ท่อส่งแก๊สอาหรับ

ท่อส่งแก๊สอาหรับ (อังกฤษ: Arab Gas Pipeline) เป็นท่อที่ส่งออกแก๊สธรรมชาติของอียิปต์ไปยังตะวันออกกลางและอาจไปถึงทวีปยุโรปด้วยการสร้างส่วนขยายในอนาคต เมื่อก่อสร้างเสร็จ ท่อส่งแก๊สดังกล่าวจะมีความยาวรวมกว่า 1,200 กิโลเมตร มีมูลค่าก่อสร้าง 1.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ[1]

รายละเอียด

ส่วนอาริช-อคาบา

ส่วนแรกของท่อเชื่อมจากอาริชในอียิปต์ไปยังอคาบาในจอร์แดน ส่วนนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนย่อย ส่วนแรกยาว 250 กิโลเมตร บนบกซึ่งเชื่อมจากอัล-อาริชไปยังทาบาริมทะเลแดง นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยหน่วยเพิ่มแรงดันในอาริชและสถานีตรวจวัดปริมาณในทาบา ส่วนที่สองยาว 15 กิโลเมตร อยู่ใต้ทะเลเชื่อมจากทาบาไปยังอคาบา ส่วนที่สาม ซึ่งมีสถานีตรวจวัดปริมาณอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร บนชายฝี่งซึ่งเชื่อมเข้ากับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนอคาบา[2]

ส่วนอาริช-อคาบาซึ่งมีมูลค่าก่อสร้าง 220 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546[3] ท่อมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 นิ้ว (910 มม.) และมีปริมาณรองรับแก๊สได้กว่า 10,300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี[4]

ส่วนอคาบา-เอลรีฮับ

ส่วนที่สองได้ขยายท่อในจอร์แดนจากอคาบา ตั้งแต่อัมมานไปยังเอลรีฮับ (24 กิโลเมตรจากชายแดนซีเรีย) ส่วนนี้มีความยาว 390 กิโลเมตร และมีมูลค่าการก่อสร้าง 300 ล้านดออล่าร์สหรัฐ[5] มีการก่อสร้างใน พ.ศ. 2548

ส่วนเอลรีฮับ-ฮอมส์

ส่วนที่สามนี้มีความยาวทั้งสิ้น 319 กิโลเมตร จากจอร์แดนไปยังซีเรีย 90 กิโลเมตรแรกทอดตั้งแต่ชายแดนจอร์แดน-ซีเรียไปยังสถานีไฟฟ้าเดียร์อาลี จากโรงไฟฟ้าดังกล่าว ท่อจะทอดผ่านดามัสกัสไปยังหน่วยเพิ่มแรงดันอัลรายัน ใกล้กับฮอมส์ ส่วนนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[6][7]

ส่วนฮอมส์-ทริโปลี

ส่วนฮอมส์-ทริโปลีเชื่อมจากหน่วยเพิ่มแรงดันอัลรายันไปยังบานีอัสในซีเรีย และทอดยาวไปอีก 32 กิโลเมตรไปยังทริโปลี ประเทศเลบานอน การตกลงที่จะสร้างท่อส่วนนี้มีการลงนามเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552 และการทดสอบครั้งแรกได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน[4] การส่งแก๊สปกติเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 โดยส่งให้แก่สถานีไฟฟ้าเดียร์อัมมาร์[8] นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ขยายท่อส่วนนนี้จากบานีอัสไปจนถึงไซปรัส[9]

ท่ออาริช-แอชเคลอน

ท่ออาริช-แอชเคลอนเป็นท่อส่งแก๊สธรรมชาติยาว 100 กิโลเมตรใต้ทะเล ซึ่งเชื่อมท่อส่งแก๊สอาหรับกับอิสราเอล ถึงแม้ว่ามันจะมิใช่ส่วนหนึ่งของโครงการท่อส่งแก๊สอาหรับอย่างเป็นทางการ แต่ท่อดังกล่าวได้แตกสาขามาจากท่อเดียวกันในอียิปต์ ท่อดังกล่าวอำนวยการสร้างและดำเนินการโดยบริษัทแก๊สเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (EMG) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของท่อแก๊สเมดิเตอร์เรเนียน (28%) บริษัทเมอร์ฮัฟของอิสราเอล (25%) ปตท. (25%) EMI-EGI LP (12%) และบริษัทปิโตรเลียมสาธารณะอียิปต์ (10%) [10]

ท่อดังกล่าวสามารถเปิดใช้งานได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เดิมอียิปต์และอิสราเอลเคยตกลงกันว่าจะมีการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อนี้กว่า 1.7 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีสำหรับการใช้งานโดยบริษัทไฟฟ้าอิสราเอล[11] แต่ปริมาณการส่งได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีไปจนถึง พ.ศ. 2571 นอกเหนือจากนี้ ปลายปี พ.ศ. 2552 EMG ได้ลงนามในสัญญาที่จะส่งแก๊สธรรมชาติทางท่อเพิ่มอีก 2 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเอกชน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่งในอิสราเอล และยังมีการดำเนินการเจรจากับผู้มีศักยภาพที่จะซื้อต่อไป ในปี พ.ศ. 2553 ท่อดังกล่าวส่งแก๊สธรรมชาติกว่าครึ่งหนึ่งที่บริโภคกันในอิสราเอล ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งมาจากทรัพยากรภายในประเทศ ท่อดังกล่าวสามารถรองรับการส่งแก๊สได้กว่า 9 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และข้อตกลงระหว่างทั้งสองชาติในการวางกรอบสำหรับการจัดซื้อแก๊สธรรมชาติเป็นจำนวนถึง 7.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้อิสราเอลเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกแก๊สธรรมชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอียิปต์

การสร้างส่วนขยายในอนาคต

การเชื่อมต่อซีเรีย-ตุรกี

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 อียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน ตุรกี เลบานอน และโรมาเนีย บรรลุข้อตกลงในการสร้างส่วนขยายของท่อส่งแก๊สจากซีเรียไปจนถึงชายแดนตุรกี จากที่นั่น ท่อส่งจะเชื่อมต่อเข้ากับท่อนาบูโคที่วางแผนก่อสร้งไว้แล้วเพื่อการส่งแก๊สธรรมชาติต่อไปยังยุโรป ตุรกีคาดว่าจะซื้อแก๊ส 2-4 พันล้านลลูกบาศก์เมตรต่อปีจากท่อส่งแก๊สอาหรับ[12] เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551 ตุรกีและซีเรียลงนามในข้อตกลงที่จะสร้างท่อยาว 63 กิโลเมตร ระหว่างอเลปโปกับคิลิสเป็นส่วนแรกของการเชื่อมต่อซีเรีย-ตุรกีจากท่อส่งแก๊สอาหรับ[13][14]

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สตรอยทรานส์แก๊สลงนามในสัญญามูลค่า 71 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับก่อสร้างส่วนนี้[15] สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะในช่วงต้นปี พ.ศ. 2552 และได้มีการยื่นประมูลใหม่ ส่วนเชื่อมต่อคาดว่าจะพร้อมในปี พ.ศ. 2554

การเชื่อมต่อกับอิรัก

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 อียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอนตกลงที่จะเชื่อมท่อส่งแก๊สอาหรับเข้ากับท่อส่งแก๊สของอิรักเพื่อให้อิรักสามารถส่งออกแก๊สธรรมชาติไปยังทวีปยุโรปได้[5]

เหตุระเบิด

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ระหว่างการประท้วงในอียิปต์ พ.ศ. 2554 มีรายงานว่าได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ท่อส่งแก๊สใกล้กับหน่วยเพิ่มแรงดันเอลอาริช ซึ่งส่งแก๊สธรรมชาติให้แก่อิสราเอลและจอร์แดน[16][17][18][19][20] ทำให้การส่งแก๊สธรรมชาติไปยังสองประเทศดังกล่าวต้องหยุดชะงัก[21]

ตามข้อมูลของผู้ว่าราชการจังหวัดนอร์ทไซนาย "สถานีแก๊สที่ตั้งอยู่ใกล้กับจุดเกิดระเบิดนั้นไม่ได้รับความเสียหายและระเบิดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเขตที่อยู่อาศัย"[22] สถานีโทรทัศน์ของรัฐได้กล่าวโทษผู้ก่อการ "ผู้ซึ่งฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ยังไม่มั่นคงภายในประเทศ"[17][22] อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของประธานบริษัทแก๊สธรรมชาติอียิปต์ เหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นจากแก๊สรั่วและไม่ใช่เหตุโจมตีของผู้ก่อการร้าย[23]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย