สลิ่ม

สแลงการเมืองไทย โดยมากมักใช้กับผู้มีจุดยืนขวาหรือขวาจัด

สลิ่ม ในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกมองว่าคลางแคลงในระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนบทบาทของกองทัพในพื้นที่การเมือง[1][2] นักรัฐศาสตร์ สุรชาติ บำรุงสุข มองว่าสลิ่มคือตัวแทนชนชั้นกลางปีกขวา[3] คำนี้ในตอนแรกใช้เรียกเฉพาะ "กลุ่มเสื้อหลากสี" หรือ กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยเรียกตามชื่อขนมซ่าหริ่มซึ่งมีหลายสี และอาจมีความหมายเชิงดูถูก[4] ต่อมาขอบเขตความหมายได้กินความรวมไปถึงคนกลุ่มอื่นที่อยู่นอกเหนือผู้ชุมนุมในกลุ่มคนเสื้อหลากสีด้วย[2][5] คำว่าสลิ่มเริ่มถูกใช้ในงานเขียนที่เผยแพร่ทางสื่อทั่วไปอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2554[6] และกลับมาเป็นที่สนใจในบทสนทนาทางการเมืองอย่างมากอีกครั้งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อนักเรียนนักศึกษาจากหลายสถานศึกษาได้อ้างอิงถึงคำนี้ในแฮชแท็กของการชุมนุมประท้วง[1] เช่น #BUกูไม่เอาสลิ่ม[5] #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม[7] #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ[8] รวมถึงมีเพลงล้อชื่อ "ดูสลิ่ม" ออกมาในช่วงเดียวกัน โดยท่อนแรกของเนื้อเพลงคือ "ชอบกฎหมายที่สั่งตัดมาพิเศษ"[9]

ที่มา

คำนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ใช้สีเสื้อในการระบุอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ใส่เสื้อสีเหลือง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่ใส่เสื้อสีแดง โดยกลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งรวมตัวครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2553 เพื่อคัดค้านการที่กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา[10] จึงเรียกตัวเองอย่างลำลองว่า "กลุ่มเสื้อหลากสี" เพื่อแยกตัวเองออกมาจากกลุ่มการเมืองก่อนหน้า ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ "หมอตุลย์" แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Positioning ว่า “ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเปลี่ยนจากพลังเงียบให้กลายมาเป็นพลังที่เคยเงียบเสียที” “ผมเลยชวนพวกเขามาอยู่เวทีเดียวกัน ทำให้เป็นกลุ่มเสื้อหลากสีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีพลังมากขึ้น”[11] ต่อมาผู้ติดตามการเมืองได้นำชื่อขนมไทยที่เรียกว่าซ่าหริ่มหรือสลิ่ม ที่มีเส้นหลากหลายสีมาเรียกกลุ่มดังกล่าว โดยเชื่อว่าเริ่มเรียกกันเป็นครั้งแรกในเว็บบอร์ดพันทิป.คอม[12] สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางสังคมที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงเคยกล่าวบนสื่อสังคมทวิตเตอร์ว่า "มีคนใช้คำนี้เรียกกลุ่มคนเสื้อหลากสีใน Pantip แล้วผมเอามาใช้ต่อ และปัจจุบันผมเลิกเรียกคนว่าสลิ่ม ตามที่ วาด รวี เขารณรงค์"[13]

คำจำกัดความ

มีความพยายามในการให้คำจำกัดความและความหมายของคำว่า "สลิ่ม" มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังรวมถึงทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์[14]

กันยายน 2553 ทัศนะ ธีรวัฒน์ภิรมย์ ได้อธิบายลักษณะร่วมบางประการของสลิ่มในบทความของประชาไท โดยสรุปได้เป็นนัยว่า สลิ่มเป็นกลุ่มคนที่เป็นพวกคลั่งเจ้า (Ultra-Royalist), เป็นคนที่มีการศึกษาสูงแต่จะเลือกเชื่อแต่สิ่งที่ได้รับการศึกษาในระบบมาเท่านั้น, เป็นคนที่เชื่อคนยากแต่จะเลือกเชื่อคนที่ดูดีมีความรู้, เป็นคนที่มีศีลธรรมจรรยา, เป็นคนที่ติดตามข่าวสารเรื่องการเมืองและมองทักษิณ ชินวัตรเป็นปัญหาของการเมืองไทยมาโดยตลอด, เป็นผู้มีอันจะกินมีกำลังซื้อมากและชอบนำเทรนด์, และเป็นคนที่มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง[14]

ตุลาคม 2554 พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย ได้ให้ความหมายของคำนี้ว่าเป็น "บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน"[15]

พฤศจิกายน 2554 Faris Yothasamuth ได้อธิบายลักษณะเฉพาะของสลิ่มในบทความของประชาไท โดยสรุปได้เป็นนัยว่า สลิ่มมีลักษณะที่เกลียดชังทักษิณ, ฝักใฝ่ลัทธิกษัตริย์นิยม, โหยหาทหาร, ไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตยในระบบ, ขาดเหตุผลและความรู้, และมีความหลงผิดว่าตนเองดีเลิศและสูงส่งกว่าคนอื่น[2][16]

ในช่วงการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 เริ่มมีการใช้คำว่าสลิ่มกันในวงกว้างขึ้นและทำให้สื่อทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความหมายที่ร่วมกันว่า เป็นคำที่ถูกใช้ในทางเย้ยหยันหรือเหยียดหยาม (derogatory)[17][18] เรียกกลุ่มคนพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง (ultraconservative), แนวคิดคลั่งเจ้า (ultra-royalist)[19], และผู้สนับสนุนรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา (pro-establishment)[20][21]

การใช้คำ

ในช่วงก่อนการประท้วง 2563 มีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิจารณ์ทางการเมืองหลายคนใช้คำนี้เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์[22] คำ ผกา[23] แต่ในช่วงการประท้วง 2563 เริ่มปรากฏการใช้คำนี้ในสื่อกระแสหลักมากขึ้น

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย