เมขลา

เมขลา หรือ มณีเมขลา เป็นเทพธิดาประจำทะเล และเป็นนางผู้ถือดวงแก้วล่อให้รามสูรขว้างขวานจนทำให้เกิดฟ้าร้อง แต่นางก็โยนแก้วล่อไปล่อมาทำให้เกิดฟ้าแลบแสบตา[1] ทั้งนี้ท้าวโลกบาลทั้งสี่ได้มอบหมายให้คอยช่วยเหลือผู้มีบุญญาที่ตกน้ำ[2] โดยปรากฏในชาดกเรื่อง พระมหาชนก ซึ่งเมขลาเข้าช่วยเหลือเจ้าชายมหาชนกจากเรืออัปปาง[3] และปรากฏใน สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็มีการกล่าวถึงเมขลาเข้าช่วยพระสมุทรโฆษที่ลอยคออยู่กลางทะเลเจ็ดวัน[4][5]

เมขลา
เทพีแห่งทะเล
เมขลากับรามสูร
เป็นที่บูชาในพุทธ
อาวุธดวงแก้ว
เป็นที่นับถือในกัมพูชา · พม่า · ไทย

ทั้งนี้ฉากรามสูรไล่จับเมขลาไม่ปรากฏในวรรณคดีอินเดียใด ๆ[6] แต่ในประเทศไทยมีการประดิษฐ์ฉากดังกล่าวให้เป็นท่าระบำที่มีลักษณะสนุกสนานสำหรับการแสดงเบิกโรง[7][8]

ที่มาของชื่อ

เมขลา เป็นภาษาบาลี แปลว่า "สายรัดเอว" หรือ "เข็มขัดสตรี" บ้างว่าหมายถึงจับปิ้ง อันเป็นเครื่องประดับอวัยวะเพศหญิง[6] ประเทศไทยใช้ชื่อ "เมขลา" มาตั้งเป็นชื่อของพายุหมุนเขตร้อนในปี พ.ศ. 2548 และ 2551 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังใช้เป็นชื่อรางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ และศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ

ประวัติ

ในอรรถกถาสังขชาดกระบุว่าเมขลาเป็นเทพธิดาที่ได้รับมอบหมายจากท้าวโลกบาลทั้ง 4 เพื่ออารักขาทะเล โดยสั่งว่าถ้าเรือมาแตกลง มนุษย์ที่ถือไตรสรณคมน์ก็ดี มีศีลสมบูรณ์ก็ดี ปฏิบัติชอบในมารดาบิดาก็ดี มาตกทุกข์ในสมุทรนี้ พึงพิทักษ์รักษาเขาไว้[9]

ตามนิยายพื้นบ้านของไทย ได้ยกเรื่องเมขลามาอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฟ้าแลบและฟ้าร้อง โดยเล่าว่าเมขลามีแก้ววิเศษประจำตัว รามสูรเห็นดังนั้นก็พอใจในดวงแก้วและความงามของเมขลาจึงเที่ยวไล่จับ เมื่อจับไม่ทันก็เอาขวานขว้างแต่ไม่ถูก เนื่องจากนางใช้แก้วล่อจนมีแสงเป็นฟ้าแลบทำให้รามสูรตาพร่ามัวขว้างขวานไม่ถูก[10] บ้างว่าเป็นเพราะรามสูร เมขลา และพระประชุนมาชุมนุมรื่นเริงกัน พระประชุนคือพระอินทร์ในสมัยพระเวทที่มีหน้าที่ทำให้เกิดพายุฝน พระอินทร์ในหน้าที่นี้เรียกว่า ปรรชันยะ หรือ ปรรชัยนวาต ไทยเรียกเป็นพระประชุน เมื่อมีการชุมนุมรื่นเริงกันของเทพแห่งฝน เมขลาผู้มีดวงแก้วและรามสูรผู้มีขวานจึงทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า[10] เข้าใจว่าเดิมคงเป็นมุขปาฐะเล่าเรื่องดินฟ้าอากาศของคนสมัยก่อน โดยให้เสียงฟ้าร้องเป็นยักษ์ถือขวาน นางฟ้าถือดวงมณี และให้สภาพอากาศเป็นเทวดา ภายหลังจึงแผลงให้เป็นอินเดียด้วยการใส่ชื่อเทวดาที่มีลักษณะคล้ายกันคือ รามสูร เมขลา และอรชุน ตามลำดับ[7]

ขณะที่เสฐียรโกเศศและนาคะประทีปกล่าวถึงเมขลาว่านางสมุทรเทวี คือเทพธิดารักษาสมุทรไท และเทพธิดาสำหรับฝน[11] ในวรรณคดี เฉลิมไตรภพ ได้อธิบายว่า มีพระยามังกรการตนหนึ่งอมแก้วไว้เสมอ จะไปไหนก็เอาดวงแก้วทูนศีรษะไว้ มังกรการได้แปลงเป็นเทวดาไปสมสู่กับนางฟ้ามีบุตรีชื่อ เมขลา[12] เมื่อเจริญวัยขึ้นมีความงามยิ่ง มังกรการได้นำบุตรีและดวงแก้วไปมอบแก่พระอิศวร ครั้งหนึ่งเมขลาได้ขโมยดวงแก้ววิเศษนั้นไป ราหูผู้มีครึ่งตัวเพราะถูกจักรพระนารายณ์เมื่อครั้งแปลงเป็นเทวดาไปดื่มน้ำอมฤต ได้อาสาไปจับเมขลา และได้ชวนรามสูรผู้เพื่อนไปด้วย รามสูรได้ขว้างขวานจนกลายเป็นฟ้าลั่น[10] ดังที่สุนทรภู่ได้แต่งกลอนอธิบายการล่อแก้วของเมขลาและการขว้างขวานของรามสูรไว้ ความว่า[13]

๏ เมขลากล้าแกล้วล่อแก้วแววไว
โยนสว่างเหมือนอย่างไฟปลาบไนยเนตรมาร
๏ หน้ามืดฮืดฮาดเกรี้ยวกราดโกรธทยาน
แค้นนางขว้างขวานเปรี้ยงสท้านโลกา
๏ ฤทธิ์แก้วแคล้วคลาศยิ่งกริ้วกราดโกรธา
โลดไล่ไขว่คว้าเมขลาล่อเวียน
๏ ยักษ์โถมโจมโจนนางก็โยนวิเชียร
หลีกลัดฉวัดเฉวียนล่อเวียนวงวล
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงขวานก้องสท้านสากล
ไล่นางกลางฝนมืดมนท์ในเมฆา
๏ นวลนางนั้นช่างล่อรั้งรอร่อนรา
เวียนรไวไปมาในจักรราศีเอย ๚

ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า เทศกาลวสันต์คราวหนึ่งนางอัปสรและเทวดาต่าง ๆ มาร่วมจับระบำกัน เมขลาเองก็ถือแก้วมณีไปร่วมจับระบำด้วย รามสูรเห็นดังนั้นจึงไล่จับนางเมขลา แต่พระอรชุนเหาะมาพอดี ด้วยความโกรธรามสูรจึงจับสองขาพระอรชุนไปฟาดเหลี่ยมเขาพระสุเมรุจนตาย[10]

ลักษณะ

ในบทเห่กล่อมพระบรรทม เห่เรื่อง "จับระบำ" ที่แต่งโดยสุนทรภู่ ได้พรรณนาเกี่ยวกับลักษณะของเมขลาที่กำลังล่อแก้วอยู่บนท้องฟ้า และมีความงามดุจกินรี ความว่า

เห่เอยนางเอกมณีเมขลา
ลอยเร่ในเมฆาถือจินดาดั่งดวงดาว
โยนเล่นเห็นแก้วสว่างแวววามวาว
ลอยฟ้าเวหาหาวรูปราวกับกินรี
ทรงเครื่องเรืองจำรัสอร่ามรัศมีฉวี
ชูช่วงดวงมณีเลื่อนลอยลีลามา
เลียบรอบขอบทวีปอยู่กลางกลีบเมฆา
เชยชมยมนาเฝ้ารักษาสินธุ

เมขลาในประเทศต่าง ๆ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมขลาขณะช่วยพระมหาชนกจากเรืออัปปาง

เรื่องราวของเมขลา มักปรากฏตามจิตกรรมฝาผนังของวัดในประเทศอุษาคเนย์ที่นับถือพุทธศาสนาโดยภาพมาจากฉากในเรื่อง พระมหาชนก[3] โดยในไทยและกัมพูชาได้มีการแสดง "เมขลาล่อแก้ว" ทั้งนี้ในราชสำนักกัมพูชาได้มีพิธีกรรมขอฝนด้วยการเต้นดังกล่าวเพื่อเป็นการบวงสรวงเทวดาเพื่อบังคับฝน ถือเป็นเรื่องสวัสดิมงคล[6][14] โดยชาวเขมรเชื่อว่าแก้วของเมขลาคือไฟแลบ แต่ตามหลักปรณัมศาสตร์ ควรเป็นสัญลักษณ์ของพระจันทร์เสียมากกว่า[15] ส่วนในไทยโดยมากเชื่อว่าเมขลาคือเทพธิดารักษาสมุทรไท[4][11]

ในอดีตชนชั้นสูงในไทยมักระบำเบิกโรงเมขลารามสูรโดยถือเป็นมงคล มีหลักฐานว่ามีอยู่ในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นต้นตำรับของละครใน ซึ่งตกทอดมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์[16] ส่วนโรงละครเองก็ประดับประดารูปสลักหรือภาพวาดเมขลารามสูรล่อแก้วถือเป็นมงคลอีกเช่นกัน[6]

ประเทศจีน

ตามคติจีน มีเทพที่ใกล้เคียงกับเมขลาอีกสององค์คือเง็กนึ้ง (จีน: 玉女; พินอิน: yùnǚ; แปลว่า "นางหยก") และอีกองค์คือเตียนบ๊อ (จีน: 電母; พินอิน: diàn mǔ; แปลว่า "เจ้าแห่งสายฟ้า") ต่างกับเมขลาคือถือธงหรือกระจกเงาให้มีแสงแวบวับเป็นสัญญาณให้ลุ่ยกง (จีน: 雷公; พินอิน: léi gōng; แปลว่า "เจ้าแห่งฟ้าร้อง") รู้ก่อนว่าผู้ใดมีใจชั่วควรลงโทษด้วยการใช้ฟ้าผ่า[17]

ประเทศศรีลังกา

ปรากฏในกาพย์ของชาวทมิฬ เรื่อง มณิเมกะไล (ทมิฬ: மணிமேகலை)[18][19] เป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล โดยถือเป็นเทพสตรีที่นอนหลับไหลอยู่บนเกาะมณีปัลลาวัม (ปัจจุบันคือ เกาะนยิณาตีวู) รจนาขึ้นโดยจิตตาไล จัตตานาร์ ถือเป็นมหากาพย์หนึ่งในห้าที่มีชื่อเสียงของชาวทมิฬ[20]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

เรื่องราวของเมขลา ได้รับการประพันธ์เป็นเพลง "เมขลาล่อแก้ว" ซึ่งเป็นจังหวะรำวง ขับร้องโดยเบญจมินทร์[21] โดยพรรณนาถึงฉากที่เมขลาล่อแก้วกับรามสูร ส่วนในเพลง "ปักตะไคร้" ของวงบุดดาเบลส ในมิวสิกวีดิโอมีฉากที่เมขลาล่อแก้วจนก่อให้เกิดฟ้าผ่า ส่วนเนื้อหาของเพลงมิได้กล่าวถึงเมขลา[22]

นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมคือ พระมหาชนก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีฉากนางมณีเมขลาเหาะลงมาช่วยพระมหาชนก ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการจัดการแสดง มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระมหาชนก เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว โดยนำเค้าโครงจากพระราชนิพนธ์ดังกล่าวมาจัดแสดงในรูปแบบนาฏกรรม[23]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย