พัวร์เลอเมรีท

เครื่องอิสริยาภรณ์ปรัสเซีย-เยอรมัน

พัวร์เลอเมรีท (เยอรมัน: Pour le Mérite,[1] ออกเสียง: [puːɐ̯ lə meˈʀiːt]) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปรัสเซีย สถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1740 โดยพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย[2] เพื่อมอบเป็นบำเหน็จความชอบแก่พลเรือนและทหาร ถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงสุดของราชอาณาจักรปรัสเซีย ต่อมาเมื่อรัฐชาติเยอรมันรวมตัวกันเป็นจักรวรรดิเยอรมันใน ค.ศ. 1871 พัวร์เลอเมรีทก็กลายเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิเยอรมันซึ่งมีการพระราชทานกันในแว่นแคว้นต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิ

พัวร์เลอเมรีท (ค.ศ. 1740–1918)
พัวร์เลอเมรีทสำหรับวิทยาศาสตร์และศิลปะ (ค.ศ. 1842–ปัจจุบัน)

พัวร์เลอเมรีทถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีกฎระเบียบในการพระราชทานเคร่งครัดมาก ผู้ควรได้รับจำต้องมีผลงานเฉพาะตัวที่โดดเด่นเป็นพิเศษสมควรแก่การจดจำ ไม่ใช่ว่าทหารยศสูงทุกคนจะได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้

ประวัติ

พัวร์เลอเมรีทสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1740 เหตุที่ตั้งชื่อตามภาษาฝรั่งเศสก็เนื่องจากในยุคนั้น ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสากลที่นิยมใช้กันในราชสำนักของพระเจ้าฟรีดริชที่ 2[3] แรกเริ่มมีเพียงชั้นตราเดียวสำหรับทั้งทหารและพลเรือน[4] ในช่วงนี้มีพลเรือนเพียงสามคนที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น (หนึ่งในนั้นคือวอลแตร์) ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1810 ระหว่างสงครามนโปเลียน พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย ทรงออกกฎระเบียบให้มอบแก่นายทหารเท่านั้น

สำหรับนายทหาร

ใน ค.ศ. 1866 มีการสถาปนาพัวร์เลอเมรีทชั้นพิเศษ มหากางเขน (Großkreuz) เพื่อพระราชทานแก่นายทหารผู้ที่การกระทำของเขาผู้นั้นเป็นผลให้กองทัพข้าศึกถอนทัพ หรือส่งผลให้กองทัพข้าศึกถูกทำลายราบคาบ ซึ่งมีเพียงบุคคลห้าท่านเท่านั้นที่ได้รับพระราชทาน ได้แก่ พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 (ค.ศ. 1866), มกุฎราชกุมารฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม (ค.ศ. 1873), เจ้าชายฟรีดริช คาร์ล แห่งปรัสเซีย (ค.ศ. 1873), ซาร์อะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (ค.ศ. 1878) และเฮ็ลมูท กราฟ ฟ็อน ม็อลท์เคอ (ค.ศ. 1879)[5]

พัวร์เลอเมรีทของทหารเป็นที่รู้จักในระดับสากลระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้ได้รับพระราชทานที่มีชื่อเสียงต่างเป็นนักบินของกองบินโจมตีอากาศ (Luftstreitkräfte) นักบินที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกได้มากกว่าแปดลำถือว่ามีคุณสมบัติได้รับพัวร์เลอเมรีท)[6] มัคส์ อิมเมิลมัน และอ็อสวัลท์ เบิลเคอ เป็นเสืออากาศสองรายแรกที่ได้รับมอบ พัวร์เลอเมรีทยังถูกมอบแก่มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน เสืออากาศเยอรมันที่มีสถิติสอยเครื่องบินข้าศึกมากที่สุดของโลกในตอนนั้น[6]

สมัยพระราชทานพัวร์เลอเมรีทชั้นทหารสิ้นสุดลงพร้อมกับการสละราชสมบัติของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

สำหรับพลเรือน

ใน ค.ศ. 1842 พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ได้รับคำแนะนำจากอเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ ให้สถาปนาพัวร์เลอเมรีทสำหรับพลเรือนที่เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์พัวร์เลอเมรีทสำหรับวิทยาศาสตร์และศิลปะ (Orden Pour le Mérite für Wissenschaften und Künste) แบ่งเป็นสามสาขาได้แก่ มนุษยศาสตร์, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิจิตรศิลป์ แต่ละสาขาครอบครองได้ทีละคน การจะมอบแก่คนใหม่ต้องรอให้คนเก่าเสียชีวิตก่อน

เชิงอรรถและอ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย