พระยโสธราเถรี

ยโสธรา[1] (บาลี: Yasodharā; สันสกฤต: Yaśodharā यशोधरा ยโศธรา) หรือ ภัททากัจจานา (บาลี: Bhaddā Kaccānā ภทฺทา กจฺจานา) บางแห่งออกนามว่า พิมพา หรือ ยโสธราพิมพา เป็นพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[1] เป็นพระมารดาของพระราหุล และเป็นพระขนิษฐาของพระเทวทัต หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระนางยโสธราได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีและบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด[2]

พระยโสธราเถรี
ข้อมูลทั่วไป
พระนามอื่น
  • พิมพา
  • ยโสธรา
  • ภัททากัจจานา
  • ภัททกิจจานา
  • ภัททกัจจายนา
วันประสูติ80 ปีก่อนพุทธศักราช
สถานที่ประสูติเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
วิธีบวชเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะผู้ทรงอภิญญาใหญ่
นิพพาน2 ปีก่อนพุทธศักราช[1]
ฐานะเดิม
ชาวเมืองเทวทหะ
พระบิดาพระเจ้าสุปปพุทธะ
พระมารดาพระนางอมิตา
วรรณะเดิมกษัตริย์
ราชวงศ์โกลิยะ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระยโสธราเถรีนิพพานขณะพระชนมายุ 78 พรรษา หรือ 2 ปีก่อนการดับขันธ์ปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1][3][4]

พระนาม

ยโสธรา (บาลี) หรือ ยโศธรา (สันสกฤต) มาจากคำว่า ยส หรือ ยศ แปลว่า เกียรติ, ความดีงาม กับคำว่า ธร มาจากคำว่า ธริ แปลว่า การแบกรับ, การสนับสนุน เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า "ผู้ทรงยศ" บ้างก็เรียก ยโสธราเถรี/ยโศธราเถรี (Yaśodharā Theri), พิมพาเทวี (Bimbādevī), ภัททกัจจานา (Bhaddakaccānā) และ ราหุลมาตา (Rāhulamātā "มารดาของราหุล")[5] ในเอกสารบาลีจะออกพระนามสองอย่าง คือ ยโสธรา และ ภัททกัจจานา[6]

พระประวัติ

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระนางยโสธราเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยะ[7][8] กับพระนางอมิตาแห่งสักกะ มีพระเชษฐาพระองค์หนึ่งนามว่าพระเทวทัต[9][10] พระชนกเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยะ[11] ส่วนพระชนนีเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งสักกะ พระชนกและพระชนนีเป็นเครือญาติกัน สืบสันดานมาแต่พระเจ้าโอกกากราช (Okkākarāj)[12][13][14] โดยตระกูลสักกะและโกลิยะจะสมรสกันระหว่างสองตระกูลเท่านั้น[15] ดอนัลด์ เอส. โลเปซ (Donald S. Lopez) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนาและทิเบตศึกษา และริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) นักภารตวิทยาและนักวิชาการด้านภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศึกษา อธิบายว่าช่วงเวลานั้นอิทธิพลของพระเวทไม่น่าจะเข้าถึงแคว้นทั้งสอง รวมทั้งการเสกสมรสในหมู่เครือญาตินั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมอารยัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าตระกูลทั้งสองนี้อาจมิได้สืบเชื้อสายชาวอารยัน[16]

ยโสธราเป็นหนึ่งในเจ็ดมนุษย์ สัตว์ และสิ่งของที่เกิดวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ เรียกว่าสหชาติ 7 ได้แก่ นางยโสธราหรือพิมพา พระอานนท์ นายฉันนะ อำมาตย์กาฬุทายี ม้ากัณฑกะ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้งสี่[17][18]

กล่าวกันว่ายโสธรามีพระสิริโฉมงดงาม มีพระสรีระและผิวพรรณงามดุจทองคำชั้นดีที่สุดจึงมีพระนามว่าภัททากัจจานา แม้เจ้าหญิงรูปนันทาซึ่งเป็นพระญาติจะทรงงามจนได้สมญาว่าชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียมเท่า[3]

เสกสมรส

ภาพพระราชพิธีเสกสมรส ศิลปะพม่า

ยโสธราเสกสมรสกับสิทธัตถะขณะพระชันษา 16 ปี และได้ประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกและพระองค์เดียวคือราหุล ขณะมีพระชันษา 29 ปี ซึ่งช่วงเวลานั้นสิทธัตถะกำลังตัดสินพระทัยออกบวช หลังพบเทวทูต 4 พระเจ้าสุทโธทนะนำข่าวพระกุมารประสูติใหม่มาแจ้งให้ทราบ สิทธัตถะทรงอุทานออกมาว่า "ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ" แปลว่า "บ่วงเกิดขึ้นแล้ว พันธนาการเกิดขึ้นแล้ว" ทั้ง ๆ ที่พระองค์กำลังตัดห่วงอาลัยอื่นแล้ว แต่กลับมีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดมิให้พระองค์ออกผนวช[19]

คืนหนึ่งสิทธัตถะลอบเสด็จออกจากพระราชวังในยามวิกาลเพื่อออกผนวชหลังราหุลประสูติเพียง 7 วัน ก่อนจะเสด็จออกไป ทรงไปที่ห้องพระบรรทมของพระยโสธราก่อน แต่เห็นว่าพระชายาหลับสนิทและทอดพระกรไว้เหนือเศียรพระราหุล ทรงเกิดสิเน่หาอาลัย ครั้นจะอุ้มพระโอรสก็เกรงพระชายาจะตื่น จึงข่มพระทัยออกจากพระราชวัง[20] ครั้นรุ่งสางยโสธราเศร้าโศกพระทัยยิ่งที่สวามีหายออกไป ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะและยโสธราก็เพียรติดตามข่าวสิทธัตถะอยู่เสมอด้วยความรักและนับถือ เมื่อยโสธราทรงทราบว่าสิทธัตถะได้ออกไปแสวงหาสัจธรรมเพื่อตรัสรู้ พระองค์จึงทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างเรียบง่ายตามอย่างสิทธัตถะ[21] ยโสธราเมื่อได้ทราบข่าวพระสวามีว่าทรงนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด ก็ทรงนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดบ้าง ทราบว่าพระสวามีเสวยภัตตาหารหนเดียว พระนางก็เสวยพระกระยาหารเพียงหนเดียว ทราบว่าพระสวามีทรงละที่นอนใหญ่ ก็ทรงเอาผ้าปูนอนบนพระแท่นบรรทมขนาดน้อย ทราบว่าพระสวามีเว้นจากเครื่องหอมและดอกไม้ พระนางก็เว้นจากเครื่องหอมและดอกไม้ จนกระทั่งสิทธัตถะบรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[3] ยโสธราเคยทูลพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ก่อนนิพพานไว้ว่า "...ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันยอมรับทุกข์ทรมาน มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน ในสงสารเป็นอเนก ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์..." และ "...ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้รับสุขก็อนุโมทนา และคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ เป็นผู้ยินดีแล้วทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์..."[1]

ผนวช

ยโสธราขณะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ศิลปะไทย

หลังพระโคตมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลเชิญให้พุทธองค์เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ครั้นเมื่อผ่านไปแล้วสองปีหลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์ ช่วงแรกยโสธรามิได้ออกไปต้อนรับพุทธองค์ พระพุทธเจ้าจึงถือบาตรเสด็จขึ้นไปหายโสธรา เมื่อยโสธราเห็นเช่นนั้นจึงรีบเสด็จไปหาพุทธองค์ ทรงจับข้อพระพุทธบาททั้งสองเกลือกบนพระเศียรแล้วถวายบังคม โดยพระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเรื่องจันทกินรีชาดกจนนางยโสธราบรรลุโสดาปัตติผล[3] ต่อมาจึงให้ราหุลตามเสด็จพุทธองค์ และออกบวชเป็นสามเณรรูปแรกในพุทธศาสนาขณะอายุ 7 ขวบ[22]

ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะนิพพานในเศวตฉัตร และพระเจ้ามหานามะขึ้นเสวยราชสมบัติแทน พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยหญิงอีก 500 คนออกบวชเป็นภิกษุณี ต่อมายโสธรามีพระประสงค์ที่จะบวชเป็นภิกษุณีบ้าง เพราะไม่มีกิจอันใดในพระราชวังแล้ว รวมทั้งบริจาคทรัพย์สินที่ทรงครอบครองทั้งหมดทั้งไร่นา ข้าทาสบริวาร[1] พระมหาปชาบดีโคตมีจึงทรงบวชให้ตามพระประสงค์มีนามว่า "พระยโสธราเถรี" หรือ "พระภัททากัจจานาเถรี" ขณะบวชก็ทรงบำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา เพียงครึ่งเดือนก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงทรงแต่งตั้งให้พระยโสธราเถรีเป็นเอตทัคคะด้านอภิญญาใหญ่ เพราะสามารถระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัปเพียงครั้งเดียว[3] พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระยโสธราเถรีว่าเป็นเอตทัคคะ 6 ด้านคือ[23]

  1. แสดงฤทธิ์เหนือสามัญชนได้
  2. มีหูทิพย์ ฟังเสียงได้ในที่ไกลได้
  3. ทายใจผู้อื่นได้
  4. ระลึกชาติได้
  5. มีตาทิพย์ มองเห็นในที่ไกลได้
  6. ทำเรื่องหมองใจให้คลายสิ้นไปได้

เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีนิพพานล่วงไปแล้ว พระยโสธราเถรีจึงเป็นใหญ่ในหมู่ภิกษุณี ปกครองภิกษุณี 100,000 รูป[1]

นิพพาน

พระยโสธราเถรีนิพพานในพรรษาที่ 43 แห่งพระผู้มีพระภาค ขณะมีพระชนมายุได้ 78 พรรษา ก่อนที่พระนางจะนิพพาน พระยโสธราเถรีได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลลาไว้ ความว่า "หม่อมฉันมีอายุได้ 78 ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว ถึงความเป็นผู้มีกายค้อมลงโดยลำดับ ขอกราบทูลลาพระมหามุนี หม่อมฉันมีวัยแก่หง่อม ชีวิตของหม่อมฉันมีอยู่นิดหน่อย หม่อมฉันจักละพระองค์ไป ที่พึ่งของตนหม่อมฉันทำไว้แล้ว ในกาลปัจฉิมวัยนี้ ความตายเข้ามาปิดล้อมไว้แล้ว ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันจักนิพพานในคืนวันนี้"[1] และกล่าวอีกว่า "ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันไม่มีชาติชรา พยาธิ และมรณะ หม่อมฉันจักเข้าถึงนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นบุรีที่ไม่มีความแก่ ความตาย และไม่มีภัย บริษัทที่เข้าเฝ้าพระองค์อยู่ รู้จักความผิด จึงขอประทานโทษ เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา ข้าแต่พระมหาวีระ เมื่อหม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร หากมีความผิดพลาดในพระองค์ หม่อมฉันกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดยกโทษให้แก่หม่อมฉันด้วยเถิด"[1]

เมื่อพระพุทธเจ้าสดับความเช่นนั้น จึงตรัสไปว่า "เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน ตถาคตจะไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า เธอผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา จงแสดงฤทธิ์ และตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงในศาสนาเถิด"[1] หลังจากนั้นพระยโสธราเถรีได้แสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ และขอขมาในการล่วงเกินพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งทางกาย วาจา ใจ ในครั้นเมื่อใช้ชีวิตคู่ร่วมกันหลายกัปในกาลก่อน แล้วเสด็จสู่พระนิพพาน[3]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย