ศุลกสถาน

อาคารอนุรักษ์ในเขตบางรักริมแม่น้ำเจ้าพระยา
(เปลี่ยนทางจาก อาคารศุลกสถาน)

ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม หรือโรงภาษีเก่า ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ฟ้าซีกวน หรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน)[2] เป็นอดีตอาคารที่ทำการของศุลกสถาน (กรมศุลกากรในปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 (โรงภาษี) ของเขตบางรัก ติดกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรก

ศุลกสถาน
สถานีดับเพลิงบางรัก
The Old Custom House
Bang Rak Fire Station
มุมอาคารศุลกสถานหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่
ชื่อเดิมโรงภาษีร้อยชักสาม[1]
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทศุลกสถาน
สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ในรูปแบบปัลลาดีโอ
เมืองซอยเจริญกรุง 36 (โรงภาษี) ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2429–2431[1]
ปรับปรุงพ.ศ. 2562–2568
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกโยอาคิม กรัสซี

สถาปัตยกรรม

ศุลกสถานเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ศิลปะโรมันคลาสสิค เป็นสถาปัตยกรรมทรงนีโอคลาสสิก และสมมาตรตามวิถีของปัลลาดีโอ (Neo-Palladian) เป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัวไอ โดยโยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi/Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลีสัญชาติออสเตรียน/ฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สถาปนิกผู้นี้มีผลงานมากมายในขณะนั้น เช่น คองคอร์เดียคลับ, พระราชวังบางปะอิน, วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร, เรือนรับรองสถานทูตโปรตุเกส, วังบูรพาภิรมย์, วังใหม่ประทุมวัน, โรงทหารหน้า, ป้อมพระจุลจอมเกล้า, อาคารเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ, ตึกวิคตอเรียและตึกเสาวภาคที่ศิริราชพยาบาล, ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้, คุกมหัตโทษ[3] ภายหลังสร้างเสร็จ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาคารที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น[4]

ผังของศุลกสถาน ประกอบด้วยตึก 3 หลัง ตึกด้านเหนือวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำมีสองชั้นเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก (มีตัวหนังสือ Import and Export Department ที่หน้าบันตัวตึก) ตึกกลางเป็นตึกใหญ่รูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงทางเดินด้านหน้าซึ่งประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ชั้นล่างเป็นซุ้มสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นซุ้มโค้ง ขอบระเบียงเป็นลูกกรงแก้วปูนปั้น มีเสาอิงเป็นระยะสลับกับแนวหน้าต่าง ชั้น 4 เป็นห้องโถงใหญ่ (ออกแบบเป็นที่เก็บเอกสาร) มียอดเป็นจั่ว รูปสามเหลี่ยมบรรจุนาฬิกาทรงกลมในจั่ว เหนือจั่วมีกระบังหน้าคล้ายมงกุฎปั้นเป็นตราแผ่นดิน[5]

มีรูปปูนปั้นสิงห์สองข้าง อาคารมีทรงคล้ายคลึงกับตึกเก่าของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งสร้างในช่วงเวลาและตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากสถาปนิกผู้ออกแบบเป็นคนเดียวกัน ตึกกลางมีสะพานไม้เชื่อมกับชั้นสองของทั้งตึกด้านเหนือและตึกด้านใต้ ส่วนตึกด้านใต้เป็นตึกยาวสองชั้นวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและไปรษณีย์ต่างประเทศ

ประวัติศาสตร์

ศุลกสถาน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของตำรวจน้ำโดยมีการต่อเติมที่จอดเรือบริเวณด้านหน้าอาคาร
ป้ายโครงการปรับปรุงอาคารเป็นโรงแรม (ภาพถ่ายในปี 2020)
ศุลกสถานในปี 2022

ศุลกสถาน เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่อยู่ของฝรั่งชาวโปรตุเกส ชื่อนายเจ.เอน.เอฟ.ดาคอสตา รับราชการอยู่กรมศุลกากร มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชายสาธก (เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ของกรมศุลกากร คู่กับขุนเสวกวรายุตถ์ ผู้เป็นน้องชาย) เมื่อหลวงราชายสาธกถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาแหม่มของหลวงราชายสาธก จึงอยู่ในที่นั้นต่อมาภายหลังร้องทุกข์ขอเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพ โดยตกลงยกสิทธิ์ที่อยู่ให้แก่รัฐบาลเป็นการแลกเปลี่ยนกัน กรมศุลกากรจึงรื้อเรือนไม้สร้างเป็นตึกขึ้น เพื่อเป็นที่ทำการศุลกากร เนื่องจากตัวที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษีแต่เดิมนั้นไม่มี มีแต่เพียงด่านขนอนที่ตั้งเก็บอากรการผ่านเขต[6]

ความงามของอาคารศุลกสถาน พระยาอนุมานราชธนบันทึกไว้ในหนังสือตำนานกรมศุลกากรว่า "สมัยนั้น ถ้านั่งเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จะปรากฏตัวตึกกรมศุลกากรตั้งตระหง่านเด่นเห็นได้แต่ไกลด้วย เป็นตึกที่ตอนกลางสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งในสมัยนั้นนอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว ดูเหมือนจะมีแต่ตึกกรมศุลกากรเท่านั้นที่เป็นตึกขนาดใหญ่ และสวยงาม..."

ศุลกสถานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า "ภาษีร้อยชักสาม"[7] แล้ว สมัย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ก็เคยใช้ศุลกสถาน เป็นที่จัดเลี้ยงและเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 2 - 3 ครั้ง รวมทั้งเป็นที่จัดเลี้ยงงานสมโภช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปคราวแรกด้วย

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2497 ที่ทำการศุลกากร ได้ย้ายไปบริเวณท่าเรือคลองเตย ศุลกสถานก็เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ (ศุลการักษ์ หรือโปลิศน้ำ ภายหลังเรียกว่าพลตระเวน แล้วต่อมาเรียกตำรวจนครบาล หรือเรียกสั้นๆ ว่าตำรวจ มีหน้าที่ในทางน้ำคล้ายตำรวจนครบาล) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งนี้ปรับบทบาทเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก[8] จนมักเรียกกันว่า "สถานีดับเพลิงบางรัก" อยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไปทำให้กลายเป็นตึกร้าง และใช้เป็นทางผ่านไปยังที่ทำการตำรวจน้ำ

การปรับปรุงอาคาร

สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลง “โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม” ระหว่างกระทรวงการคลังกับ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยกรมศิลปากร ได้เริ่มลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีพร้อมทั้งบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของศุลกสถาน ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารโดยละเอียด โดยข้อมูลและโครงสร้างเดิมที่ค้นพบจากการขุดค้นดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการบูรณะอาคารศุลกสถานและการก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ในอนาคต

โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม จะใช้เวลาดำเนินการรวมประมาณ 6 ปี ประกอบด้วยการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี การบูรณะซ่อมแซมอาคารเดิมจำนวน 3 หลัง ด้วยการเสริมโครงสร้างและความแข็งแรง การตกแต่งภายนอก และการตกแต่งภายใน รวมถึงการสร้างอาคารใหม่อีก 1 หลัง โดยคาดการณ์ว่าการดำเนินงานทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2568 ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาท และในลำดับต่อไปของการพัฒนาโครงการฯ จะครอบคลุมไปถึงการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง พร้อมด้วยห้องอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ[9]

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

13°43′31″N 100°30′50″E / 13.725232°N 100.513916°E / 13.725232; 100.513916

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย