แพทริก แมนสัน

เซอร์ แพทริก แมนสัน (อังกฤษ: Sir Patrick Manson; 3 ตุลาคม ค.ศ. 1844 – 9 เมษายน ค.ศ. 1922) เป็นแพทย์ชาวสกอต เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาเวชศาสตร์เขตร้อน[1] เขาค้นพบว่ายุงเป็นพาหะของโรคเท้าช้าง ผลงานดังกล่าวก่อให้เกิดทฤษฎียุง-มาลาเรีย ซึ่งนำไปสู่การค้นพบว่ายุงเป็นพาหะของโรคมาลาเรีย[2]

เซอร์ แพทริก แมนสัน
เกิด3 ตุลาคม ค.ศ. 1844(1844-10-03)
โอลด์เมลดรัม, แอเบอร์ดีนเชียร์, สกอตแลนด์
เสียชีวิต9 เมษายน ค.ศ. 1922(1922-04-09) (77 ปี)
ลอนดอน, อังกฤษ
สัญชาติสกอต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน
มีชื่อเสียงจากริเริ่มวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาแพทยศาสตร์, ปรสิตวิทยา
สถาบันที่ทำงาน
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง
  • โรงพยาบาลซีเมนส์อัลเบิร์ตด็อก
  • วิทยาลัยสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอน

ประวัติ

แพทริก แมนสันเกิดในปี ค.ศ. 1844 ที่เมืองโอลด์เมลดรัมในแอเบอร์ดีนเชียร์ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของจอห์น แมนสันกับเอลิซาเบธ ลิฟวิงสโตน เบลคกี ในปี ค.ศ. 1857 ครอบครัวของแมนสันย้ายไปอยู่ที่แอเบอร์ดีน เขาจึงเรียนที่โรงเรียนในเมืองแอเบอร์ดีนก่อนจะเรียนต่อด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน หลังเรียนจบ แมนสันทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองเดอรัมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

แมนสันผู้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ชาย เดวิด แมนสัน ซึ่งทำงานอยู่หน่วยแพทย์ในเซี่ยงไฮ้ ตัดสินใจเดินทางไปฟอร์โมซา (ไต้หวันในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1866 เพื่อทำงานเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์ของกรมศุลกากรจีนและเริ่มต้นงานด้านเวชศาสตร์เขตร้อน หลังความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเหนือเกาะไต้หวัน เขาถูกย้ายไปอยู่ที่อามอย (เซี่ยเหมิน) ผลงานแรก ๆ ของแมนสันคือการค้นพบว่าหนอนฟิลาเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเท้าช้างจะเจริญเติบโตในยุงที่ดูดเลือดมนุษย์ ทำให้ได้สมมติฐานว่ายุงเป็นพาหะของโรค เขาตีพิมพ์การค้นพบในปี ค.ศ. 1878 ในรายงานการแพทย์ของกรมศุลกากรจีน[3]

ผลงานชิ้นนี้ของแมนสันทำให้โรนัลด์ รอสส์ แพทย์ชาวบริติชตั้งสมมติฐานว่ายุงอาจเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียเช่นกัน รอสส์หารือกับแมนสันจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1898 รอสส์พิสูจน์ได้ว่ายุงเป็นพาหะของโรคมาลาเรียจริง ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ. 1902 แต่การที่รอสส์ไม่ได้เอ่ยถึงผลงานของแมนสันว่ามีส่วนในการค้นพบของเขา ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองตกต่ำลง[4]

ระหว่างปี ค.ศ. 1883-1889 แมนสันทำงานในฮ่องกง ที่นั่นเขาได้ก่อตั้งบริษัทนมแดรีฟาร์มและก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง ซึ่งต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮ่องกง[5] หลังทำงานอยู่ในเอเชียตะวันออกนาน 23 ปี แมนสันย้ายกลับไปที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1889 และทำงานที่โรงพยาบาลของสมาคมโรงพยาบาลทหารเรือบริเตนและเป็นอาจารย์สอนด้านโรคเขตร้อนของโรงพยาบาลเซนต์จอร์จ ในปี ค.ศ. 1897 เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของสำนักงานอาณานิคมและมีส่วนในการผลักดันให้เกิดวิทยาลัยสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนในปี ค.ศ. 1899[5] แมนสันเกษียณจากสำนักงานอาณานิคมในปี ค.ศ. 1912

ด้านชีวิตส่วนตัว แมนสันแต่งงานกับเฮนเรียตตา อิซาเบลลา เธอร์บันในปี ค.ศ. 1876 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน แมนสันเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1922

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2

ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2450 เซอร์แพทริก แมนสัน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ไฟเนอร์ จากเมืองไฮเดิลแบร์ก ได้ถวายการตรวจพระวรกาย ณ วิลลาโนเบล เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2450 โดยแพทย์ทั้งสองได้กราบทูลว่า ไม่มีพระโรคอย่างไรที่จะเกิดอันตราย แต่ได้กราบทูลเพิ่มเติมว่า ทรงมีพระโลหิต (เลือด) ไม่บริบูรณ์ และอ่อนพระกำลังเพราะพระอามาสัย (กระเพาะอาหาร) พิการเรื้อรัง มีพระเสมหะมากในพระศอ (คอ) และพระนาสิก (จมูก) เหตุเพราะทรงตรากตรำทรงงานมานาน จึงเป็นเหตุให้บรรทมไม่หลับเป็นปรกติ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย