อาสนวิหารอัสสัมชัญ

อาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ

อาสนวิหารอัสสัมชัญ หรือโบสถ์อัสสัมชัญ (อังกฤษ: Assumption Cathedral) เป็นอาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ และที่ตั้งของโรงเรียน 3 แห่งได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา อาสนวิหารตั้งอยู่ที่เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นครั้งแรกในรูปแบบทรงไทยโดยบาทหลวงปาสกัล ซึ่งเป็นชาวไทย-โปรตุเกส[4] โบสถ์หลังปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2452 โดยคุณพ่อเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ อธิการโบสถ์ชาวฝรั่งเศสในขณะนั้น[5] เพื่อรองรับการขยายตัวของคริสต์ศาสนิกชนที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยมีสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยมีวัสดุก่อสร้างเช่นหินอ่อนและกระจกสี ซึ่งสั่งมาจากประเทศฝรั่งเศส สิงคโปร์และอิตาลี

อาสนวิหารอัสสัมชัญ
Assumption Cathedral
บริเวณด้านหน้าอาสนวิหารในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
แผนที่
ที่ตั้ง23 ซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก
ประเทศไทย
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์www.assumption-cathedral.com
ประวัติ
ผู้ก่อตั้งคุณพ่อปาสกัล
คุณพ่อเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์
เสกเมื่อ31 มกราคม พ.ศ. 2453
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกชาวฝรั่งเศส[1]
รูปแบบสถาปัตย์เรเนซองส์[2][1]
ปีสร้างพ.ศ. 2237 (หลังเดิม)[3]
พ.ศ. 2452 (หลังปัจจุบัน)
15 สิงหาคม พ.ศ. 2557 (บูรณะ)
โครงสร้าง
ความสูงอาคาร32 เมตร
การปกครอง
มุขมณฑลมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ

วิหารได้รับการออกแบบในรูปของงานสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี มีความสูงของหอระฆังตั้งแต่ยอดหอคอยจดพื้น 32 เมตรด้วยกัน ส่วนด้านในผนังและเพดานก็ตกแต่งด้วยจิตรกรรมแบบเฟรสโกและประติมากรรมปูนปั้นที่แสดงถึงเรื่องราวความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ปัจจุบันวิหารมีอายุเก่าแก่อายุกว่า 115 ปี เป็นหนึ่งในอาสนวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและยังได้การยกย่องให้เป็นหนึ่งในอาสนวิหารที่สวยที่สุดในไทยอีกด้วย[6][7] ที่ผ่านมาอาสนวิหารอัสสัมชัญมีโอกาสได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขสูงสุดของโรมันคาทอลิก ถึงสองพระองค์ คือสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เนื่องในวโรกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2527 และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องในวโรกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562[8]

ประวัติ

โบสถ์อัสสัมชัญสร้างขึ้นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2352 โดยบาทหลวงปาสกัล[9] เพื่อเป็นการถวายแด่การที่พระแม่มารีย์ถูกรับขึ้นสวรรค์ อาคารแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2365[10] และได้รับสถาปนาเป็นอาสนวิหารอัสสัมชัญ ในปีถัดมา ตั้งแต่นั้นมา อัสสัมชัญได้เป็นที่พำนักของบรรดามุขนายกผู้เป็นประมุขมิสซังสยามในสมัยนั้น ทั่วบริเวณดังกล่าวเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ และครอบครัวคริสต์ศาสนิกชนซึ่งค่อยๆโยกย้ายมาตั้ง บ้านเรือนอยู่ข้าง ๆ โบสถ์ จนถึงปี พ.ศ. 2407 เมื่อเมืองได้ขยายไปจนถึงบริเวณดังกล่าวและจำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งบริเวณนั้นให้เป็นชุมชนคาทอลิค ดังนั้นในปี พ.ศ. 2407 พระคุณเจ้าดูว์ปงจึงตั้งอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชน (Paroisse) อย่างเป็นทางการ โดยมีคุณพ่อฟรังซัว ยอเซฟ ชมิตต์ เป็นอธิการโบสถ์องค์แรก

โบสถ์หลังปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2452 โดยคุณพ่อเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ อธิการโบสถ์ชาวฝรั่งเศสในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินทิ้งระเบิดในบริเวณโบสถ์อัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเชื้อเพลิง อาคารต่างๆ รอบโบสถ์ได้รับความเสียหายอย่างมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาทำลายหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก ทั้งกำแพง ประตูหน้าต่าง กระจก คุณพ่อแปรูดงอธิการโบสถ์ในขณะนั้นต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่าง

ในปี พ.ศ. 2527 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศไทย พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ถือเป็นเกียรติเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จมาเยี่ยมเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญ และอวยพระพรแก่บรรดาบาทหลวง นักบวชชายหญิงทุกคณะ พร้อมด้วยบรรดาคริสตังที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น ระหว่างปี พ.ศ. 2526-2532 คูณพ่อชุมภา คูรัตน์ เห็นว่าภายในอาสนวิหารอัสสัมชัญจำเป็นต้องได้รับการตกแต่งเสียใหม่ จึงได้ทำการตกแต่งและซ่อมแซมอาสนวิหารในเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งได้จัดทำพระแท่นบูชาและพื้นที่บริเวณพระแท่นเสียใหม่ และได้รับการยกย่องให้เป็นอาสนวิหารที่มีความงดงามที่สุดในประเทศไทย

ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มีการฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญครบ 100 ปี และมีการประพันธ์บทเพลงสำหรับงานฉลองดังกล่าวทั้งสิ้น 2 บทเพลง ได้แก่ บทเพลง อาสนวิหารมารดาของเรา และบทเพลง หนึ่งศตวรรษ สิริสวัสดิ์ วัดอัสสัมชัญ ขับร้องโดยคณะนักขับร้องประสานเสียงประจำอาสนวิหารอัสสัมชัญ

ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้เสด็จเยือนประเทศไทย โดยสมเด็จพระสันตะปาปาได้เสด็จมาประกอบพิธีมิสซาเพื่อเยาวชนมีคริสตชนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก[11] และคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนคาทอลิกไทย[12] ได้ร่วมกันขับร้องบทเพลง มาร์ช วิวาอิลปาปา[13] และบทเพลง สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนแผ่นดินสยาม[14] [15] บทเพลงใหม่ซึ่งถูกประพันธ์ขึ้นในโอกาสสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนประเทศไทย ซึ่งพิธีบูชามิสซังดังกล่าวมีการเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก [16] [17] [18]

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

13°43′23″N 100°30′55″E / 13.723166°N 100.515157°E / 13.723166; 100.515157

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย