สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส

(เปลี่ยนทางจาก สนธิสัญญาตอร์เดซียัส)

สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (สเปน: Tratado de Tordesillas; โปรตุเกส: Tratado de Tordesilhas) ได้รับการลงนามที่ตอร์เดซิยัสเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 เพื่อแบ่งเขตอิทธิพลในดินแดนที่ค้นพบใหม่นอกยุโรประหว่างจักรวรรดิโปรตุเกสกับราชบัลลังก์กัสติยา (ต่อมาคือจักรวรรดิสเปน) โดยใช้เส้นสมมุติที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะกาบูเวร์ดีไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะ 370 ลีก[note 1] เส้นสมมุติดังกล่าวพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางระหว่างกาบูเวร์ดีซึ่งขณะนั้นตกเป็นของโปรตุเกสแล้ว กับกลุ่มเกาะที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้สำรวจพบในการเดินทางครั้งแรก (ปัจจุบันเรียกว่าคิวบาและฮิสปันโยลา) และอ้างสิทธิ์ให้แก่กัสติยา

สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส
หน้าแรกของสนธิสัญญาฉบับที่โปรตุเกสเป็นเจ้าของ
สร้าง7 มิถุนายน ค.ศ. 1494
ในตอร์เดซิยัส กัสติยา
ให้สัตยาบัน2 กรกฎาคม ค.ศ. 1494 ในกัสติยา
5 กันยายน ค.ศ. 1494 ในโปรตุเกส
ที่ตั้งหอจดหมายเหตุอินดีส (สเปน)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติโตรึดูตงบู (โปรตุเกส)
ผู้เขียนสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (สมเด็จพระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2 ทรงให้สัตยาบันใน ค.ศ. 1506)[1]
ผู้ลงนามพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน
สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา
เจ้าชายฆวนแห่งอัสตูเรียส
พระเจ้าฌูเวาที่ 2 แห่งโปรตุเกส[2]
วัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทางการค้าและการแสวงหาอาณานิคมในดินแดนที่ค้นพบใหม่ทั้งหมดของโลกที่ตั้งอยู่ระหว่างกัสติยากับโปรตุเกส (ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นสเปนกับโปรตุเกส)
เส้นแบ่งโลกที่ไม่ใช่คริสเตียนระหว่างกัสติยากับโปรตุเกส ได้แก่ เส้นเมริเดียนตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ค.ศ. 1494 (สีม่วง) และเส้นเมริเดียนฝั่งตรงข้ามตามสนธิสัญญาซาราโกซา ค.ศ. 1529 (สีเขียว)

ดินแดนทางตะวันออกของเส้นแบ่งเขตจะเป็นของโปรตุเกส ส่วนดินแดนทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตจะเป็นของกัสติยา ฝ่ายกัสติยาให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ที่อาเรบาโลในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1494 และฝ่ายโปรตุเกสให้สัตยาบันที่ซึตูบัลในวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน[3] อีกด้านหนึ่งของโลกถูกแบ่งเขตในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมาตามสนธิสัญญาซาราโกซาซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1529 โดยระบุเส้นสมมุติตรงข้ามเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ปัจจุบันคู่ฉบับของสนธิสัญญาทั้งสองได้รับการเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุอินดีสที่เซบิยา และในหอจดหมายเหตุแห่งชาติโตรึดูตงบูที่ลิสบอน[4]

สเปนและโปรตุเกสปฏิบัติตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้ค่อนข้างดีแม้ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีความรู้ทางภูมิศาสตร์ของ "โลกใหม่" เท่าไรนัก การกำหนดเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญานี้ส่งผลให้เกิดอาณานิคมที่มีชื่อว่า "บราซิล" ขึ้นเนื่องจากปลายด้านตะวันออกของทวีปที่ค้นพบใหม่ตกอยู่ในเขตอิทธิพลโปรตุเกส[5] อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้ละเลยชาติมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ทั้งหมด ชาติเหล่านั้นจึงมักเพิกเฉยต่อสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่กลายเป็นโปรเตสแตนต์หลังการปฏิรูปโปรเตสแตนต์

สนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อ ค.ศ. 2007

สนธิสัญญามาดริด

ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1750 พระเจ้าฌูเวาที่ 5 แห่งโปรตุเกส และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 6 แห่งสเปนทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญามาดริด หลังจากที่โปรตุเกสและสเปนพยายามกำหนดเขตแดนระหว่างบราซิลกับอเมริกาของสเปนขึ้นใหม่ โดยยอมรับว่าการแบ่งเขตตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสใน ค.ศ. 1494 นั้นได้ถูกแทนที่ไปแล้วและถือเป็นโมฆะ ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ สเปนจะได้รับการยอมรับอธิปไตยเหนือฟิลิปปินส์ในขณะที่โปรตุเกสจะได้ดินแดนแถบลุ่มน้ำแอมะซอน โปรตุเกสจะต้องสละอาณานิคมซากราเม็งตูทางฝั่งเหนือของริโอเดลาปลาตา (ปัจจุบันอยู่ในอุรุกวัย) แต่ก็จะได้รับดินแดนนิคมเยซุอิตทั้งเจ็ด (ปัจจุบันอยู่ในบราซิล)[6]

เชิงอรรถ

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย