก็มีประโยชน์น้อยหลังจาก 5 ปี[161]มีหลักฐานบ้างว่าการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) อาจลดความเสี่ยงอาการโรคจิตสำหรับคนเสี่ยงสูง[162]ในปี 2014 สำนักงาน NICE แห่งกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษได้แนะนำให้ใช้ CBT เพื่อป้องกันสำหรับผู้ที่เสี่ยงเกิดอาการโรคจิต[163][164]

การรักษา

การรักษาอาการโรคจิตจะขึ้นอยู่กับโรคที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น (เช่น โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว หรือสารเป็นพิษ)การรักษาอันดับแรกสำหรับโรคที่มีอาการโรคจิตก็คือ ยารักษาโรคจิต (antipsychotic)[165]ซึ่งสามารถลดอาการเชิงบวกได้ภายในเวลาประมาณ 7-14 วัน

ยา

ยารักษาโรคจิตที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับประโยชน์ ความเสี่ยง และค่าใช้จ่าย[161]ยังไม่ชัดเจนว่า ถ้ารวมเป็นหมู่ ๆ ยาตามแบบ (typical) หรือยานอกแบบ (atypical) ดีกว่ากัน[166][167]หลักฐานเบื้องต้นสนับสนุนว่า ยา amisulpride, olanzapine, ริสเพอริโดน และ clozapine อาจมีประสิทธิผลที่ดีกว่าสำหรับอาการเชิงบวกแต่มีผลข้างเคียงมากกว่า[168]ยารักษาโรคจิตตามแบบมีอัตราคนไข้เลิกกินยาและกลับเกิดอาการอีกเท่ากับยานอกแบบเมื่อใช้ในขนาดต่ำจนถึงปานกลาง[169]คนไข้ 40-50% ตอบสนองได้ดี, 30-40% ตอบสนองเป็นบางส่วน และ 20% ไม่ตอบสนองคืออาการไม่ดีขึ้นพอหลังจาก 6 สัปดาห์ที่ใช้ยารักษาโรคจิต 2-3 อย่าง[170]clozapine เป็นยารักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับคนไข้ที่ตอบสนองต่อยาอื่น ๆ ได้ไม่ดี (ที่เรียกว่า treatment-resistant schizophrenia หรือ refractory schizophrenia)[171]แต่มีโอกาสให้ผลข้างเคียงที่รุนแรงคือ ภาวะแกรนูโลไซต์น้อย (agranulocytosis) คือจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลงโดยเกิดในอัตรา 4%[161][172][173]

คนไข้ที่กินยารักษาโรคจิตโดยมากมีผลข้างเคียงที่กินยาตามแบบ (typical antipsychotics) มักจะมีอาการ extrapyramidal[AC]ในอัตราที่สูงกว่า เทียบกับคนที่กินยานอกแบบ (atypical) ซึ่งสัมพันธ์กับน้ำหนักขึ้น โรคเบาหวาน และความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการแมแทบอลิซึม (metabolic syndrome)[AD]ซึ่งเด่นที่สุดเมื่อกินยา olanzapine ในขณะที่ริสเพอริโดนและ quetiapine ก็สัมพันธ์กับน้ำหนักขึ้นด้วย[168]ริสเพอริโดนมีอัตราการเกิดอาการ extrapyramidal คล้ายกับยาตามแบบคือ haloperidol[168]

การให้คำปรึกษา

จิตบำบัดเช่น การรักษาด้วยการยอมรับและการให้สัญญา (ACT) อาจมีประโยชน์เพื่อรักษาอาการโรคจิต เพราะช่วยให้คนไข้มีกำลังใจเพื่อจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่มีความหมายแม้จะมีโรค[175]

การรักษาตั้งแต่ต้น ๆ

การรักษาอาการโรคจิตตั้งแต่ต้น ๆ (early intervention in psychosis) เริ่มมาจากสังเกตการณ์ว่า การะระบุและรักษาคนไข้ในระยะต้น ๆ ที่มีอาการโรคจิตอาจทำให้ผลระยะยาวดีขึ้น[176]คือสนับสนุนให้ใช้วิธีการรักษาตามหลักวิชาการหลายสาขาในระยะวิกฤติ (critical period) ที่การรักษาจะได้ผลดีที่สุด และป้องกันพยาธิสภาพ (morbidity) ระยะยาวที่สัมพันธ์กับโรคเรื้อรังที่มีอาการโรคจิต

ประวัติ

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า psychosis เริ่มใช้ในวรรณกรรมทางจิตเวชในปี 1841 โดยแพทย์ชาวเยอรมัน (Karl Friedrich Canstatt ในผลงาน Handbuch der Medizinischen Klinik)โดยใช้เป็นคำชวเลขสำหรับคำว่า psychic neurosisในช่วงนั้น คำว่า neurosis หมายถึงโรคของระบบประสาทอะไร ๆ ก็ได้ ดังนั้น หมอจึงหมายถึงอาการทางจิตใจที่ปรากฏเนื่องกับโรคสมอง[177]แพทย์ชาวออสเตรีย (Ernst von Feuchtersleben) ก็ได้รับเครดิตว่าบัญญัติคำนี้เช่นกันในปี 1845[178]โดยหมายถึงโรคอย่างอื่นที่ไม่ใช่ insanity หรือ mania

คำนี้มีรากศัพท์จากคำละตินว่า psychosis ซึ่งแปลว่า "ให้วิญญาณหรือชีวิตกับ, ทำให้มีชีวิต, คืนชีวิตให้" และจากคำกรีกโบราณว่า ψυχή (psyche) ซึ่งแปลว่าวิญญาณ และปัจจัย -ωσις (-osis) ซึ่งในกรณีนี้หมายถึง "ภาวะผิดปกติ"[179][180]

คุณศัพท์ภาษาอังกฤษว่า psychotic ใช้กล่าวถึงอาการนี้ซึ่งพบได้ทั้งในวรรณกรรมทางการแพทย์และวรรณกรรมทั่วไป

การจำแนก

คำยังได้ใช้แยกภาวะที่จัดว่า เป็นความผิดปกติของจิตใจ เทียบกับ neurosis (โรคประสาท) ซึ่งจัดว่าเป็นความผิดปกติของระบบประสาท[181]คำนี้จึงได้กลายเป็นเทียบเท่ากับคำว่าบ้า ดังนั้น จึงเกิดข้อถกเถียงว่า นี่เป็นโรคเดียวหรือมีรูปแบบต่าง ๆ[182]ในปี 1891 เกิดคำที่ใช้แคบลง(โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมัน Julius Ludwig August Koch) คือ psychopathic inferiorities ซึ่งต่อมาจัดเป็นกลุ่มบุคลิกภาพที่ผิดปกติ (abnormal personalities) โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันอีกท่านหนึ่ง (Kurt Schneider)[177]

จิตแพทย์ชาวเยอรมันเอมีล เครพอลีน (Emil Kraepelin) ได้แบ่งโรคจิตออกเป็น manic depressive illness (ปัจจุบันเรียกว่า โรคอารมณ์สองขั้ว) และ dementia praecox (ปัจจุบันเรียกว่า โรคจิตเภท) คือหมอได้พยายามสังเคราะห์ความผิดปกติต่าง ๆ ที่ได้ระบุจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยรวมกลุ่มโรคเข้าด้วยกันตามอาการที่มีร่วมกันโดยใช้คำว่า manic depressive insanity หมายถึงสเปกตรัมความผิดปกติทางอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมกว่าที่ใช้ทุกวันนี้และรวมโรคซึมเศร้าธรรมดา โรคอารมณ์สองขั้ว และความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ เช่น โรคไซโคลไทเมียในโรคเหล่านี้ คนไข้มีอารมณ์แปรปรวนโดยอาการโรคจิตจะเกิดสัมพันธ์กับความผิดปกติทางอารมณ์ คนไข้บ่อยครั้งทำกิจได้เป็นปกติในระหว่างคราวที่เกิดโรคจิตแม้จะไม่ได้กินยาส่วนโรคจิตเภทมีคราวอาการโรคจิตที่ดูไม่สัมพันธ์กับความผิดปกติทางอารมณ์ และคนไข้ที่ไม่ได้กินยาก็ผิดปกติแม้ในระหว่างคราวที่เกิดอาการโรคจิต

คำว่า psychosis ในอดีตยังเคยใช้ในความหมายว่า เป็นความผิดปกติทางจิตใจ (mental disorder) ที่รุนแรงจนรบกวนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน[7]

การรักษา

อารยธรรมยุคต้น ๆ จัดความบ้าว่าเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาตินักโบราณคดีได้ขุดค้นพบกะโหลกศีรษะที่มีรูเจาะอย่างชัดเจน บางส่วนมีอายุถึง 5,000 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งแสดงนัยว่า การเจาะกะโหลกเพื่อรักษา (trepanning) อาการโรคจิตเป็นวิธีสามัญในสมัยโบราณ[183]การบันทึกถึงเหตุเหนือธรรมชาติและถึงวิธีการรักษามีตัวอย่างในพันธสัญญาใหม่บทหนึ่ง (Mark 5:8-13) กล่าวถึงชายที่ปรากฏว่ามีอาการโรคจิตตามที่ระบุในปัจจุบันผู้พระคริสต์ได้รักษา "ความบ้าจากปีศาจ" โดยขับเหวี่ยงปีศาจออกไปที่ฝูงสุกรวิธีการขับไล่ปีศาจเช่นนี้ก็ยังใช้อยู่ในกลุ่มศาสนาบางกลุ่มเป็นการรักษาอาการโรคจิตซึ่งเชื่อว่า เป็นปีศาจเข้าสิง[184]

งานศึกษากับผู้ป่วยนอกของคลินิกจิตเวชพบว่า คนไข้ผู้นับถือศาศนา 30% โทษอาการโรคจิตของตนต่อวิญญาณร้ายคนไข้หลายคนได้ผ่านพิธีกรรมไล่ปีศาจ ที่แม้คนไข้จะรู้สึกว่าดีแต่ก็ไม่มีผลต่ออาการผลงานศึกษายังได้แสดงว่า อาการจะแย่ลงอย่างสำคัญสำหรับการบังคับให้ผ่านพิธีกรรมไล่ผีโดยไม่รักษาด้วยวิธีการทางแพทย์[185]

การแพทย์พบว่าคนเป็นโรคจิต สมองมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ การรักษาจึงเป็นการใช้ยาปรับสมดุลในสมอง ซึ่งถ้าไม่รักษา ปล่อยให้ผิดปกติไปเป็นเวลานาน ๆ สิ่งที่ตามมาคือการทำลายเนื้อสมองอย่างถาวร และผู้ป่วยจะไม่กลับคืนปกติ ดังเช่นที่เห็นในผู้ป่วยบางรายที่ญาติคิดว่าผีเข้า ไม่พามารักษา ไปรักษาหมอผี หมดเงินเป็นแสน กว่าจะมาพบแพทย์ก็สายเกิน ไม่สามารถรักษาให้เหมือนเดิมได้ หรือคนที่ใช้สารเสพติดนาน ๆ สมองจะถูกทำลายไปมาก จนไม่สามารถกลับปกติได้ ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่หักล้างความเชื่อ ถ้าญาติอยากรักษาทางไสยศาสตร์ แพทย์ก็มักจะแนะนำให้รักษาด้วยยาด้วย[ต้องการอ้างอิง]

แพทย์และนักปรัชญาคริสต์ศตวรรษที่ 4 คือฮิปพอคราทีส ได้เสนอเหตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่เหนือธรรมชาติ ที่ทำให้ป่วยในงานของเขาคือ Hippocratic corpus แนวอธิบายแบบเน้นภาพรวมเกี่ยวกับสุขภาพและโรคได้รวมความบ้าและโรคทางจิตอื่น ๆหมอได้เขียนไว้ว่า

มนุษย์ควรจะรู้ว่า ความสุข ปิติ การหัวเราะ การล้อเล่น ตลอดจนความเศร้า ความเจ็บปวด ความโศก และน้ำตา เกิดมาจากสมองและจากสมองเท่านั้น

อาศัยสมองโดยเฉพาะ เราคิด เราเห็น ได้ยิน และแยกแยะความน่าเกลียดกับความสวยงาม ความไม่ดีกับความดี ความน่ายินดีกับความไม่น่ายินดี...

เป็นสิ่งเดียวกันที่ทำให้เราบ้าหรือเพ้อ ทำให้เราหวั่นเกรงและกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลางคืนกลางวัน ทำให้นอนไม่หลับ ทำการผิดพลาด วิตกกังวลอย่างไร้จุดหมาย ใจลอย และมีพฤติกรรมนอกนิสัย[186]

หมอสนับสนุนทฤษฎี humoralism ที่โรคเป็นผลจากความไม่สมดุลของน้ำในร่างกายรวมทั้งเลือด, เสลด/เสมหะ, ดีดำ (black bile)[AE]และดีเหลือง (yellow bile)[AF][189]ตามทฤษฎีนี้ น้ำแต่ละอย่างจะสัมพันธ์กับอารมณ์หรือพฤติกรรมในกรณีโรคจิต อาการเชื่อว่ามีเหตุจากการมีเลือดและดีเหลืองเกินดังนั้นวิธีการรักษาอาการโรคจิตและอาการฟุ้งพล่าน (mania) ก็คือการผ่าเอาเลือดออก[190]

แพทย์ชาวอเมริกันช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ได้เครดิตว่า "เป็นบิดาของจิตเวชอเมริกัน" (Benjamin Rush) ก็จัดการเอาเลือดออกเป็นวิธีการรักษาอันดับแรกของอาการโรคจิตแม้จะไม่ได้สนับสนุนทฤษฎี humoralism แต่หมอก็เชื่อว่า การถ่ายเลือดออกเป็นวิธีการรักษาที่มีผลต่อความขัดข้องในระบบไหลเวียน ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเหตุปฐมภูมิของความบ้า[191]แม้วิธีการรักษาของหมอปัจจุบันจะจัดว่าโบราณและไม่สมเหตุผล แต่ผลงานของหมอต่อจิตเวชศาสตร์ ซึ่งยกกระบวนการทางชีวภาพว่าเป็นเหตุของปรากฏการณ์ทางจิตเวชรวมทั้งอาการโรคจิต เป็นเรื่องหาค่าประมาณมิได้ในสาขานี้เพื่อให้เกียรติสำหรับประโยชน์ที่ทำเยี่ยงนี้ ภาพของหมอจึงเป็นตราทางการของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (APA)

การรักษาต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สำหรับอาการโรคจิตที่รุนแรงและคงยืนเน้นการช็อกระบบประสาทรวมทั้ง insulin shock therapy (การบำบัดด้วยการช็อกด้วยอินซูลินให้เกิดโคม่า), cardiazol shock therapy (การบำบัดด้วยการช็อกด้วยยาให้ชัก) และ electroconvulsive therapy (การบำบัดด้วยการช็อกด้วยไฟฟ้าให้ชัก)[192]แม้จะค่อนข้างเสี่ยง แต่การบำบัดด้วยการช็อกเคยจัดว่ามีผลดีในการรักษาอาการโรคจิตรวมทั้งในโรคจิตเภทเพราะยอมรับการรักษาที่เสี่ยงสูงเช่นนี้ ก็เลยเกิดวิธีการรักษาที่เบียดเบียนคนไข้ยิ่งกว่านั้นรวมทั้ง psychosurgery (เช่น lobotomy ที่แพทย์ตัดหรือขูดเส้นประสาทที่เชื่อมกับสมองส่วน prefrontal cortex ออก)[193]

ในปี 1888 จิตแพทย์ชาวสวิส (Gottlieb Burckhardt) ได้ทำ psychosurgery ที่ได้การอนุมัติเป็นรายแรกโดยตัดเปลือกสมองออกแม้คนไข้บางส่วนจะมีอาการดีขึ้นและสงบลง แต่คนไข้คนหนึ่งก็ได้เสียชีวิต และอีกหลายคนเกิดภาวะเสียการสื่อความ (aphasia) และเกิดโรคชัก (seizure disorders)แม้หมอจะได้ตีพิมพ์ผลงานทางคลินิกในวารสารการแพทย์แต่วงการแพทย์ก็ไม่ได้ยอมรับวิธีการนี้[194]

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 ประสาทแพทย์ชาวโปรตุเกส (Egas Moniz) ประดิษฐ์การผ่าตัดสมอง คือ leucotomy (หรือ prefrontal lobotomy) ที่ตัดหรือขูดใยประสาทที่เชื่อมสมองกลีบหน้ากับสมองที่เหลือออกซึ่งได้แรงดลใจจากงานศึกษาของนักประสาทวิทยาศาสตร์ในปี 1935 ที่ทำการเยี่ยงนี้กับลิงชิมแปนซี 2 ตัวแล้วเปรียบเทียบพฤติกรรมก่อนและหลังการผ่าตัดคือก่อนผ่าตัด ลิงมีพฤติกรรมปกติรวมทั้งขว้างอุจจาระและสู้กันหลังจากผ่าตัด ลิงสงบลงและรุนแรงน้อยลงในช่วงการถามและตอบคำถาม หมอได้ถามนักวิจัยว่าสามารถขยายทำกับมนุษย์ได้หรือไม่ ซึ่งนักวิจัยทั้งสองยอมรับว่าเป็นคำถามที่ทำให้สะดุ้งใจ[195]หมอต่อมาจึงได้ขยายวิธีการปฏิบัติที่ก่อความโต้แย้งเช่นนี้กับคนไข้ผู้มีอาการโรคจิต เป็นความอุตสาหะที่เขาต่อมาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1949[196]ระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 และต้น 1970 leucotomy เป็นวิธีการที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และบ่อยครั้งทำในสถานที่ที่ไม่ปลอดเชื้อ เช่น คลินิกคนไข้นอกและในบ้านของคนไข้[195]psychosurgery เป็นวิธีการมาตรฐานจนกระทั่งค้นพบยารักษาโรคจิตในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950[197]

การทดลองทางคลินิกของยารักษาโรคจิตแรก (เรียกทั้งด้วยคำว่า antipsychotic และ neuroleptics) เพื่อรักษาอาการโรคจิตเกิดขึ้นในปี 1952chlorpromazine (ชื่อการค้า thorazine) ผ่านการทดลองทางคลินิกแล้วกลายเป็นยารักษาโรคจิตแรกที่อนุมัติให้ใช้รักษาทั้งอาการโรคจิตฉับพลันและเรื้อรังแม้กลไกการออกฤทธิ์จะไม่รู้จนกระทั่งปี 1963 แต่ chlorpromazine ก็เป็นจุดเริ่มของการใช้ยากลุ่ม dopamine antagonist (สารต้านหน่วยรับโดพามีน) เป็นยารักษาโรคจิตรุ่นแรกสุด[198]แม้การทดลองทางคลินิกจะแสดงการตอบสนองในอัตราสูงทั้งในอาการโรคจิตฉับพลันและโรคที่มีอาการโรคจิต ผลข้างเคียงก็ค่อนข้างหนัก รวมทั้งการเกิดอาการโรคพาร์คินสันที่บ่อยครั้งแก้คืนไม่ได้เช่น tardive dyskinesia (อาการยึกยือเหตุยาที่เกิดทีหลัง)

ยารักษาโรคจิตนอกแบบ (atypical antipsychotic) คือยารักษาโรคจิตรุ่นสอง เป็นยาต้านหน่วยรับโดพามีนที่มีอัตราการตอบสนองคล้ายกัน และมีผลข้างเคียงที่ต่างกันมาก แต่ก็จัดว่ายังมีมาก รวมทั้งอัตราการเกิดอาการโรคพาร์คินสันที่น้อยกว่าแต่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า[199]ยารักษาโรคจิตนอกแบบยังคงเป็นการรักษาอันดับแรกสำหรับอาการโรคจิตที่สัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิตเวชและทางประสาทรวมทั้งโรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะสมองเสื่อม และโรคออทิซึมสเปกตรัม[200]

ปัจจุบันรู้แล้วว่า โดพามีนเป็นสารสื่อประสาทหลักอย่างหนึ่งที่มีบทบาทในอาการโรคจิตดังนั้น การระงับหน่วยรับโดพามีน (คือ หน่วยรับโดพามีนแบบ D2 หรือ dopamine D2 receptors) และลดการทำงานของระบบประสาทโดพามีนจึงเป็นเป้าหมายทางเภสัชวิทยาที่มีประสิทธิผลแต่หยาบ (คือไม่เฉพาะเจาะจง) ของยารักษาโรคจิตงานศึกษาทางเภสัชวิทยาปี 2005 แสดงว่า การลดการทำงานของระบบประสาทโดพามีนไม่ได้กำจัดอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน แต่ลดการทำงานของระบบรางวัลที่มีบทบาทให้เกิดความคิดแบบหลงผิดซึ่งเป็นการหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าหรือแนวความคิดต่าง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่สัมพันธ์กัน[134]นักวิจัยงานนี้ยอมรับความสำคัญของการตรวจสอบที่ควรจะทำในอนาคตว่า

แบบจำลองที่แสดงในที่นี้อาศัยความรู้ที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับโดพามีน โรคจิตเภท และยารักษาโรคจิต และดังนั้น จึงต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเมื่อได้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

— From dopamine to salience to psychosis—linking biology, pharmacology and phenomenology of psychosis[134]

อดีตนักศึกษาของซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (Wilhelm Reich) ได้ตรวจสอบผลทางกายภาพของการเจริญเติบโตในวัยเด็กที่มากไปด้วยความวิตกกังวลและความบอบช้ำทางกายใจ แล้วได้ตีพิมพ์การรักษาด้วยการวิเคราะห์จิตใจแบบเน้นภาพรวมกับคนไข้โรคจิตเภทผู้หนึ่งเมื่อรวมหลักวิธีการหายใจและการพิจารณา คนไข้ซึ่งเป็นหญิงอายุน้อยก็ได้ทักษะบริหารตนเพียงพอเพื่อยุติการบำบัด[201]

สังคม

จิตแพทย์ชาวอังกฤษผู้หนึ่ง (David Healy) ได้วิจารณ์บริษัทผลิตยาว่า โปรโหมตทฤษฎีชีววิทยาเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตใจที่ง่าย ๆ โดยแสดงว่าการักษาด้วยยาสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และละเลยปัจจัยทางสังคมและพัฒนาการที่รู้ว่า มีอิทธิพลสำคัญต่อการเกิดอาการโรคจิต[202]

เชิงอรรถ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ประสบการณ์ส่วนตัว

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย