พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

ขุนนางชาวไทย
(เปลี่ยนทางจาก พระยาอนุศาสน์จิตรกร)

มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) (23 ตุลาคม พ.ศ. 2414 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2492) เป็นขุนนางชาวไทย อดีตองคมนตรี เป็นผู้มีฝีมือทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรม และการถ่ายภาพ จนได้เป็นช่างภาพประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และการเสด็จประพาสในวาระต่าง ๆ

พระยาอนุศาสน์จิตรกร
(จันทร์ จิตรกร)

เกิด23 ตุลาคม พ.ศ. 2414
ตำบลวัดราชบูรณะ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
เสียชีวิต10 ตุลาคม พ.ศ. 2492 (77 ปี)
จังหวัดพระนคร
สัญชาติสยาม
อาชีพข้าราชการในพระราชสำนัก
มีชื่อเสียงจากจิตรกรและช่างภาพ

พระยาอนุศาสน์จิตรกรเป็นต้นสกุล "จิตรกร"[1]

ประวัติ

พระยาอนุศาสน์จิตรกรเป็นต้นสกุล "จิตรกร" เป็นบิดาของคุณหญิงอำพัน บำรุงราชบริพาร มารดาของสมัคร สุนทรเวช

พระยาอนุศาสน์จิตรกรเกิดที่ตำบลวัดราชบูรณะ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2414 เข้าศึกษาวิชาการชั้นต้นที่ วัดสังเวชวิศยาราม สำนักพระอาจารย์เพชร และพระอาจารย์สังข์ และวิชาการอื่น ๆ จากครูพุด ยุวะพุกกะ

พระยาอนุศาสน์จิตรกรเข้ารับราชการครั้งแรกใน พ.ศ. 2436 โดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต่อมาได้รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นที่ "หลวงบุรีนวราษฐ์" มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ถือศักดินา 600 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2448[2]เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในปี พ.ศ. 2454 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงบุรีนวราษฎร์ได้รับพระราชทานยศชั้นหัวหมื่นมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอนุศาสน์จิตรกร" ตำแหน่งจางวางกรมช่างมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็น โต๊ะทองกาทอง ในงานสมโภชพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลและพระมหานาคชินะเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2455[3] และได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้ากรมช่างมหาดเล็กในปี พ.ศ. 2459

พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในองค์พระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล โดยเป็นองคมนตรีรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2462 และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2469

พระยาอนุศาสน์จิตรกรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เมื่ออายุได้ 78 ปี

ผลงาน

จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย ผลงานของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ปัจจุบันอยู่ที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระยาอนุศาสตร์จิตรกรเป็นช่างฝีมือในทางศิลปหลายแขนง โดยเฉพาะการเขียนภาพ ทั้งภาพปก ภาพลายเส้นประกอบเรื่อง และภาพจิตรกรรมฝาผนัง เชี่ยวชาญทางเขียนภาพที่ใช้สีผสมน้ำปูนตามแบบโบราณ ภาพสีน้ำมัน ออกแบบเครื่องแต่งกาย สร้างฉากละครเรื่องต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดง ภาพวาดฝาผนังในสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระราชวังสนามจันทร์, วัดพระปฐมเจดีย์ (นครปฐม), ภาพเรื่องรามเกียรติ์ ในพระที่นั่งบรมพิมาน และระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, ภาพเขียนสีน้ำมัน บนกุฏิสมเด็จฯ วัดเทพศิรินทราวาส, ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม (อยุธยา) และวัดสามแก้ว (ชุมพร) เป็นต้น

ผลงานชิ้นเอกที่คนไทยรู้จักมากที่สุด น่าจะเป็นภาพพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งใช้เวลาวาดเกือบสองปีเต็ม

ในทางการถ่ายภาพ ท่านยังเป็นช่างภาพที่มีฝีมือดี เคยเป็นผู้อำนวยการร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ (อยู่ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุงในปัจจุบัน) ร้านถ่ายรูปหลวง ได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพสถานที่ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้พระยาอนุศาสน์จิตรกรยังได้แต่งกวีนิพนธ์ไว้จำนวนหนึ่ง ตามความนิยมในแวดวงพระราชสำนักของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เช่น "นิราศตามเสด็จฯ" เมื่อคราวตามเสด็จการแปรพระราชฐาน ระหว่างเมษายน - กรกฎาคม พ.ศ. 2467

ตำแหน่ง

  • เจ้ากรมช่างมหาดเล็ก
  • 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 จางวางกรมช่างมหาดเล็ก[4]
  • 4 เมษายน พ.ศ. 2462 องคมนตรี[5]

บรรดาศักดิ์

  • 31 สิงหาคม พ.ศ. 2448 หลวงบุรีนวราษฐ์ ถือศักดินา 600
  • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2453 หลวงเดชนายเวร มหาดเล็กเวรเดช ถือศักดินา 800[6]
  • 24 สิงหาคม พ.ศ. 2454 พระยาอนุศาสน์จิตรกร จางวางกรมช่างมหาดเล็ก ถือศักดินา 1600[7]

ยศ

ยศพลเรือน

  • มหาเสวกตรี

ยศเสือป่า

  • – นายหมู่ตรี
  • 4 มิถุนายน 2456 – นายหมู่โท[8]
  • 22 มิถุนายน พ.ศ. 2457 นายหมู่เอก[9]
  • 4 ธันวาคม พ.ศ. 2457 - นายหมวดตรี[10]
  • – นายหมวดโท
  • 8 พฤศจิกายน 2458 – นายหมวดเอก[11]
  • นายกองตรี
  • 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 นายกองโท[12]
  • 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463 นายกองเอก[13]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญและเข็มต่างๆ ดังนี้

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

  • พระยาอนุศาสน์จิตรกร. นิราศตามเสด็จ เสด็จพระราชดำเนิรประพาสราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระพุทธศักราช 2467. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ (ประมาณ พ.ศ. 2548).
🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย