สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ หรือ สงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย[5] เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างราชวงศ์ตองอูแห่งพม่ากับอาณาจักรอยุธยา และเป็นสงครามพม่า–ไทยครั้งแรกซึ่งจะดำเนินมาจนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สงครามนี้ขึ้นชื่อว่านำมาซึ่งการสงครามสมัยใหม่ตอนต้นในภูมิภาค และขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์ไทยว่าสมเด็จพระสุริโยทัยสมเด็จพระราชินีสวรรคตในยุทธหัตถี

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

เส้นทางการเดินทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
วันที่พ.ศ. 2090–2092
สถานที่
ภาคตะวันออกและใต้ของพม่า ภาคตะวันตกและภาคกลางของอาณาจักรอยุธยา
ผล

พม่าชนะ

พระมหาจักรพรรดิยอมเข้าสวามิภักดิ์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เพื่อแลกกับพระราชบุตรเขยและพระราชบุตรที่ถูกจับตัว
คู่สงคราม

อาณาจักรตองอู

  • กองทัพอังวะ
  • กองทัพแปร
  • กองทัพมอญ
  • กองทัพหงสาวดี
  • ทหารรับจ้างโปรตุเกส

อาณาจักรอยุธยา

  • กองทัพอยุธยา
  • กองทัพพิษณุโลก
  • ทหารรับจ้างโปรตุเกส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
มหาอุปราชาบุเรงนอง
พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 แห่งแปร
เจ้าลครอินทร์
เมงเยสีหตู
ดีโยกู ซูวารึช
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สมเด็จพระสุริโยทัย 
พระบรมดิลก 
พระราเมศวร (เชลย)
พระมหินทราธิราช
สมเด็จพระมหาธรรมราชา (เชลย)
Galeote Pereira
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองทัพพม่า
ทหารรับจ้างโปรตุเกส
กองทัพไทย
ทหารรับจ้างโปรตุเกส
กำลัง

2090–2092[1][note 1]12,000 นาย

  • ทัพบก: ทหาร 8000 นาย, ม้า 200 ตัว, ช้าง 20 เชือก
  • ทัพเรือ: ทหาร 4000 นาย (เรือรบ 30 ลำ, เรือใหญ่ 10 ลำ)

2091–2092

  • เริ่ม: ทหาร 12,000 นาย, ม้า 1680 ตัว, ช้าง 48 เชือก[2]
  • ยุทธการที่อยุธยา: ทหาร 10,000+ นาย, ม้า 200+ ตัว, ช้าง 20+ เชือก[3]
  • ยุทธการที่กำแพงเพชร: ทหาร 11,500 นาย, ม้า 500 ตัว, ช้าง 25 เชือก[4]

2090–2091[note 2]
6000 นาย


2091–2092

ไม่ทราบ

เหตุแห่งสงครามมีว่าพม่าพยายามขยายดินแดนไปทางทิศตะวันออกหลังมีความวุ่นวายทางการเมืองในอยุธยา ตลอดจนพยายามหยุดการรุกล้ำเข้าชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนของอยุธยา พม่าว่าสงครามนี้เริ่มในเดือนมกราคม 2090 เมื่อกำลังของอยุธยาพิชิตเมืองชายแดนทวาย ในปีเดียวกันกองทัพพม่านำโดยแม่ทัพเจ้าลครอิน ยึดฝั่งตะนาวศรีตอนบนลงไปถึงทวายคืนได้ ในปีถัดมาคือ ตุลาคม 2091 กองทัพพม่าสามกองโดยมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และอุปราชบุเรงนองเป็นผู้นำบุกอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์ กองทัพพม่าเจาะลึกถึงพระนครอยุธยาแต่ไม่อาจหักเอานครที่มีป้อมปราการหนาแน่นได้ หนึ่งเดือนหลังเริ่มล้อม การตีโต้ตอบของอยุธยาแก้การล้อมได้และขับกำลังฝ่ายบุกครอง แต่พม่าเจรจาการถอยทัพอย่างปลอดภัยโดยแลกกับการคืนองค์เจ้านายสำคัญสองพระองค์ คือ พระราเมศวร พระรัชทายาท และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งพิษณุโลก ที่ถูกจับเป็นเชลย

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะที่ไม่เด็ดขาด จึงได้นำไปสู่การบุกครองอีกครั้งในสงครามช้างเผือก รัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ใน พ.ศ. 2106 และสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2112 ตามลำดับ

เบื้องหลัง

ความรุ่งเรืองของราชวงศ์ตองอู

พม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แบ่งออกเป็นสี่ศูนย์อำนาจ ได้แก่ ราชอาณาจักรอังวะในพม่าตอนกลาง อาณาจักรหงสาวดี ณ ชายฝั่งทิศใต้ อาณาจักรมเยาะอู้ (อาระกัน) ทางทิศตะวันตก และรัฐฉานต่าง ๆ ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1480 (ประมาณ พ.ศ. 2023) อังวะเริ่มแตกสลายเป็นราชอาณาจักรที่เล็กลง เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 โมนยีน อดีตเมืองขึ้นของอังวะ และพันธมิตร สมาพันธ์รัฐฉานทางทิศเหนือและอาณาจักรปยี (แปร) ทางทิศใต้ ตีโฉบฉวยดินแดนของอดีตเจ้าบรรณาการอยู่เป็นนิจโดยบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น[6]

ระหว่างสมัยความวุ่นวายนี้ เมงจีโยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการตองอู ภูมิภาคเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ตะวันออกเฉียงใต้ของราชอาณาจักรอังวะประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2033 และหลบการสู้รบภายใน ปีต่อ ๆ มาเมื่ออังวะเสียแก่กำลังผสมของสมาพันธ์รัฐฉานและปยีใน พ.ศ. 2070 ประชาชนจำนวนมากหลบหนีไปตองอูซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวในพม่าตอนบนที่ยังสงบอยู่[7][8]

ใน พ.ศ. 2074 พระเจ้าเมงจีโยเสด็จสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้สืบราชสมบัติจากพระราชบิดาเป็นพระมหากษัตริย์ตองอู เสถียรภาพของตองอูยังดึงดูดกำลังคนจากภูมิภาคแวดล้อม โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2076 เมื่อสมาพันธ์รัฐฉานโจมตีปยี (แปร) อดีตพันธมิตร บัดนี้ตองอูที่ขนาดยังเล็กเป็นราชอาณาจักรที่มีชาติพันธุ์พม่าเป็นผู้นำเพียงแห่งเดียว รายล้อมด้วยราชอาณาจักรที่ใหญ่กว่ามาก โชคดีแก่ตองอูที่สมาพันธ์รัฐฉานถูกรบกวนจากข้อพิพาทผู้นำภายใน และราชอาณาจักรหงสาวดี ซึ่งขณะนั้นเป็นราชอาณาจักรทรงพลังที่สุดในบรรดาราชอาณาจักรยุคหลังราชวงศ์พุกามมีผู้นำอ่อนแอ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตัดสินพระทัยไม่คอยที จนราชอาณาจักรใหญ่เป็นฝ่ายหันความสนใจมายังพระองค์

ใน พ.ศ. 2077 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และอุปราชาบุเรงนองซึ่งขณะนั้นมีอายุ 18 ปีทั้งคู่เปิดฉากการทัพแรกต่อราชอาณาจักรหงสาวดี การทัพนั้นเป็นชุดสงครามโดยกองทัพตองอูซึ่งจะดำเนินสืบเนื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ทางตะวันตกและกลางไปอีก 80 ปีข้างหน้า ใน พ.ศ. 2081–2082 ตองอูที่เพิ่งตั้งตนยึดกรุงพะโคเมืองหลวงของราชอาณาจักรหงสาวดีได้ และยังยึดเมืองมะตะบันและมะละแหม่งได้อีกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2084[9][10] จึงเป็นครั้งแรกที่พม่าและอยุธยามีพรมแดนติดต่อกันในชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน

อีกหกปีถัดมา ตองอูง่วนสู้รบกับพันธมิตรของอาณาจักรหงสาวดี ได้แก่ ปยี (แปร) (พ.ศ. 2085) สมาพันธ์รัฐฉาน (พ.ศ. 2085–2087) และพันธมิตรของปยีคือ มรัคอู (อาระกัน) (พ.ศ. 2089–2090) ในปี พ.ศ. 2090 ก่อนสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ตองอูควบคุมภูมิภาคพม่าตอนล่างตั้งแต่พุกามทางทิศเหนือจดมะละแหม่งในทิศใต้[9][10]

ความวุ่นวายในอยุธยา

ซากปรักหักพังของพระราชวังในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเจดีย์พระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยู่ด้านหลัง

สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งชิงอำนาจมาจากราชวงศ์อู่ทองใน พ.ศ. 1952 พระองค์เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2076 หลังจากทรงแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระรัษฎาธิราชพระชนมายุ 5 พรรษา ซึ่งทรงครองราชย์เพียง 4 เดือน[11] ยุวกษัตริย์นั้นถูกสำเร็จโทษ[12] พระราชบิดาของพระรัษฎาธิราช คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทรงเป็นกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ. 2089 หลังจากทรงครองราชย์มาเป็นระยะเวลา 13 ปี พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมา คือ พระยอดฟ้า[13]

เนื่องจากพระยอดฟ้าเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระราชมารดา ท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงทรงสำเร็จราชการแทน โดยพระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์อู่ทอง พระอุปราชและกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระเฑียรราชา ก็ทรงมีสิทธิ์ในอำนาจผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในราชสำนักกับท้าวศรีสุดาจันทร์จึงทรงออกผนวชเสีย[13] มีผู้กล่าวว่าแม้ก่อนสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงผิดประเวณีกับขุนชินราช ผู้ซึ่งเป็นผู้รักษาหอพระข้างในหรือหอพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยา เฟอร์เนา เมนเดส ปินโต นักสำรวจชาวโปรตุเกสร่วมสมัย บันทึกข่าวลือซึ่งอ้างว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงลอบวางยาพิษพระสวามีของตนเพื่อยึดราชบัลลังก์ และอาจเป็นไปเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองที่ล่มไปแล้วใหม่ หลักฐานซึ่งสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้ คือ การที่พระนางทรงประหารชีวิตขุนนางที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมทั้งพระยามหาเสนา และทรงแต่งตั้งคนที่พระนางโปรดแทน[14] มีบันทึกเช่นกันว่า พระนางมีพระครรภ์แก่แล้วและอีกไม่ช้าจะประสูติพระธิดา เมื่อทรงเห็นว่าไม่อาจเก็บความลับนี้ได้แล้ว ใน พ.ศ. 2091 พระนางจึงรัฐประหาร ถอดพระโอรสของพระองค์ออกจากราชบัลลังก์และยกชู้รักของตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 1548[14] ทรงพระนามว่า สมเด็จพระวรวงศาธิราช มีการกล่าวว่าพระยอดฟ้าทรงถูกสำเร็จโทษหรือถูกพระราชมารดาวางยาพิษด้วย[15]

รัชกาลขุนวรวงศาธิราชสั้นมาก ภายใน 42 วัน เจ้านายและขุนนางของรัฐจำนวนมากวางแผนถอดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ผู้สมคบคิดนำโดยขุนพิเรนทรเทพ ผู้สืบเชื้อสายพระมหากษัตริย์สุโขทัยจากฝั่งพระบิดา และมีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราชทางพระมารดา[15] แผนลอบปลงพระชนม์เป็นการล่อขุนวรวงศาธิราชจากพระราชวังไปยังป่าโดยกราบทูลว่าจะไปจับช้าง และเมื่อพระมหากษัตริย์ ท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดาของทั้งสองเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือประทับ ขุนพิเรนทรเทพและผู้สมคบคิดก็ลอบปลงพระชนม์ทั้งสามเสีย[16][17] พระเฑียรราชาได้ทรงรับเชิญให้สึกและสืบราชบัลลังก์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[18] พระราชกรณียกิจแรก ๆ ของพระองค์ คือ ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัย (ขณะนั้นเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา) ให้ไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ไม่นานหลังจากนั้น ขุนพิเรนทรเทพทรงได้รับสมัญญานามสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และทรงได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์เป็นอัครมเหสี[19][20]

ตะนาวศรี (พ.ศ. 2090–2091)

สงครามอุบัติใน พ.ศ. 2090[21] เหตุแห่งสงครามระบุว่าเป็นความพยายามของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่าเพื่อขยายอาณาเขตไปทางทิศตะวันออกหลังวิกฤตการณ์การเมืองในกรุงศรีอยุธยา[20] ตลอดจนความพยายามหยุดการรุกล้ำของอยุธยาเข้าชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน พงศาวดารพม่าระบุว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2090[note 3] ทหารอยุธยา 6,000 นายยึดเมืองทวายในชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนซึ่งพระองค์ถือเป็นพระราชอาณาเขตของพระองค์ เมื่อชายแดนในยุคก่อนสมัยใหม่มีการนิยามน้อยกว่าและมักทับซ้อนกัน[22] "การยึดครอง" ดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นความพยายามของอยุธยาที่จะเสริมกำลังเมืองชายแดนที่ตองอูอ้างสิทธิ์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงส่งทหารขนาดใหญ่พอสมควร 12,000 นาย (ทัพบก 8,000 ทัพเรือ 4,000) โดยมีเจ้าลครอิน อุปราชแห่งมะตะบัน เป็นผู้นำมาชิงทวายเมื่อประมาณเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน พ.ศ. 2090[note 4] การโจมตีร่วมทัพบก-ทัพเรือต่อทวายขับกองทัพอยุธยาซึ่งมีเจ้าเมืองกาญจนบุรีเป็นผู้นำไปตะนาวศรีตอนล่าง[23]

การบุกครองอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 2091–2092)

แผนที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย แสดงเมืองที่ถูกกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยึด ผังเมืองกรุงศรีอยุธยาและคลองที่แวดล้อมอยู่ทางด้านขวาล่าง

แผนการรบพม่า

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังไม่สมพระทัย และทรงวางแผนการบุกครองอาณาจักรอยุธยา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2091 พระองค์ทรงรวบรวมกองทัพอีก 12,000 นาย[2] ซึ่งมีทหารรับจ้างโปรตุเกสรวมอยู่ด้วยประมาณ 400 นาย ซึ่งมีดิเอโก โซอาริส (Diogo Soares) เป็นผู้นำ[24] ส่วนพงศาวดารอยุธยาระบุว่ากองทัพพม่ามีกำลังพลทหารราบ 300,000 นาย ม้า 3,000 ตัว และช้างศึก 700 เชือก[25] กำลังบุกครองใช้อาวุธตามแบบในสมัยนั้น ได้แก่ ดาบ ธนูและหอก[26] ส่วนทหารยอดฝีมือจะถือปืนคาบชุดหรือปืนคาบศิลา[27] ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำอาวุธสมัยใหม่ตอนต้นเหล่านี้มายังราชอาณาจักรทั้งสองไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงบังคับบัญชากองทัพด้วยพระองค์เองและประชุมพลที่มะตะบัน (เมาะตะมะ)[28] กำลังบุกครองมีการจัดระเบียบเป็นสามกองทัพหลัก ได้แก่ ทัพหน้ามีบุเรงนองเป็นผู้นำ ทัพหลวงมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เป็นผู้นำ และทัพหลังมีพระตะโดธรรมราชาและเมงจีสเวเป็นผู้นำ แต่ละกองมีกำลัง 4,000 นาย[2] เส้นทางบุกครองคือผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ไปกาญจนบุรี แล้วไปกรุงศรีอยุธยา

เริ่มบุกครอง

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2091 กองทัพพม่าสามกองออกจากมะตะบันเพื่อเริ่มการบุกครอง กองทัพเลาะแม่น้ำอัตทะรันมุ่งด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามแม่น้ำแควน้อยถึงเมืองไทรโยค แล้วยกตัดแผ่นดินมุ่งแม่น้ำแควใหญ่ จากที่นั่น กองทัพล่องเรือมุ่งเมืองกาญจนบุรี[29] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสด็จพระราชดำเนินโดยมีข้าราชบริพารและช้างจำนวนมหาศาล ช้างเหล่านี้หลายเชือกบรรทุกปืนคาบศิลาและปืนใหญ่บรอนซ์ซึ่งเก็บรักษาใกล้องค์พระมหากษัตริย์ ช้างหลวงถูกขนแพข้ามแม่น้ำ ส่วนช้างศึกธรรมดาเดินทวนน้ำไปบริเวณจุดข้าม พระองค์ทรงมีบุเรงนอง มกุฎราชกุมาร และนันทบุเรง พระโอรสวัย 13 พรรษาของบุเรงนอง และขุนนางที่แต่งกายหรูหราหลายคนตามเสด็จ คนงานหลายร้อยคนเดินล่วงหน้าข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ เพื่อตั้งค่ายไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการลงสีและเลื่อนสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ และมีการรื้อและตั้งค่ายที่ตำแหน่งใหม่ทุกวัน[24]

การบุกครองทีแรกเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อย เพราะกองทัพพม่าใหญ่เกินด่านยามเล็ก ๆ ตามพรมแดน[18] เมื่อทรงทราบข่าวการบุกครองของพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงระดมพลราชอาณาจักรของพระองค์ แล้วประชุมทัพที่เมืองสุพรรณบุรีที่อยู่ทิศตะวันตกติดกับกรุงศรีอยุธยา[30] เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และทัพของพระองค์มาถึงเมืองกาญจนบุรีที่มีกำแพงล้อม ก็พบว่าเมืองถูกทิ้งร้าง[31] ประมาณหนึ่งเดือนหลังบุกครอง กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2091[note 5] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็เคลื่อนทัพต่อไปทางทิศตะวันออก ยึดบ้านทวน กะพังตรุและจรเข้สามพัน[31] พม่ายังรุกต่อและยึดเมืองโบราณอู่ทอง ตลอดจนหมู่บ้านดอนระฆังและหนองสาหร่ายและประชิดสุพรรณบุรี เมื่อพม่าโจมตีเมือง ฝ่ายอยุธยาที่ป้องกันต้านทานไว้ไม่อยู่และถอยกลับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงสั่งให้กองทัพยกไปตะวันออกเฉียงใต้ตามสองคลอง และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับพงแพง จากที่นั้นพระองค์ทรงตั้งค่ายเหนือพระนครกรุงศรีอยุธยาโดยตรงในทุ่งที่เรียก ทุ่งลุมพลี[31]

ยุทธการที่กรุงศรีอยุธยา

ชานพระนคร

ภาพสมเด็จพระสุริโยทัย (กลาง) บนหลังช้างทรง ขับช้างเข้าระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ขวาหลัง พระคชาธารมีฉัตร) และพระเจ้าแปร (ซ้าย) เป็นการเล่าตามประเพณีไทย จิตรกรรมโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ฝ่ายอยุธยามีอุบายตั้งรับภายในกำแพงพระนคร โดยกวาดต้อนพลเมืองที่อยู่บริเวณนอกเมืองให้เข้ามาอยู่ในพระนครให้ได้มากที่สุด และจัดทหารขึ้นประจำป้อมรอบกำแพง ซึ่งบนกำแพงมีป้อม 16 ป้อม และยังส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกไปตั้งค่ายรอบเมืองอีก 4 ค่าย

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตัดสินพระทัยยกทัพออกนอกพระนครเข้าประจัญกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และเพื่อลองกำลังของพม่า คราวนี้ พระองค์ทรงพระคชาธารส่วนพระองค์ โดยมีพระอัครมเหสี สมเด็จพระสุริโยทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาอ่อนพระองค์หนึ่ง พระบรมดิลก ตามเสด็จด้วย และทั้งสองทรงช้างศึกเชือกเล็กกว่า สตรีทั้งสองพระนางทรงเครื่องเป็นทหารอย่างชาย (หมวกเกราะและชุดเกราะ) โดยสมเด็จพระราชินีแต่งเครื่องแบบอุปราช นอกจากนี้ พระราเมศวร พระอุปราชและทายาทผู้มีสิทธิ์โดยตรง และพระมหินทร ราชโอรสอีกพระองค์ ก็ตามเสด็จด้วย[31][25]

เกิดการยุทธ์ตามมาแต่สองบันทึกเล่าต่างกัน พงศาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าจัดกองทัพซึ่งมีพระตะโดธรรมราชา อุปราชปยี (แปร) เป็นตัวล่อ และสองกองทัพคืบเข้าทางปีกเพื่อล้อมกองทัพอยุธยาที่ล้ำเกิน ซึ่งเป็นไปตามแผน ทหารทัพหน้าของอยุธยาไล่กองทัพของพระตะโดธรรมราชา ทำให้กองทัพของบุเรงนองที่คอยอยู่ทางปีกซ้ายล้อมทัพอยุธยาซึ่งต่อมาถูกกวาดสิ้น กองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ที่อยู่ปีกขวาขับทัพอยุธยาที่เหลือกลับเข้าพระนคร[32]

ทว่า ตามประเพณีไทย พระตะโดธรรมราชาและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิชนช้างกัน[note 6] พระคชาธารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีหันหนีจากข้าศึก พระตะโดธรรมราชารีบไล่หลังมา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงว่าพระสวามีจะเสด็จสวรรคต จึงขับช้างเข้าขวางระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและอุปราชแปร ทำให้ไม่สามารถไล่ต่อได้[25][33] จากนั้นอุปราชแปรหันมาต่อสู้กับสมเด็จพระสุริโยทัยในการสู้รบเดี่ยว อุปราชแปรใช้ของ้าวฟันพระนางตั้งแต่พระอังสา (ไหล่) ถึงพระหฤทัยสวรรคต ทั้งทำให้พระราชธิดาบาดเจ็บด้วย ทั้งมารดาและธิดาเสียชีวิตบนหลังคชาธารเชือกเดียวกัน[20][24][33] เล่ากันว่า อุปราชแปรไม่ทรงทราบว่าพระองค์กำลังรบกับสตรีอยู่จนพระองค์ทรงฟัน เมื่อพระนางสิ้นใจล้มลงนั้นหมวกเกราะที่ทรงอยู่หลุดออกเผยให้เห็นผมยาว พระราเมศวรและพระมหินทร์ทรงขับช้างเข้าต่อสู้กับอุปราช ขับอุปราชและทัพที่เหลืออยู่ออกจากทุ่ง แล้วนำพระบรมศพสมเด็จพระราชชนนีและพระขนิษฐภคินีกลับเข้ากรุง ขณะเดียวกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิรวบรวมกองทัพแล้วจึงถอยกลับพระนครอย่างมีระเบียบเช่นกัน[25][33] ทว่า พงศาวดารพม่ามิได้เอ่ยถึงการสู้รบใด ๆ ของอุปราชแปรเลย (ไม่ว่าบนหลังช้างหรืออย่างอื่น)[note 7]

ไม่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทัพอยุธยาที่เหลือถอนกลับไป พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงเตรียมกองทัพสำหรับล้อมกรุงศรีอยุธยา ค่ายของพระองค์ตั้งอยู่ทางเหนือของพระนครที่บ้านกุ่มดอง และแม่ทัพของพระองค์ตั้งค่ายอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยรอบกำแพงนคร โดยมหาอุปราชบุเรงนองตั้งค่ายที่พะเนียด พระเจ้าแปรตั้งค่ายที่บ้านใหม่มะขามหย่อง และพระยาพสิมตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งประเชด[33] ทว่า พม่าไม่สามารถหักเอาพระนครได้โดยง่าย[34]

การล้อม

กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกและใต้ และแม่น้ำป่าสักทางตะวันออก ถือว่าเป็นคูเมืองธรรมชาติที่มั่นคง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากเมื่อน้ำเชี่ยวกรากไหลปริมาณมากจากทิศเหนือตามแม่น้ำลพบุรี น้ำท่วมนี้จะเริ่มประมาณเดือนรกฎาคมและสิ้นสุดลงระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีเวลาห้าเดือนหักเอากรุงศรีอยุธยา หรือมิฉะนั้นพื้นที่ตั้งค่ายและเส้นทางส่งเสบียงจะถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่น้ำท่วมดังกล่าวจะทำให้กองทัพของพระองค์ติดกับ[30] พื้นที่ลุ่มเป็นหนองน้ำโดยรอบกรุงศรีอยุธยามีการขุดคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้เรือปืนที่ติดปืนใหญ่สามารถยิงขับไล่ความพยายามใด ๆ ที่จะโจมตีพระนคร[30] นอกจากนี้ ฝ่ายพม่านำเพียงปืนใหญ่ขนาดเล็กติดมา ขณะที่กรุงศรีอยุธยามีปืนใหญ่ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนกำแพงนคร[30][35]

พม่าล้อมนคร แต่ไม่สามารถข้ามแม่น้ำหรือเจาะกำแพงนครด้วยการยิงปืนใหญ่ ทำให้ต้องไปตั้งค่ายโดยรอบพระนครแทน ในขณะที่ทางน้ำซึ่งเชื่อมถึงกันจากเหนือถึงใต้ ทำให้การหากำลังบำรุงฝ่ายป้องกันในนครค่อนข้างง่าย ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส 50 นาย โดยมีกาลิโอเต เปเรราเป็นนายกอง ป้องกันส่วนที่อ่อนแอที่สุดของกำแพงนครให้พระมหากษัตริย์อยุธยา เนื่องจากฝ่ายพม่าไม่สามารถหักนครได้ตามแบบธรรมดา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงทรงเสนอติดสินบนทหารรับจ้างเหล่านี้ แต่ทหารรับจ้างโปรตุเกสดูถูกและปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เมื่อแม่ทัพอยุธยาทราบข่าว ก็เปิดประตูนครท้าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ให้นำเงินมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง[35]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถขับพม่าออกไปได้ จึงทรงส่งสารถึงพระมหาธรรมราชาที่พิษณุโลก มีพระบรมราชโองการให้ยกทัพลงใต้มาช่วย และหากเป็นไปได้ให้ประจัญบานข้าศึกในการรบด้วย พระมหาธรรมราชาระดมพลอย่างรวดเร็วและด้วยความช่วยเหลือของเจ้าเมืองสวรรคโลก กองทัพพิษณุโลกขนาดใหญ่เคลื่อนลงใต้เพื่อโจมตีกองทัพพม่าทางด้านหลัง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงทราบข่าว และด้วยการกราบบังคมทูลแนะนำของบุเรงนอง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตัดสินพระทัยถอนทัพ ละทิ้งความตั้งใจที่จะหักเอากรุงศรีอยุธยา[35] การตัดสินพระทัยของพระองค์ยังเกี่ยวเนื่องกับข่าวจากพม่าว่าพวกมอญซึ่งไม่เคยถูกราชวงศ์ตองอูปราบปรามทั้งหมด ก่อกบฏระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับ[25] ปัจจัยอื่นรวมไปถึงการขาดแคลนเสบียงและการเจ็บป่วยในกองทัพ ซึ่งมิได้เตรียมการรับการล้อมระยะยาว[34] และภายในหนึ่งเดือนหลังจากการล้อมเริ่มต้นขึ้น (ราวเดือนเมษายน) พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถอนทัพ[36][35][37]

การถอยทัพ

ภาพจากจังหวัดตากมองไปยังหุบเขาของรัฐฉาน ไม่ไกลจากด่านแม่ละเมา ซึ่งกองทัพพม่าใช้เป็นเส้นทางถอยทัพ

ทัพพม่าเลือกถอยไปทางด่านแม่ละเมา (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) ระหว่างการถอย ทัพพม่าพยายามปล้นเมืองกำแพงเพชรที่เก่าแก่และมั่งคั่ง แต่เมืองนั้นมีการป้องกันหนาแน่นเกินไป ด้วยการช่วยเหลือของทหารรับจ้างโปรตุเกส เจ้าเมืองก็ขับทัพพม่าด้วยกระสุนเพลิงที่บีบให้พม่าเลือกใช้ปืนใหญ่และป้องกันโดยใช้หนังสัตว์ชื้นคลุม[35]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าการถอยทัพของพม่าเป็นโอกาสฉวยโอกาสในยามอ่อนแอ จึงรับสั่งให้พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาติดตามและก่อกวนข้าศึกออกจากแผ่นดินอยุธยา[34] เป็นเวลาสามวัน ทัพอยุธยาขับไล่ผู้รุกราน และทำให้พม่าสูญเสียใหญ่หลวง[36][37] เมื่อทัพพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาเข้ามาใกล้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงปักหลักใกล้กำแพงเพชร โดยแบ่งทัพออกถนนสองข้าง ฝ่ายอยุธยาที่กำลังระเริงตกหลุมพราง พม่าจับทั้งพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาเป็นเชลยศึกได้ทั้งสองพระองค์[36][35][38]

การได้ตัวทั้งสองพระองค์เป็นการบีบบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระองค์ทรงมอบช้างศึกสองเชือก ได้แก่ ช้างพลายศรีมงคลและช้างพลายมงคลทวีปเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน[39] จากนั้น กองทัพพม่าจึงได้ถอยทัพกลับโดยสันติ นอกเหนือจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังได้ปล่อยตัวเชลยศึกอีกจำนวนมากที่ได้ถูกจับตัวไว้ระหว่างการทัพ[38][40] การทัพดังกล่าวเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในเวลาห้าเดือน[36]

การพักรบ

การจับองค์พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ฝ่ายอยุธยาพลันส่งทูตที่นำของกำนัลเสนอการถอยทัพอย่างสันติแลกกับเจ้าสองพระองค์[38][41] เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิถูกบังคับให้ทรงมอบพระคชาธารสองเชือกแก่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ คือ พลายศรีมงคลและพลายมงคลทวีปซึ่งเป็นช้างชนะงา[39] เมื่อมีการส่งมอบช้างแล้ว ทัพพม่าจึงถอยไปอย่างสงบ นอกเหนือจากเจ้าสองพระองค์แล้ว พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังทรงปล่อยเชลยอีกหลายคนที่ถูกจับระหว่างการทัพด้วย[38][41] ตามบันทึกของพม่า พระมหากษัตริย์อยุธยายังทรงตกลงให้ของกำนัลเป็นช้าง 30 เชือก เงินจำนวนหนึ่งและอากรศุลกากรจำนวนหนึ่ง[42]

หลังสนธิสัญญา พระมหากษัตริย์พม่าทรงพักแปดวัน แล้วเสด็จกลับพะโค พระองค์เสด็จถึงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2082[43]

หลังสงคราม

พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตามพงศาวดารพม่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร ก็เสวยแต่น้ำจัณฑ์และละทิ้งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ[36][40] ทำให้พระมหาอุปราชาบุเรงนองจำเป็นต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน[38] ใน พ.ศ. 2092 เมื่อบุเรงนองออกจากเมืองหลวงเพื่อปราบปรามกบฏมอญทางใต้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์และได้มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน[44] ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ แข็งข้อขึ้น ซึ่งทำให้บุเรงนองต้องใช้เวลากว่าห้าปีในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น จนเสร็จสิ้นเมื่ออังวะถูกยึดใน พ.ศ. 2097[45]

สงครามนี้เป็นสงครามแรกระหว่างพม่ากับไทยซึ่งยืดเยื้อมาจนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่กรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกต่างด้าวโจมตี[39]

ตามหลักฐานของไทย ฝ่ายอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่สวนหลวง แล้วสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน คือ วัดสบสวรรค์ สถูปขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเก็บพระอัฐิของสมเด็จพระสุริโยทัย ถูกเรียกว่า เจดีย์พระศรีสุริโยทัย[33] แต่ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระองค์ขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย แต่ตัวตนและความเสียสละของพระองค์ยังเป็นหัวข้อที่ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เนื่องจากความจริงที่ว่าพระนามของพระองค์มิได้ถูกกล่าวถึงหรือบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่าเลย[46] และข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ถูกคัดมาจากบางตอนของจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยาและการบรรยายของนักสำรวจชาวโปรตุเกส โดมิงโก ซีซัส[47]

อนุสรณ์สถานสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทรงช้างออกรบสงคราม

ผลของสงครามทำให้มีการเสริมการป้องกันของอยุธยาให้เข้มแข็งขึ้น เช่น กำแพงและป้อมแข็งแกร่งขึ้น และปรับปรุงกิจการทหารและทำนุบำรุงสภาพบ้านเมืองให้แข็งแกร่ง โดยมีการก่อกำแพงอิฐรอบตัวพระนครกรุงศรีอยุธยาแทนเชิงเทินดินปักไม้แบบเดิม กำหนดหัวเมืองขึ้นใหม่ 3 หัวเมือง โดยยกบ้านตลาดขวัญเป็นเมืองนนทบุรี ยกบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี และรวมดินแดนบางส่วนของราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองนครชัยศรี ทรงเตรียมเรือเพิ่ม และจัดการคล้องช้างป่าเพื่อใช้ในการสงครามเพิ่มเติม[48] โดยในเวลา 3 ปี สามารถจับช้างเผือกได้ถึง 6 ช้าง ทำให้อยุธยามีช้างเผือกรวม 7 ช้าง[49] รวมทั้งการทำบัญชีบันทึกทหารทั้งปวง และขนาดของกองทัพเรือยังได้เพิ่มมากขึ้นด้วย[50][51]

ชัยชนะของอยุธยาครั้งนี้ทำให้พม่าได้ประสบการณ์สำคัญในการยุทธ์กับอยุธยาในอนาคต การบุกครองครั้งต่อไปเกิดในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ผู้คุ้นเคยกับการรบกับชาวอยุธยาและการเคลื่อนทัพผ่านภูมิประเทศของอาณาจักรอยุธยา[52] ความไม่สงบภายในพม่าชะลอการบุกครองครั้งต่อไปออกไป 15 ปี จนสงครามช้างเผือก (พ.ศ. 2106–2107)[39]

ในสื่อ

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ชื่อว่า "สุริโยไท" ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 กำกับโดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เนื้อหาในภาพยนตร์กล่าวถึงตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่สงครามและยุทธหัตถีซึ่งนำไปสู่การสวรรคตของสมเด็จพระสุริโยทัย ภาพยนตร์ใช้ต้นทุนสร้าง 350 ล้านบาท

เชิงอรรถ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Cocks, S. W. (1919). A Short History of Burma (at www.archive.org) (Second ed.). London: Macmillan and Co.
  • Damrong Rajanubhab, Prince Disuankumaan (2001) [1917]. Our Wars with the Burmese: Thai-Burmese Conflict 1539–1767. แปลโดย Baker, Chris. Thailand: White Lotus Co. Ltd. ISBN 974-7534-58-4.
  • Fernquest, Jon (Autumn 2005). "Min-gyi-nyo, the Shan Invasions of Ava (1524–27), and the Beginnings of Expansionary Warfare in Toungoo Burma: 1486–1539". SOAS Bulletin of Burma Research. 3 (2). ISSN 1479-8484.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • Jirattikorn, Amporn (August 2003). "Suriyothai: Hybridizing Thai National Identity Through Film". Inter-Asia Cultural Studies. 4 (2): 296–308. doi:10.1080/1464937032000113015. S2CID 145109859.
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Quaritch Wales, Horace Geoffrey (1952). Ancient South-east Asian Warfare. London: Bernard Quaritch Ltd.
  • Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  • Sein Lwin Lay, Kahtika U (1968). Mintaya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (ภาษาพม่า) (2006, 2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
  • Wood, William A. R. (1924). History of Siam. Thailand: Chalermit Press. ISBN 1-931541-10-8.
  • หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดย สำนักพิมพ์แสงดาว-สร้อยทอง (พ.ศ. 2544) ISBN 974-87895-7-8
🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย