สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หน่วยงานกำกับดูแลกีฬาฟุตบอลในประเทศไทย

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลฟุตบอล, ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาด[2] ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเข้าร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2468 และเข้าร่วมกับสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2497[3]

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เอเอฟซี
ก่อตั้ง25 เมษายน พ.ศ. 2459; 108 ปีก่อน (2459-04-25)
สำนักงานใหญ่ศูนย์กีฬาหัวหมาก
สมาชิกฟีฟ่าพ.ศ. 2468
สมาชิกเอเอฟซีพ.ศ. 2497[1]
สมาชิกเอเอฟเอฟพ.ศ. 2527
นายกนวลพรรณ ล่ำซำ
เว็บไซต์http://fathailand.org/

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ริเริ่มนำกีฬาฟุตบอล เข้ามาเล่นในไทยเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสโมสรคณะฟุตบอลสยาม ขึ้นโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 มีการจัดแข่งขัน ในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างทีมฟุตบอลทีมชาติสยาม กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนามราชกรีฑาสโมสร โดยมีดักลาส โรเบิร์ตสัน เป็นกรรมการผู้ตัดสิน[4]

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม ขึ้นโดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก พร้อมทั้งตราข้อบังคับสมาคมฯ และแต่งตั้งสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าพระยารามราฆพ) เป็นนายกสภาฯ และพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาปรีชานุสาสน์) เป็นเลขาธิการ ต่อมาราวปลายปีเดียวกัน จึงเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วยพระราชทาน ก) และฟุตบอลถ้วยน้อย (ถ้วยพระราชทาน ข) ขึ้นเป็นครั้งแรก[4]

ทั้งนี้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 และสืบเนื่องจากที่รัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยมเปลี่ยนชื่อประเทศ จากสยามเป็นไทยเมื่อปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นชื่อปัจจุบัน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อฟุตบอลทีมชาติเป็น ฟุตบอลทีมชาติไทย โดยสมาคมฯ ส่งฟุตบอลทีมชาติไทย ลงแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2499 จากนั้นสมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) เมื่อปี พ.ศ. 2500[4] และเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟเอฟ) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2527[5]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 สมาคมฯ จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลเสียใหม่เป็นระดับชั้น (Divisions) โดยตั้งวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศ ตามรูปแบบของสมาคมฟุตบอลอังกฤษในขณะนั้น โดยนอกจากถ้วยพระราชทาน ประเภท ก (เดิมคือ ฟุตบอลถ้วยใหญ่) และ ข (เดิมคือ ฟุตบอลถ้วยน้อย) แล้วยังเพิ่มถ้วยพระราชทาน ค และ ง เพื่อจัดเป็นระดับชั้นที่ 1-4 ตลอดจนก่อตั้งการแข่งขันระบบแพ้คัดออก (Knock-out) เพื่อชิงถ้วยระดับสโมสรคือ ถ้วยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513) รวมถึงระดับทีมนานาชาติ (กล่าวคือทีมชาติประเทศต่างๆ หรือสโมสรฟุตบอลจากนานาชาติ) คือคิงส์คัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511) และควีนสคัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดการแข่งขันในระดับอื่นเช่น ฟุตบอลนักเรียน, ฟุตบอลอาชีวศึกษา, ฟุตบอลเยาวชนและอนุชน, ฟุตบอลเตรียมอุดมศึกษา, ฟุตบอลอุดมศึกษา รวมทั้งกำกับดูแลในการส่งทีมฟุตบอลต่างๆ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระหว่างประเทศอีกด้วย[4]

ระยะต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 สมาคมฯ ปรับปรุงระบบการแข่งขันใหม่อีกครั้ง ภายใต้รูปแบบระดับชั้นตามเดิม โดยกำหนดให้มีลีกฟุตบอลอาชีพ แบ่งเป็นระดับสูงสุดคือ ไทยพรีเมียร์ลีก, ระดับที่สองคือ ไทยลีกดิวิชัน 1 และระดับที่สามคือ ไทยลีกดิวิชัน 2 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ปรับปรุงระบบแข่งขันเป็น 5 ลีกย่อย ตามภูมิภาคของประเทศ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น ลีกภูมิภาค จนถึงปัจจุบัน) จากนั้นจึงเป็นอีก 3 ระดับสมัครเล่น เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน ข, ค และ ง ตามลำดับต่อไป ส่วนถ้วยพระราชทาน ก จัดให้เป็นรางวัลแก่สโมสรที่ชนะเลิศ การแข่งขันนัดพิเศษก่อนเปิดฤดูกาล ระหว่างสโมสรที่ชนะเลิศไทยพรีเมียร์ลีก พบกับสโมสรที่ชนะเลิศไทยเอฟเอคัพ (ลักษณะเดียวกับเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ) สำหรับฟุตบอลชิงถ้วย ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีการจัดแข่งขันบ้าง หยุดพักไปบ้างเป็นระยะ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 จึงเริ่มกลับมาจัดเป็นประจำทุกปีอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ไทยเอฟเอคัพ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ในปีต่อมา (พ.ศ. 2553) ยังเพิ่มการแข่งขันในชั้นรองคือ ไทยลีกคัพ ขึ้นมาอีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 สมาคมฯ โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 โดยนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ประเทศที่ 6 ที่ได้จัดการประชุม ต่อจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, กาตาร์ และบาห์เรน

รายชื่อนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

ลำดับรูปรายนามเริ่มวาระสิ้นสุดวาระ
1 เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)พ.ศ. 2459พ.ศ. 2462
2 หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์พ.ศ. 2462พ.ศ. 2465
3 พระยานเรนทรราชา (หม่อมหลวงอุรา คเนจร)พ.ศ. 2465พ.ศ. 2468
4 พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)พ.ศ. 2468พ.ศ. 2471
5 พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล)พ.ศ. 2471พ.ศ. 2474
6 พระยาวิเศษศุภวัตร (เทศสุนทร กาญจนศัพท์)พ.ศ. 2474พ.ศ. 2477
7 หม่อมเจ้าสมาคม กิติยากรพ.ศ. 2477พ.ศ. 2481
8 พลเรือตรี หลวงเจียรกลการ (เจียม เจียรกุล)พ.ศ. 2496พ.ศ. 2498
9 พลโท เผชิญ นิมิบุตรพ.ศ. 2498พ.ศ. 2499
10 พลเอก จำเป็น จารุเสถียรพ.ศ. 2503พ.ศ. 2504
11 พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ ยมนาคพ.ศ. 2504พ.ศ. 2516
12 ประชุม รัตนเพียรพ.ศ. 2519
พ.ศ. 2528
พ.ศ. 2520
พ.ศ. 2531
13 พันเอก อนุ รมยานนท์พ.ศ. 2518
พ.ศ. 2519
พ.ศ. 2520
พ.ศ. 2528
14 พลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศพ.ศ. 2531พ.ศ. 2538
15 วิจิตร เกตุแก้วพ.ศ. 2538พ.ศ. 2550
16 วรวีร์ มะกูดีพ.ศ. 2550
พ.ศ. 2554
พ.ศ. 2556
พ.ศ. 2553
พ.ศ. 2556
พ.ศ. 2558
17 พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงพ.ศ. 2559
พ.ศ. 2563
พ.ศ. 2563
พ.ศ. 2567
18 นวลพรรณ ล่ำซำพ.ศ. 2567ปัจจุบัน

การเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

พ.ศ. 2554

เนื่องด้วย วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้หมดวาระในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553 จึงให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อหาผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 3 คน คือ วรวีร์ มะกูดี, วิรัช ชาญพานิชย์ และ พิเชฐ มั่นคง

ซึ่งเดิมทีจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 แต่ก็ต้องถูกเลื่อนไป เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ล้มการเลือกตั้ง จนในที่สุดก็มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 แทน

#ผู้สมัครคะแนน
1วรวีร์ มะกูดี123
2วิรัช ชาญพานิชย์44
3พิเชฐ มั่นคง1
ไม่ประสงค์ลงคะแนน16
รวมคะแนนทั้งสิ้น184

วรวีร์ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 123 เสียง ทำให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต่ออีกสมัย[6]

พ.ศ. 2556

วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คน คือ วรวีร์ มะกูดี และ วิรัช ชาญพานิชย์[7] โดยก่อนหน้านี้ พินิจ งามพริ้ง จะลงสมัครด้วย แต่ได้ถอนตัวหลังจากเจรจากับวิรัช

วรวีร์ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 42 ต่อ 28 เสียง บัตรเสีย 1 เสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 เสียง รวมทั้งสิ้น 72 เสียง ทำให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต่ออีกสมัย[8]

พ.ศ. 2559

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทั้งหมด 6 คน

#ผู้สมัครคะแนน
1ธวัชชัย สัจจกุล0
2พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง62
3พินิจ สะสินิน0
4ชาญวิทย์ ผลชีวิน4
5ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ1
6พันตำรวจโท ชัยทรัพย์ ธรัช ฤทธิ์เต็ม0
ไม่ประสงค์ลงคะแนน1
รวมคะแนนทั้งสิ้น68

สมยศชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 62 จาก 68 คะแนน จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ[9]

พ.ศ. 2563

เนื่องด้วย พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้หมดวาระลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จึงให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อหาผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทั้งหมด 2 คน คือ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และ ภิญโญ นิโรจน์

สมยศชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 51 ต่อ 17 เสียง บัตรเสีย 1 เสียง รวมทั้งสิ้น 69 เสียง ทำให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต่ออีกสมัย[10]

พ.ศ. 2567

เนื่องด้วย พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้หมดวาระลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จึงให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อหาผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทั้งหมด 5 คน

ต่อไปนี้เป็นผลการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ดังกล่าว[11]

#ผู้สมัครคะแนน
1นวลพรรณ ล่ำซำ68
2วรงค์ ทิวทัศน์2
3พยุริน งามพริ้ง0
4ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ1
5คมกฤช นภาลัย0
บัตรเสีย1
ไม่ประสงค์ลงคะแนน1
รวมคะแนนทั้งสิ้น73

นวลพรรณชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 68 จาก 73 คะแนน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จนกระทั่งวันที่ 12 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการการเลือกตั้งของสมาคมกีฬาฟุตบอล ได้รับรองผลการเลือกตั้งสภากรรมการชุดใหม่อย่างเป็นทางการ[12] และรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำกรุงเทพมหานคร ได้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสภากรรมการชุดใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์[13]

คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน

ที่ทำการ

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยใช้ที่ทำการหลักอยู่หลายแห่ง ดังนี้

อาคารปัจจุบันที่ตั้งช่วงเวลาอ้างอิง
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงวชิราวุธวิทยาลัย197 ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2459 - พ.ศ. 2460[14]
เรือนเสือป่า และ สนามฟุตบอลเสือป่า สวนดุสิตสำนักพระราชวัง สนามเสือป่า602 ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2460 - พ.ศ. 2489
บ้านนรสิงห์ทำเนียบรัฐบาลไทย1 ถนนนครปฐม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2494
ใต้ถุนอัฒจันทร์ฝั่งที่ประทับ สนามศุภชลาศัย154 กรีฑาสถานแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2494 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
อาคาร 40 ปี (อาคาร 2) การกีฬาแห่งประเทศไทย (ข้างสนามเทนนิส)286 การกีฬาแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 - 24 เมษายน พ.ศ. 2566[15]
อาคาร House of Thai Football (ติดกับประตู 5)25 เมษายน พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน[16]

ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ

ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นจากดำริของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่ต้องการให้ทั้ง 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศูนย์ฝึกซ้อมการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติ วรวีร์ซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมฯ ในขณะนั้น เสนอบริจาคที่ดินขนาด 20 ไร่ ริมถนนมิตรไมตรี แขวงหนองจอก เขตหนองจอก ให้วิจิตรซึ่งเป็นนายกสมาคมฯ ในขณะนั้น นำไปก่อตั้งโครงการดังกล่าว โดยเสนอของบประมาณจากโครงการโกล (Goal!) ของฟีฟ่า เป็นเงิน 860,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มการก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2545 - 2549 เป็นเวลา 4 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเกิน สมาคมฟุตบอลฯ เป็นผู้ชำระเอง[17]

เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปีของสมาคมฟุตบอลฯ จึงได้ประกอบพิธีเปิดศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งในระยะแรกมีสำนักงาน 3 อาคาร สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน ห้องฝึกอบรม และห้องเรียน พร้อมทั้งอุปกรณ์ฝึกซ้อมฟุตบอลอันทันสมัย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้แก่ 11 ชาติของอาเซียน เข้าใช้ประโยชน์ในศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งนี้ ตามวัตถุประสงค์ของฟีฟ่าด้วย ต่อมา สมาคมฟุตบอลฯ จัดทำสนามฟุตบอลหญ้าเทียมเพิ่มเติม โดยประธานฟีฟ่า เซพพ์ บลัทเทอร์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดศูนย์ฝึกแห่งนี้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552[17]

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ตรวจสอบพบว่าศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติหนองจอกดังกล่าวไม่มีถนนเข้า-ออกที่ถูกกฎหมาย หมายความว่าไม่มีทางเข้า จึงแถลงข่าวปิดศูนย์ไปในวันที่ 19 ตุลาคม[18] แต่ทั้งนี้สมาคมฟุตบอลฯ ก็ได้สร้างศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีแทน โดยเปิดใช้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[18]

การแข่งขันที่จัดโดยสมาคมฯ

ระบบการแข่งขันที่ใช้ในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฟุตบอลอาชีพ ซึ่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงมาเป็นระยะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน

ฟุตบอลชาย

ฟุตบอลสโมสรชาย

  • ฟุตบอลถ้วย
    • ระดับสูง - ไทยเอฟเอคัพ (ช้าง เอฟเอคัพ/ด้วยเหตุผลด้านการสปอนเซอร์)
    • ระดับรอง - ไทยลีกคัพ (รีโว่ ลีกคัพ/ด้วยเหตุผลด้านการสปอนเซอร์)
    • แชมเปียนส์คัพ (ไดกิ้นแชมเปียนส์คัพ/ด้วยเหตุผลด้านการสปอนเซอร์) - การแข่งขันก่อนเปิดฤดูกาล ระหว่างผู้ชนะเลิศไทยลีก พบกับผู้ชนะเลิศไทยเอฟเอคัพ
    • ควีนสคัพ (ยกเลิก/ถูกแทนที่ด้วยแชมเปียนสคัพ) - การแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลของไทยซึ่งเป็นภาคีสมาชิก (ครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2553)
  • ฟุตบอลเยาวชน

ฟุตบอลทีมชาติชาย

  • ฟุตบอลถ้วย
    • คิงส์คัพ - การแข่งขันระดับนานาชาติประจำปี โดยมีฟุตบอลทีมชาติไทยกับชาติที่ถูกเชิญอีก3ชาติ

ฟุตบอลหญิง

ฟุตบอลสโมสรหญิง

ฟุตซอล

ฟุตซอลสโมสร

อีสปอร์ต

อีสปอร์ตสโมสร

  • อี-ลีก ไทยแลนด์

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

สมาคมฯ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีผลงานอื่น นอกเหนือจากผลงานของฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ชนะเลิศในกีฬาซีเกมส์หลายสมัย โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การส่งรายชื่อทีมสโมสร ในการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีกล่าช้า ทำให้ทีมสโมสรไทยถูกตัดสิทธิการแข่งขันในปีนั้น และส่งผลในปีต่อมา ให้จำนวนทีมไทยเข้าร่วมเพียงหนึ่งทีม จากปกติสองทีม

  • ปลายปี พ.ศ. 2549 ได้มีปัญหาเงินรางวัลในการแข่งขันฟุตบอลดิวิชั่น 1 ที่ไม่สามารถเรียกจ่ายได้และไม่มีคนรับผิดชอบ โดย ชัยยงค์ ขำเปี่ยม ผู้ฝึกสอนสโมสรฟุตบอลตำรวจ ได้เข้าแจ้งและพร้อมที่จะทำการฟ้องหากไม่มีการจ่ายเงินรางวัล [19]
  • ฟุตบอลคิงส์คัพ ได้มีการออกข่าวเปลี่ยนใจลดจำนวนประเทศที่เข้าร่วมเหลือ 4 ประเทศ หลังจากที่มีออกข่าวในเดือนตุลาคม เดือนตุลาคมว่าจะมีทีมที่ร่วมลงแข่ง 7 ประเทศ 8 ทีม (ประเทศไทย 2 ทีม และประเทศอื่นอีก 6 ประเทศ) [20] โดยให้เหตุผลว่าต้องการเตรียมความพร้อม และจะพาทีมชาติไทยไปแข่งฟุตบอลโลก [21]
  • 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ทีมชาติไทยชุดใหญ่ นำผู้เล่นติดโทษแบน 2 คนเดินทางไปแข่งนัดเจอกับญี่ปุ่นในนัดเยือน (จุดกำเนิดตกรอบปรีโอลิมปิก)
  • 14 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ทีมชาติไทยชุดใหญ่ไม่มีสนามซ้อม ทำให้ต้องวิ่งซ้อมที่พื้นปูนหน้าสนามราชมังคลาฯ ก่อนแข่งกับญี่ปุ่น ในอีก 2 วันถัดไป[22]
  • 11 มกราคม พ.ศ. 2553 - สตง.สั่งสอบสวนทีมชาติไทยชุดซีเกมส์มีการเบิกเบี้ยเลี้ยงเกินจริง (เบิกเบี้ยเลี้ยงเต็มปี แต่จริงๆ แล้วเก็บตัว 3 เดือน แต่หลังจากตกรอบซีเกมส์ เลยออกมาอ้างว่าเก็บตัวแค่วันเดียวเลยโดนสั่งสอบ)[23]
  • 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 - สมาคมฟุตบอลไทยฯ ลืมทำวีซ่าเข้าอิหร่านให้นักเตะและสตาฟฟ์โค้ชทำให้เสียเวลา 3 ชม.ที่สนามบินตอนขาเข้าประเทศ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - ทีมชาติไทยชุด U-19 ออกเดินทางไปแข่ง U-19 ชิงแชมป์เอเชียรอบสุดท้ายที่ประเทศจีนในวันที่ 3 ตุลาคม ทำให้นักเตะมีเวลาปรับตัวกับสภาพอากาศเพียง 1 วันก่อนแข่งกับซีเรียและแพ้ไป 0-1
  • 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 - ทีมชาติไทยชุดเอเชียนเกมส์ต้องเหลือผู้รักษาประตูคนเดียว เพราะ กวิน ผู้รักษาประตูมือ 1 บาดเจ็บ แต่ทีมชาติไทยดันส่งรายชื่อตัวสำรองเป็นผู้เล่นอายุเกิน 23 ทว่าโควตาอายุเกินเต็ม ทำให้ไม่สามารถเรียกมาเสริมได้ จึงต้องเล่นโดยไม่มีผู้รักษาประตูสำรองในนัดที่เหลือ
  • 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 - ทีมฟุตบอลโอลิมปิกทีมชาติไทย ถูกปรับแพ้ปาเลสไตน์ 0-3 เพราะส่งผู้เล่นติดโทษแบนลงสนาม[24][25][26]
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - นายกสมาคมฯ ล้มการประชุมเพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่โดยไม่มีการลงมติจากที่ประชุม (ถือว่าผิดกฎของ กกท.)[27]
  • 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - อดีต เอฟเอ อังกฤษ ออกมาแฉว่า วรวีร์ มะกูดี เป็น 1 ในบอร์ดฟีฟ่า ที่ทำการขายเสียงในการโหวตเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 โดยเบื้องหน้าคือให้อังกฤษมาเตะอุ่นเครื่องกับทีมชาติไทย แต่เบื้องหลังคือขอลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดเกมอุ่นเครื่องนัดนี้ไปทั่วโลก แลกกับการโหวตให้ประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก
  • 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 - ทำทีมชาติไทยตกรอบฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โดยนัดสุดท้ายในรอบคัดเลือกทีมชาติไทยมีโอกาสเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย แต่ทำไม่สำเร็จ ภายหลังการแข่งขัน วินฟรีด เชเฟอร์ ผู้จัดการชาวเยอรมนีของไทย ฟุตบอลไทย ถ้าหากว่า อยากจะประสบความสำเร็จก็คือ การเตรียมทีมและการบริหารจัดการ ก่อนการมาเตะที่โอมาน เราทราบกันดีแล้วว่า เราไม่พร้อมและนักเตะมาซ้อมกันน้อยมาก ผลจึงออกมาเป็นแบบนี้ “มองเห็นศักยภาพอยู่ว่า เราจะก้าวขึ้นไปสุดยอดแห่งเอเชียได้ แต่ต้องแก้ไขที่ระบบการบริหารจัดการทั้งหมด” วินนี่ กล่าว นอกจากนี้ ยังมีการปูดข่าวการทำงานอีกด้วยว่าสมาคมฟุตบอลไม่ได้ส่งชื่อของ สมภพ นิลวงศ์ ให้กับฝ่ายจัดการแข่งขัน ทำให้เดินทางไปฟรี ไม่สามารถที่จะลงช่วยทีมได้[28]
  • 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 - บริษัทแดอัน21 ได้ฟ้องแพ่งต่อสมาคมฟุตบอลและนายวรวีย์ มะกูดี ในข้อหาฉ้อโกงเงิน 29,760,636.87 บาท โดยเมื่อเดือนเมษายน 2550 นายวรวีย์ได้ทำสัญญามอบการบริหารสิทธิ์ประโยชน์ของสมาคมฟุตบอล ให้กับบริษัทแห่งนี้ ต่อมาบริษัทแห่งนี้ได้โอนเงินให้สมาคมฟุตบอล แต่ก็ไม่ได้สิทธิ์เข้าไปบริหารสิทธิ์ประโยชน์ จึงได้ฟ้องแพ่งเพื่อขอเงินคืน[29]
  • 19 กันยายน พ.ศ. 2555 - นายวรวีร์ มะกูดี ได้แถลงข่าวแก้ข้อกล่าวหา ในเรื่องการยกที่ดินบริเวณพื้นที่หนองจอก ให้สมาคมฟุตบอลทำศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ โดยนำโฉนด 3 ฉบับ มีเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา มาแสดงว่าได้ยกให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยจริง ๆ[30]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย