พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก หรือ วัลเดมาร์ อัทแทร์ดัก (เดนมาร์ก: Valdemar IV Atterdag; พระฉายานาม แปลว่า "ผู้กลับคืนมา"; ค.ศ. 1320 - 24 ตุลาคม ค.ศ. 1375) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ระหว่าง ค.ศ. 1340 ถึง 1375[1] พระองค์เป็นที่รู้จักจากการรวมประเทศเดนมาร์กกลับคืนมาได้ ซึ่งบอบช้ำกับภาวะล้มละลายและการจำนองประเทศเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการสงครามของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน

วัลเดมาร์ที่ 4
Knight of the Holy Sepulchre
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์กในศิลปะเฟรสโกร่วมสมัยภายในโบสถ์นักบุญปีเตอร์, เนสวึด
พระมหากษัตริย์เดนมาร์กและเวนด์
ครองราชย์24 มิถุนายน 1340 – 24 ตุลาคม 1375
ก่อนหน้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2
ถัดไปโอลาฟที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งชาวกอท
ครองราชย์1361–1375
ถัดไปโอลาฟที่ 2
ประสูติค.ศ. 1320
ทีคึบ, เฮลซิงเงอร์, ประเทศเดนมาร์ก
สวรรคต24 ตุลาคม ค.ศ. 1375(1375-10-24) (54–55 ปี)
ปราสาทกัวเรอ, เชลลันด์เหนือ, ประเทศเดนมาร์ก
ฝังพระศพครั้งแรกที่ปราสาทวอร์ดิงบอร์ก ครั้งที่สองที่โบสถ์ซอรือ
คู่อภิเษกเฮลวิกแห่งชเลสวิช (สมรส 1340; เสียชีวิต 1374)
พระราชบุตร
กับพระองค์อื่น ๆ...
พระนามเต็ม
วัลเดมาร์ คริสตอฟเฟอร์เซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดายูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย

ครองราชย์

พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กและยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย พระองค์ทรงใช้พระชนม์ชีพวัยเยาว์ในช่วงลี้ภัยอยู่ในราชสำนักของจักรพรรดิลูทวิชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในบาวาเรีย หลังจากพระราชบิดาของพระองค์พ่ายแพ้สงคราม และพระองค์สวรรคต ส่วนพระเชษฐาทั้งสองคือ อดีตยุวกษัตริย์อีริคและเจ้าชายอ็อทโทถูกคุมขัง ด้วยน้ำมือของพวกขุนนางฮ็อลชไตน์ พระองค์จึงเป็นผู้อ้างสิทธิราชบัลลังก์และพยายามเอาคืน[2]

ตามมาด้วยการลอบสังหารเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์คโดยนีลส์ เอ็บเบอเซนและน้องชายของเขา เจ้าชายวัลเดมาร์ได้รับการประกาศให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กที่มหาวิหารวีบอร์กในวันนักบุญจอห์น วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1340 โดยเอ็บเบอเซน พระองค์เสกสมรสกับเฮลวิกแห่งชเลสวิช บุตรีของอีริคที่ 2 ดยุกแห่งชเลสวิช และด้วยสิ่งที่พระราชบิดาทิ้งไว้ให้พระองค์ พระองค์สามารถควบคุมพื้นที่หนึ่งในสี่ของคาบสมุทรจัตแลนด์ทางตอนเหนือของแม่น้ำคองกือ พระองค์ไม่ได้ทรงถูกบังคับให้ลงนามในกฎบัตรเหมือนพระราชบิดา อาจเป็นเพราะเดนมาร์กไม่มีพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลาหลายปี และไม่มีใครคาดคิดว่ากษัตริย์พระชนมายุ 20 พรรษา จะสร้างปัญหาให้แก่ขุนนางมากกว่าในรัชสมัยของพระราชบิดาเสียอีก แต่กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เป็นกษัตริย์หนุ่มที่ชาญฉลาดและมีความมุ่งมั่น พระองค์ตระหนักว่าหนทางเดียวในการปกครองเดนมาร์กคือการเข้าควบคุมดินแดนด้วยพระองค์เอง เอ็บเบอเซนปลดปล่อยจัตแลนด์กลางออกจากพวกฮ็อลชไตน์ในการปิดล้อมที่ปราสาทซอนเดนบอร์กในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1340 แต่เอ็บเบอเซนและน้องชายถูกสังหารในการรบ

การจำนองเดนมาร์ก

ในรัชสมัยพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดา เดนมาร์กนั้นล้มละลายและถูกจำนองเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 ทรงพยายามหาทางชำระหนี้และทวงคืนที่ดินของเดนมาร์ก โอกาสแรกมาพร้อมกับสินสอดทองหมั้นของพระราชินีเฮลวิก พระมเหสี การจำนองในส่วนที่เหลือของจัตแลนด์เหนือได้รับการชำระหนี้โดยภาษีที่กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงเรียกเก็บจากชาวนาในทางตอนเหนือของแม่น้ำคองกือ ในปีค.ศ. 1344 พระองค์ทรงได้รับดินแดนฟรีเซียเหนือคืนมา ซึ่งพระองค์ทรงเรียกเก็บภาษีทันทีเพื่อชำระหนี้ในดินแดนทางตอนใต้ของจัตแลนด์ (7,000 เหรียญเงิน) ชาวนาที่ถูกเรียกเก็บภาษีมากเกินไปเริ่มไม่พอใจต่อระบบที่ต้องการเงินไม่สิ้นสุด[3]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหันไปยังเกาะเชลลันด์ บิชอปแห่งรอสกิลด์ ซึ่งเป็นเจ้าของปราสาทโคเปนเฮเกนและเมือง ได้ส่งมอบคืนพื้นที่ทั้งสองแก่กษัตริย์วัลเดมาร์ โดยต้องทรงให้การรับประกันว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการรวบรวมภาษีผ่านการค้าช่องแคบเออเรซุนด์ พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ปกครองโคเปนเฮเกน กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงสามารถยึดหรือซื้อปราสาทและป้อมปราการอื่นๆ ได้จนกระทั่งพระองค์สามารถขับไล่พวกฮ็อลชไตน์ออกไปได้ เมื่อพระองค์ไม่ทรงมีพระราชทรัพย์ พระองค์ทรงใช้กองทัพยึดเมืองคาลุนด์บอร์กและปราสาทซอบอร์ก ในช่วงระหว่างการรบนั้น พระองค์เสด็จไปยังเอสโตเนียเพื่อเจรจากับอัศวินทิวทอนิกซึ่งยึดครองเอสโตเนียอยู่ ชาวเดนส์ไม่เคยอพยพไปที่นั่นเลย กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยอมละทิ้งเอสโตเนียของเดนมาร์กด้วย 19,000 เหรียญเงิน อันเป็นจังหวัดทางตะวันออกที่ห่างไกล ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชทรัพย์ในการไถ่ถอนจำนองส่วนที่เหลือของเดนมาร์กซึ่งพระองค์มองว่ามีความสำคัญต่อพระองค์ยิ่งกว่า[3]

ในช่วงปีค.ศ. 1346 กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 ทรงทำสงครามครูเสดในลิทัวเนีย นักพงศาวดารคณะฟรานซิสกันเด็ทมาร์ ฟ็อน ลือเบ็คบันทึกว่า กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เสด็จไปยังลือเบ็คในปีค.ศ. 1346 จากนั้นทรงไปยังปรัสเซียร่วมกับอีริคที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-เลาเอินบวร์คเพื่อต่อสู้กับชาวลิทัวเนีย อย่างไรก็ตามสงครามครูเสดต่อต้านชาวลิทัวเนียก็ไม่เกิดขึ้น กษัตริย์วัลเดมาร์จึงเสด็จเดินทางไปแสวงบุญที่เยรูซาเลมแทน (โดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสมเด็จพระสันตะปาปา)[4] พระองค์ประสบความสำเร็จและได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินภาคีคณะพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงถูกสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ตำหนิที่พระองค์เสด็จแสวงบุญโดยไม่ได้รับการอนุญาตก่อน

เมื่อเสด็จกลับมาเดนมาร์ก กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงระดมกองทัพ ในปีค.ศ. 1346 พระองค์ทรงยึดปราสาทวอร์ดิงบอร์กคืน ฐานทัพใหญ่ของพวกฮ็อลชไตน์ ในช่วงปลายปี กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงสามารถเรียกร้องดินแดนทั้งเกาะเชลลันด์เป็นของพระองค์ได้ พระองค์ทรงทำให้ปราสาทวอร์ดินบอร์กเป็นตำหนักที่ประทับ ทรงขยับขยายปราสาทและทรงสร้างหอคอยสูงให้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง ชื่อเสียงของกษัตริย์วัลเดมาร์ในเรื่องความโหดร้ายของพระองค์ทำให้หลายคนที่ต่อต้านพระองค์ต้องมาขบคิดกันอย่างระวัดระวังในเรื่องการเปลี่ยนฝ่าย นโยบายภาษีของพระองค์ได้บดขยี้ชาวนาที่ต้องหวาดกลัวแต่ก็ต้องจ่ายเงิน ในปีค.ศ. 1347 กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงขับไล่ชาวเยอรมันออกไปและเดนมาร์กได้กลายเป็นชาติอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อทรงมีรายรับมากขึ้น กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงมีความสามารถในการจ่ายเพื่อสร้างกองทัพขนาดใหญ่และทรงใช้กลอุบายในการครอบครองปราสาทนูบอร์กและเกาะฟึน รวมถึงหมู่เกาะเล็กๆ กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหันไปสนพระทัยสคาเนีย ซึ่งสวีเดนได้ยึดครอง ในช่วงนั้นเกิดพิบัติภัยไปทั่วภูมิภาค

กาฬมรณะ

ใน ค.ศ. 1349 กาฬมรณะได้มาถึง ตามพงศาวดารบันทึกว่า กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมาถึงเดนมาร์กด้วยเรือผีมาเกยตื้นที่ชายฝั่งทางตอนเหนือของจัตแลนด์ บรรดาผู้ที่ไปตรวจสอบบนเรือพบว่าผู้ตายหน้าบวมดำ แต่พวกเขาก็อยู่บนเรือและสามารถขนทรัพย์สินมีค่าออกจากเรือ และตัวเห็บที่เป็นพาหะนำโรคได้ถูกเคลื่อนย้านออกมาจากเรือด้วย ผู้คนเริ่มล้มตายนับพัน สองปีถัดมาก็มีการระบาดไปทั่วเดนมาร์กราวกับไฟป่า ในรีเบเขตทางศาสนา 12 เขตถูกยุบเหลือสังฆมณฑลเดียว ประชาชนในเมืองเล็กๆ ตายหมดกลายเป็นเมืองร้าง ตัวเลขของการระบาดระหว่างปีค.ศ. 1349 - 1350 อยู่ระหว่างร้อยละ 33 ถึงร้อยละ 66 ของประชาชนเดนมาร์ก ชาวเมืองมักได้รับผลกระทบหนักกว่าประชาชนชาวนา ทำให้หลายคนต้องละทิ้งชีวิตในเมืองออกไป กษัตริย์วัลเดมาร์ไม่ทรงได้รับผลกระทบใดๆ พระองค์ใช้ประโยชน์จากการตายของศัตรูด้วยโรคระบาดในการยึดครองที่ดินและทรัพย์สิน พระองค์ปฏิเสธที่จะลดภาษีในปีถัดมา แม้ว่าชาวนาจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง ขุนนางเองก็รู้สึกว่ารายได้ของพวกเขาลดลงและรับภาระภาษีที่หนักเช่นกัน จึงจะเกิดการลุกฮือจลาจลขึ้นในปีถัดๆ ไป[5]

เศษเสี้ยวแผ่นดินชิ้นสุดท้าย

ใน ค.ศ. 1350 พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4ทรงสร้างพันธมิตรกับโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับคณะอัศวินทิวทอนิก[6]

ใน ค.ศ. 1354 กษัตริย์และขุนนางมีการประชุมกันที่ราชสำนักเดนมาร์กและพยายามหาข้อยุติความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ข้อกำหนดในกฎบัตรระบุว่า การประชุมราชสำนักเดนฮอฟจะต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยกำหนดในวันนักบุญจอห์น วันที่ 24 มิถุนายน ระบบการเมืองเก่าที่จัดตั้งในปีค.ศ. 1282 ได้รับการฟื้นคืนและสิทธิของทุกคนได้กลับคืนสู่ระบบดั้งเดิมก่อนกฎบัตรของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ซึ่งทำลายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์[7]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงตอบโต้ด้วยการระดมพลและเคลื่อนทัพผ่านทางตอนใต้ของคาบสมุทรจัตแลนด์ เพื่อแย่งชิงดินแดนจำนวนมากที่เหล่าเคานท์เยอรมันยึดไปจากเดนมาร์กในหลายปีก่อนหน้า การก่อจลาจลแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั้วเกาะฟึน และพระองค์ทรงทำลายดินแดนที่เหลืออยู่ของพวกฮ็อลชไตน์ และยึดครองส่วนที่เหลือของเกาะได้ ดังนั้นกฎบัตรจึงไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเพิกเฉยต่อข้อกำหนดทั้งหลาย และการก่อกบฏยังคงเกิดขึ้นประปราย ในปีเดียวกันนั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วยุโรปเหนือ[5]

มีบทกวีที่มีชื่อเสียง เขียนโดยเจนส์ ปีเตอร์ จาค็อบเซน งานเขียนชื่อว่า กัวส์ซัน (Gurresange) ซึ่งเกี่ยวกับพระสนมของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ชื่อ โทเว ได้ถูกสังหารตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระราชินีเฮลวิก[8][9] แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีลักษณะเป็นพงศาวดาร แต่ก็อาจจะเป็นการสับสนว่าเป็นเรื่องของพระองค์ หรือ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก บรรพบุรุษของพระองค์

ในปีค.ศ. 1358 กษัตริย์วัลเดมาร์เสด็จกลับไปยังเกาะฟึน เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับนีลส์ บุกก์ (ราวค.ศ. 1300 - 1358) ผู้นำชาวจัตแลนด์และเหล่าขุนนางและบิชอปทั้งหลาย พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอของพวกเขา พวกเขาจึงเดินออกจากการประชุมด้วยความรังเกียจกษัตริย์ เมื่อพวกเขาเคลื่อนขบวนมาถึงเมืองมิดเดลฟาร์ต เพื่อหาเรือนำพาพวกเขาข้ามกลับจัตแลนด์ มีการว่าจ้างชาวประมงเพื่อพาพวกเขากลับ แต่ชาวประมงเหล่านั้นสังหารพวกเขา กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงถูกประณามว่าอยู่เบื้องหลัง และประชาชนที่ดื้อรั้นในจัตแลนด์จึงออกมาทำการกบฏอย่างเปิดเผยอีกครั้ง พวกเขาตัดสินใจที่จะสนับสนุนกันและกันต่อสู้เพื่อฟื้นฟูสิทธิที่พระมหากษัตริย์ทรงประกาศยกเลิกให้กลับคืนมาอีกครั้ง[10]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหันไปสนใจสคาเนียอีกครั้งซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรสวีเดน ในปีค.ศ. 1355 เจ้าชายอีริคแห่งสวีเดนทรงก่อกบฏต่อพระเจ้ามักนุสที่ 4 แห่งสวีเดน ผู้เป็นพระราชบิดา และยึดครองสคาเนียรวมถึงท่าเรือต่างๆ ของสวีเดน พระองค์ครองราชย์เป็นกษัตริย์อีริคที่ 12 กษัตริย์มักนุสที่ 4 ทรงหันไปหากษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก เพื่อทำข้อตกลงกันช่วยเหลือในการต่อสู้กับกษัตริย์อีริคที่ 12[11] แต่กษัตริย์อีริคกลับสวรรคตอย่างกระทันหันใน ค.ศ. 1359 กองทัพเดนมาร์กข้ามช่องแคบเออเรซุนด์ และพยายามบีบบังคับกษัตริย์มักนุสให้มอบเมืองเฮลซิงบอรย์ให้เดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1360 การยึดครองเฮลซิงบอรย์ สร้างความมุ่งมั่นของกษัตริย์วัลเดมาร์ในการยึดครองทั้งแคว้นสคาเนีย กษัตริย์มักนุสไม่มีกองทัพที่เข้มแข็งพอที่จะยึดสคาเนียคืน[12] กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยึดทั้งฮัลลันด์, บเลกิงเงและสคาเนีย[13]

นโยบายต่างประเทศ หลังปีค.ศ. 1360

ภาพ กษัตริย์วัลเดมาร์ อัทแทร์ดักยึดเมืองวิสบีเพื่อเรียกค่าไถ่ วาดโดย คาร์ล กุสตาฟ เฮลควิสท์ (ค.ศ. 1851–1890)

กษัตริย์วัลเดมาร์ไม่ทรงทำอะไรมากต่อสันนิบาตฮันเซอที่กำลังสั่งสมอำนาจจนกลายเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค ก่อนที่จะมีความขัดแย้งเล็กๆ กับกษัตริย์มักนุส กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงตัดสินใจโจมตีเกาะเกิตลันด์ของสวีเดน โดยเฉพาะเมืองวิสบี พระองค์ทรงระดมกองทัพขึ้นเรือและบุกเกิตลันด์ในปีค.ศ. 1361 กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงสู้รบกับชาวเกิตลันด์ และเอาชนะได้ในการสู้รบหน้าเมือง เดนมาร์กสังหารทหารเกิตลันด์ไปกว่า 1,800 นาย เมืองยอมจำนนเมื่อกษัตริย์วัลเดมาร์ทรงทำลายกำแพงเมืองบางส่วนและบุกเข้ามา เมื่อทรงยึดครองได้แล้ว พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้ตั้งถังเบียร์ขนาดใหญ่สามถัง และทรงแจ้งให้เหล่าผู้อาวุโสในเมืองทราบว่า หากถังที่ทรงตั้งไว้ทั้งสามถังนี้ไม่มีเงินหรือทองบรรจุไว้จนเต็มภายในสามวัน พระองค์จะเข้าปล้นสะดมเมืองแทน กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงประหลาดพระทัยยิ่งนักเมื่อถังทั้งสามถูกเติมเต็มเสียก่อนที่คืนแรกจะผ่านไปเสียอีก โบสถ์ถูกปล้นเอาทรัพย์สินมีค่าและคนร่ำรวยถูกจับใส่เรือ เพื่อนำไปอยู่ที่วอร์ดิงบอร์ก อันเป็นเมืองที่ประทับของกษัตริย์วัลเดมาร์ พระองค์ทรงเพิ่มพระอิสริยยศ "พระมหากษัตริย์แห่งเกิตลันด์" ไว้ในพระนามาภิไธยด้วย แต่การกระทำของพระองค์ที่ทำต่อเมืองวิสบี ซึ่งเป็นเมืองสมาชิกของสันนิบาตฮันเซอ จะส่งผลร้ายแรงกลับมาในภายหลัง

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงพยายามแทรกแซงการสืบราชบัลลังก์สวีเดน ด้วยการจับกุมเอลิซาเบธแห่งฮ็อลชไตน์ บุตรสาวของเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค ศัตรูเก่าของพระราชบิดาของพระองค์ โดยเอลิซาเบธมีการหมั้นหมายกับมกุฎราชกุมารโฮกุนแห่งสวีเดน พระองค์ทรงบีบบังคับให้เอลิซาเบธไปเป็นนางชี กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงชักจูงให้กษัตริย์มักนุส เห็นว่า พระราชโอรสองค์รององค์นี้ควรเสกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ กษัตริย์สวีเดนทรงเห็นชอบ แต่ขุนนางไม่เห็นด้วยและรวมตัวกันบีบบังคับให้กษัตริย์มักนุสสละราชบัลลังก์ พวกเขาตัดสินใจเลือกอัลเบร็คท์แห่งเมคเลินบวร์ค ขุนนางชาวเยอรมันขึ้นเป็นกษัตริย์สวีเดน อัลเบร็คท์เป็นศัตรูของกษัตริย์วัลเดมาร์ เมื่อกษัตริย์อัลเบรกท์ครองราชย์พระองค์พยายามหยุดยั้งแผนการของกษัตริย์วัลเดมาร์ในทันที พระองค์ชักชวนให้รัฐฮันซาร่วมกับสวีเดน เนื่องจากกษัตริย์วัลเดมาร์ทรงพยายามข่มขู่รัฐอื่นในแถบเออเรซุนด์และคุกคามการค้าปลาเฮร์ริงที่สร้างกำไร

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงโจมตีกองเรือฮันซาโดยพยายามผลักดันพวกเขาให้ออกจากพื้นที่ประมงในเออเรซุนด์ รัฐสมาชิกฮันซาได้เรียกร้องให้จัดการการกระทำนี้ โดยเมืองลือเบ็คเป็นแกนนำ พวกเขาส่งสาส์นถึงกษัตริย์วัลเดมาร์และวิพากษ์วิจารณ์การที่พระองค์ทรงแทรกแซงการค้า ในปีค.ศ. 1362 รัฐฮันซา สวีเดนและนอร์เวย์รวมกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ต้องชดใช้ พวกฮันซาส่งกองเรือเข้าทำลายเมืองชายฝั่งของเดนมาร์กและพวกเขาสามารถยึดครองและปล้นสะดมโคเปนเฮเกนและบางส่วนของสคาเนียได้สำเร็จ กองทัพต่างชาติร่วมกับกลุ่มขุนนางที่ก่อกบฏในจัตแลนด์ บีบบังคับให้กษัตริย์วัลเดมาร์ต้องเสด็จหนีออกจากเดนมาร์กในเทศกาลอีสเตอร์ ปีค.ศ. 1368

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงแต่งตั้งเฮนเนง พอเดอบัสค์ (ราวค.ศ. 1350 - 1388) พระสหายสนิทและที่ปรึกษาของพระองค์ ให้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับสันนิบาตฮันซาแทนพระองค์ พวกเขาตกลงที่จะสงบศึกตราบใดที่กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยอมรับสิทธิในการค้าเสรีและสิทธิในการทำประมงในเออเรซุนด์ พวกฮันซายึดครองเมืองหลายเมืองตามชายฝั่งสคาเนียและป้อมปราการเฮลซิงบอรย์เป็นเวลา 15 ปี พวกเขายังบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ทรงอนุญาตให้สันนิบาตฮันซาสืบทอดดินแดนของราชอาณาจักรเดนมาร์ก หลังจากกษัตริย์วัลเดมาร์สวรรคต กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงถูกบีบบังคับให้ลงพระนามในสนธิสัญญาสตราลซุนด์ (ค.ศ. 1370) ซึ่งยอมรับสิทธิของสันนิบาตฮันซาในการค้าปลาเฮร์ริง และการยกเว้นภาษีสำหรับกองเรือการค้า กษัตริย์เสด็จกลับเดนมาร์หลังจากต้องอยู่นอกประเทศถึง 4 ปี กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงได้รับเกาะเกิตลันด์ แม้ว่าจะทรงพ่ายแพ้แต่พระองค์ยังสามารถกองกู้สถานะของพระองค์เองและแผ่นดินเดนมาร์กได้[14][15]

สวรรคต

ซากปราสาทกัวเรอ ใน ค.ศ. 2007
โลงพระศพกษัตริย์วัลเดมาร์ อัทแทร์ดักใน โบสถ์ซอรือ

แม้ขณะที่พระองค์ทรงรับมือกับศึกฮันซา พระองค์ก็ทรงพยายามปราบปรามเหล่าขุนนางกบฏซึ่งพยายามเรียกคืนสิทธิของพวกเขา ที่พวกเขาได้บีบบังคับให้พระราชบิดาของกษัตริย์วัลเดมาร์มอบสิทธินั้นแก่พวกเขา ในช่วงที่พระองคทรงพยายามควบคุมจัตแลนด์ทางตอนใต้ พระองค์ก็ทรงพระประชวร กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ซึ่งทรงตกลงขับไล่ชาวเดนมาร์กที่กบฏออกจากศาสนา แต่ก่อนที่จะทรงดำเนินการเสร็จสิ้น กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เสด็จสวรรคตที่ ปราสาทกัวเรอ ในเชลลันด์เหนือ วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1375 พระบรมศพถูกฝังที่โบสถ์ซอรือในปีค.ศ. 1375 เมื่อพระสหายสนิทอย่าง พอเดอบัสค์ เสียชีวิต ศพของเขาได้ถูกนำฝังเคียงข้างกษัตริย์[16]

พระราชมรดก

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เดนมาร์ก พระองค์ค่อยๆ ได้รับดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรเดนมาร์กในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา การปกครองที่หนักหน่วงของพระองค์ การเก็บภาษีอันไม่มีที่สิ้นสุด และการแย่งชิงสิทธิถือครองที่เหล่าขุนนางถือครองมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านตลอดรัชกาลของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 พระองค์พยายามสร้างเดนมาร์กขึ้นมาใหม่ในฐานะมหาอำนาจในยุโรปเหนือ ได้รับการยอมรับจากชาวเดนมาร์กในช่วงแรก แต่นโยบายของกษัตริย์วัลเดมาร์ต้องเผชิญกับการต่อต้านอันขมขื่นจากตระกูลผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ในจัตแลนด์ พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยอาศัยอำนาจของกองทัพ และขุนนางผู้จงรักภักดี จะกลายเป็นรากฐานการปกครองเดนมาร์กจนถึงปีค.ศ. 1440 ชาวต่างชาติจำนวนมากได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ราชสำนักและเสนาบดี โดยส่วนใหญ่เป็นขุนนางเชื้อสายเยอรมัน-สลาฟ หนึ่งในนั้นคือ เฮนเนง พอเดอบัสค์ ซึ่งรับตำแหน่งอัครเสนาบดีตั้งแต่ค.ศ. 1365 ถึง ค.ศ. 1388

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 มักจะทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคกลางของเดนมาร์กที่สำคัญที่สุด แหล่งข้อมูลระบุว่า พระองค์ทรงชาญฉลาด ช่างถากถาง กล้าได้กล้าเสียและปราดเปรื่อง ซึ่งทรงมีความสามารถทั้งทางนโยบายและเศรษฐกิจ พระนัดดาของพระองค์คือ อัลเบร็คท์ที่ประสูติแต่เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งเดนมาร์ก พระธิดาองค์ที่สองของพระองค์ นั้นไม่ประสบความสำเร็จเหมือนสมเด็จตา โดย อัลเบร็คท์ที่ 2 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค สมเด็จปู่ของอัลเบร็คท์น้อยนั้นได้รับเสนอให้เป็นผู้สืบทอดของกษัตริย์วัลเดมาร์ ทั้งๆ ที่ทรงมีพระนัดดาอีกพระองค์คือ เจ้าชายโอลาฟแห่งนอร์เวย์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ กับพระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์ จะได้รับการเลือกจากขุนนางให้เป็นผู้สืบทอดก็ตาม

พระสมัญญานามว่า "อัทแทร์ดัก" มักถูกตีความว่า "วันใหม่อีกครั้ง" (ความหมายตามตัวในอักษรเดนมาร์ก) หรือ "ผู้กลับคืนมา" แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นความหวังใหม่มาสู่ราชอาณาจักร หลังจากช่วงเวลาของพระมหากษัตริย์เดนมาร์กนั้นเป็นเรื่องเลวร้าย นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจที่ไขว้เขวตามวลีภาษาเยอรมันต่ำกลางว่า "เทอร์ทาเกอ" ("ter tage" ("these days"; วันเหล่านี้)) ซึ่งถูกตีความว่า "ช่วงยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่!" ในชีวประวัติของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เฟล็ตเชอร์ พรัตต์ ได้ระบุว่าคำนี้หมายถึง "วันอื่นๆ" นั่นคือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันนี้ จะเป็นวันดีหรือไม่ดี วันพรุ่งนี้ก็เป็นเพียงแค่วันอื่นวันหนึ่ง

มีเรื่องราว เพลงบัลลาด และบทกวี เขียนถึงกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 พระองค์ได้รับการ "ประดิษฐกรรมขึ้นมาใหม่" ในฐานะกษัตริย์วีรบุรุษคนหนึ่งของเดนมาร์กในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเดนมาร์กต้องต่อสู้กับเยอรมนีเพื่อแย่งชิงดินแดนดั้งเดิมทางตอนใต้ของจัตแลนด์ใต้ในสงครามชเลสวิชครั้งที่หนึ่งและสงครามชเลสวิชครั้งที่สอง

พระราชโอรสธิดา

ในทศวรรษที่ 1330 วัลเดมาร์ที่ 5 ดยุกแห่งชเลสวิช (อดีตเคยถูกขุนนางตั้งเป็นกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 3) ได้เป็นพันธมิตรกับกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เพื่อสู้รบกับเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค ผู้เป็นลุงของเขา และดยุกวัลเดมาร์ที่ 5 ได้เสนอให้กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 อภิเษกสมรสกับเฮลวิกแห่งชเลสวิช น้องสาวของเขา เฮลวิกได้นำแคว้นจัตแลนด์เหนือที่ถูกจำนอง ซึ่งกินเนื้อที่หนึ่งในสี่ของจัตแลนด์มาเป็นสินสอด (ให้แก่ฝ่ายชาย) พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่ปราสาทซอนเดนบอร์กในปีค.ศ. 1340 เฮลวิกเป็นบุตรสาวของอีริคที่ 2 ดยุกแห่งชเลสวิชกับอเดเลดแห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค หลังจากพิธีอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์เสด็จไปยังวีบอร์ก เพื่อประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ[17] ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน ดังนี้

 พระนามประสูติสิ้นพระชนม์คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ ดยุกแห่งลอลันด์ค.ศ. 134111 มิถุนายน ค.ศ. 1363ไม่ทรงอภิเษกสมรส
-เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์กค.ศ. 1345ค.ศ. 1350หมั้นหมาย กับ
ไฮน์ริชที่ 3 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค
สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
-เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก ดัชเชสแห่งเมคเลินบวร์คค.ศ. 1347ค.ศ. 1370อภิเษกสมรส ค.ศ. 1362 กับ
ไฮน์ริชที่ 3 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค
มีโอรสธิดา 4 คน ได้แก่
อัลเบร็คท์ที่ 4 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค
ยูเฟเมียแห่งเมคเลินบวร์ค
มาเรียแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน
อิงเงอร์บอร์กแห่งเมคเลินบวร์ค พระอธิการิณีแห่งอารามคณะกลาริสในริบนิตซ์-ดามการ์เทิน
-เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเดนมาร์กค.ศ. 1349ค.ศ. 1349สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
-เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์กค.ศ. 135011 มิถุนายน ค.ศ. 1363สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก15 มีนาคม ค.ศ. 135328 ตุลาคม ค.ศ. 1412อภิเษกสมรส วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1363 กับ
พระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์
มีพระโอรส 1 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงมีพระโอรสนอกสมรสได้แก่ อีริค เชลลันด์สฟาร์ ประสูติที่โอเคอบูการ์ด บนเกาะเชลลันด์ ศพถูกฝังที่มหาวิหารรอสกิลด์พร้อมมงกุฎ แต่หลักฐานอื่นระบุว่าทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[18]

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Fletcher Pratt (1950) The Third King, a biography of Valdemar Atterdag, Sloane. ISBN 978-1299313118
  • Peter Lundbye (1939) Valdemar Atterdag: Danmarks Riges Genopretter, skildret i ny historisk Belysning efter de samtidige Kilders Beretning, Copenhagen: Ejnar Munksgaard.

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์กถัดไป
ว่าง
ลำดับก่อนหน้า
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2

พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1340 - ค.ศ. 1375)
พระเจ้าโอลาฟที่ 2
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย
(ค.ศ. 1340 - ค.ศ. 1346)
ว่าง
แผ่นดินถูกขายให้ภาคีลิโวเนีย
ลำดับถัดไป
พระเจ้าอีริคที่ 14 แห่งสวีเดน
🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย