สุมาเจียว

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กตั้งแต่ ค.ศ. 255 ถึง ค.ศ. 265
(เปลี่ยนทางจาก ซือหม่าเจา)

สุมาเจียว (ค.ศ. 211 – 6 กันยายน ค.ศ. 265[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซือหม่า เจา (จีน: 司馬昭; พินอิน: Sīmǎ Zhāo; ) ชื่อรอง จื่อช่าง (จีน: 子上; พินอิน: Zǐshàng) เป็นขุนพล ขุนนาง และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

สุมาเจียว (ซือหม่า เจา)
司馬昭
ภาพวาดสุมาเจียว (ทางขวา) ในยุคราชวงศ์ชิง
จีนอ๋อง / อ๋องแห่งจิ้น (晉王 จิ้นหวาง)
ดำรงตำแหน่ง2 พฤษภาคม ค.ศ. 264 – 6 กันยายน ค.ศ. 265
ถัดไปสุมาเอี๋ยน
ก๋งแห่งจิ้น (晉公 จิ้นกง)
ดำรงตำแหน่ง9 ธันวาคม ค.ศ. 263[1][2][3][4] – 2 พฤษภาคม ค.ศ. 264
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง23 มีนาคม ค.ศ. 255 – 6 กันยายน ค.ศ. 265
ก่อนหน้าสุมาสู
ถัดไปสุมาเอี๋ยน
ประสูติค.ศ. 211
สวรรคต6 กันยายน ค.ศ. 265(265-09-06) (53–54 ปี)[5]
นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
คู่อภิเษกหวาง ยฺเหวียนจี
พระราชบุตรสุมาเอี๋ยน
สุมาฮิว
ซือหม่า เจี้ยน
ซือหม่า จี
ซือหม่า เหยียนจั้ว
องค์หญิงจิงเจ้า
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซือหม่า/สุมา (司馬)
ชื่อตัว: เจา/เจียว (昭)
ชื่อรอง: จื่อช่าง (子上)
พระมรณนาม
จักรพรรดิเหวินตี้ (文帝)
วัดประจำรัชกาล
ไท่จู่ (太祖)
ราชวงศ์ราชตระกูลสุมา (ซือหม่า)
พระราชบิดาสุมาอี้
พระราชมารดาจาง ชุนหฺวา

สุมาเจียวยังสามารถกุมอำนาจราชสำนักวุยก๊กหลังสุมาอี้ผู้บิดาเคยยึดอำนาจมาได้และสุมาสูพี่ชายสืบทอดอำนาจถัดมา สุมาเจียวทำการการกำจัดฝ่ายตรงข้ามภายในซึ่งแสดงท่าทีต่อต้านหรือก่อการกบฏได้ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 263 สุมาเจียวตัดสินใจฉวยโอกาสส่งทัพบุกรัฐจ๊กก๊กทางตะวันตกในช่วงที่จ๊กก๊กกำลังอ่ออแอ ในที่สุดก็สามารถบังคับให้เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนน จ๊กก๊กล่มสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของวุยก๊ก หลังเสร็จสิ้นการทัพ สุมาเจียวได้ขึ้นเป็นก๋งแห่งจิ้น (晉公 จิ้นกง) และได้รับเครื่องยศเก้าประการ ต่อมาในปี ค.ศ. 264 ได้ขึ้นเป็นจีนอ๋องหรืออ๋องแห่งจิ้น (晉王 จิ้นหวาง) ทำให้สุมาเจียวเข้าใกล้การช่วงชิงบัลลังก์ แต่สุมาเจียวก็ไม่ได้ครองบัลลังก์เพราะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 265 ผลงานในการทหารและความสำเร็จในการกุมอำนาจทางการเมืองของสุมาเจียวมีส่วนช่วยในแผนการโค่นล้มวุยก๊กโดยสุมาเอี๋ยนผู้เป็นบุตรชาย สุมาเอี๋ยนชิงบัลลังก์วุยก๊กและสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยนขึ้นเป็นจัพกรพรรดิเมื่อปี ค.ศ. 266 หลังการสถาปนาราชวงศ์จิ้น สุมาเอี๋ยนพระราชทานสมัญญานามให้สุมาเจียวผู้เป็นพระบิดาให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิจิ้นเหวินตี้ (晉文帝) มีนามวัดว่าไท่จู่ (太祖)

มีสำนวนจีนที่เกี่ยวข้องกับสุมาเจียวกล่าวว่า “ความคิดสุมาเจียว คนเดินถนนยังรู้” (司馬昭之心, 路人皆知) มีความหมายว่าเจตนาซ่อนเร้นของคนผู้หนึ่ง (ในกรณีนี้คือการแย่งชิงบัลลังก์) เป็นที่รู้กันดีจนเหมือนไม่ได้ซ่อนเร้นจริง ๆ มาจากคำตรัสของโจมอ จักรพรรดิลำดับที่ 4 ของวุยก๊กผู้พยายามก่อการกำเริบเพื่อชิงพระราชอำนาจคืนจากสุมาเจียวแต่ไม่สำเร็จ

ประวัติช่วงต้น

สุมาเจียวเกิดในปี ค.ศ. 211 เป็นบุตรชายคนที่สองของสุมาอี้และภรรยาจาง ชุนหฺวา (張春華) มีอายุน้อยกว่าสุมาสู[b] เนื่องด้วยสุมาอี้ผู้บิดาเป็นขุนนางคนสำคัญของวุยก๊ก สุมาเจียวจึงได้ขึ้นมามีตำแหน่งขุนนางที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากความสำเร็จของสุมาอี้ในการปราบขุนศึกกองซุนเอี๋ยน สุมาเจียวจึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นซินเฉิงเซียงโหว (新城鄉侯)[c] ในช่วงสิ้นปี ค.ศ. 238 ราวปี ค.ศ. 240 สุมาเจียวได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลราชองครักษ์แห่งนิคมการเกษตร (典農中郎將 เตี่ยนหนงจงหลางเจี้ยง) อีกหนึ่งปีต่อในปี ค.ศ. 241 สุมาเจียวได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซานฉีฉางชื่อ) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 244 สุมาเจียวเข้าร่วมในการทัพของโจซองรบกับจ๊กก๊ก สุมาเจียวมีผลงานในขับไล่ทัพจ๊กก๊กที่ยกเข้าปล้นค่ายตอนกลางคืน แม้ว่าการทัพของโจซองในท้ายที่สุดจะล้มเหลว แต่สุมาเจียวก็ได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นขุุนนางที่ปรึกษา (議郎 อี้หลาง) (โดยทั่วไปถือว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งลอย สุมาเจียวอยู่ในตำแหน่งนี้มากกว่า 5 ปี ซึ่งน่าจะเป็นโจซองและพรรพพวกที่แต่งตั้งให้สุมาเจียวเพื่อป้องกันไม่ให้มีความก้าวหน้าทางการเมืองขึ้นไปอีก)[8]

การรับราชการจนถึงปี ค.ศ. 255

อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง

การมีส่วนร่วมของสุมาเจียวในการก่อรัฐประกาศของสุมาอี้โค่นอำนาจโจซองในปี ค.ศ. 249 ไม่เป็นที่แน่ชัด ในจดหมายเหตุราชวงศ์จิ้นระบุว่าแผนที่สุมาอี้และสุมาสูคิดการกันนั้นไม่ได้บอกสุมาเจียวจนกระทั่งดำเนินการไปแล้ว ทัศนะนี้นักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าสุมาเจียวจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการวางแผนการ ภายหลังการก่อรัฐประหารประสบความสำเร็จ สุมาอี้ได้อำนาจทางการเมืองสูงสุดในวุยก๊ก และตัวสุมาเจียวก็ได้รับศักดินาเพิ่มเติม 1,000 ครัวเรือนและกลายเป็นผู้มีสถานะสำคัญ ในปี ค.ศ. 251 เมื่อสุมาอี้ปราบปราบกบฏหวาง หลิง (王淩) สุมาเจียวทำหน้าที่เป็นรองแม่ทัพและได้รับบำเหน็จเป็นศักดินาเพิ่มเติมอีก 300 ครัวเรือน และได้บรรดาศักดิ์ระดับโหวสำหรับบุตรชายคนเล็กคือสุมาฮิว ในช่วงไม่กี่ปีถัดมา สุมาเจียวมีส่วนร่วมในการบัญชาทัพต่อต้านการบุกของเกียงอุยแม่ทัพจ๊กก๊ก

ยุทธการที่ตังหิน

ในปี ค.ศ. 253 ทัพวุยก๊กนำโดยสุมาเจียวยกไปทางตะวันออกเพื่อรบกับง่อก๊กที่ยกล่วงชายแดนโดยการสร้างเขือนที่ทะเลสาบและนำกำลังทหารมาตั้งมั่นในดินแดนที่เป็นของวุยก๊ก เหล่านายทหารของวุยก๊กเห็นว่าพวกตนอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยและมีจำนวนทหารที่มากกว่าจึงประมาทและเอาแต่เมาสุรา เลยพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วต่อทัพง่อก๊กที่นำโดยเตงฮองและลีกี บีบให้ทัพวุยก๊กต้องถอยหนี หลังจากความพ่ายแพ้ในยุทธการที่ตังหิน สุมาเจียวถามนายกองหวาง อี๋ (王仪) เป็นการส่วนตัวว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในความพ่ายแพ้ในยุทธการนี้ หวาง อี๋ตอบว่า "ความรับผิดชอบตกเป็นของแม่ทัพ" สุมาเจียวโต้กลับว่า "นายกองหมายว่าให้ข้าแบกความรับผิดชอบหรือ" จากนั้นจึงให้สั่งประหารชีวิตหวาง อี้ สุมาสูผู้สำเร็จราชการและพี่ชายของสุมาเจียวได้รับฎีกาจากเหล่าเสนาบดีเสนอให้อองซอง บู๊ขิวเขียม อ้าวจุ๋น และคนอื่น ๆ ทั้งหมดที่มีส่วนร่วมในการทัพให้ถูกลดขั้นจากความพ่ายแพ้ แต่สุมาสูกล่าวว่า "เป็นเพราะข้าไม่ฟังคำของกงซิว[d] (公休) จึงตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้ เป็นข้าที่สมควรถูกตำหนิ จะโทษเหล่าขุนพลได้อย่างไร"[9] จากนั้นจึงเลื่อนขั้นให้กับเหล่าขุนพลที่มีส่วนร่วมในยุทธการ แต่ลดขั้นสุมาเจียวโดยการถอดบรรดาศักดิ์ออก[10]

สืบทอดอำนาจจากสุมาสู

ในปี ค.ศ. 254 ระหว่างที่สุมาเจียวอยู่ที่นครหลวงลกเอี๋ยง เหล่าขุนนางที่ปรึกษาทูลเสนอกับจักรพรรดิโจฮองว่าให้จู่โจมและสังหารสุมาเจียวเพื่อชิงกำลังทหารมาและใช้กำลังทหารนั้นในการจัดการกับสุมาสู โจฮองทรงวิตกกังวลจึงไม่ได้ทำตามคำทูลเสนอ แต่แผนการรั่วไหลรู้ไปถึงสุมาสู สุมาเจียวจึงร่วมกับสุมาสูพี่ชายในการปลดจักรพรรดิโจฮองออกและตั้งโจมอขึ้่นเป็นจักรพรรดิแทน หลังการปลดจักรพรรดิ ขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิมก่อกบฏในปี ค.ศ. 255 และถูกสุมาสูปราบลงได้

อย่างไรก็ตาม สุมาสูกำลังป่วยเป็นโรคตาซึ่งมีอาการรุนแรงขึ้นหลังการทัพ สุมาสูเสียชีวิตหลายจากนั้นไม่ถึงหนึ่งเดือนในวันที่ 23 มีนาคม[11] เวลานั้นสุมาเจียวอยู่กับพี่ชายที่ฮูโต๋ จักรพรรดิโจมอวัย 14 พรรษาพยายามจะฟื้นฟูพระราชอำนาจคืนมา จึงออกพระราชโองการภายใต้เหตุที่ว่าสุมาสูเพิ่งปราบกบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม และดินแดนทางตะวันออกเฉียงยังไม่สงบโดยสมบูรณ์ จึงมีรับสั่งให้สุมาเจียวยังคงอยู่ที่ฮูโต๋ และให้เปาต้านผู้ช่วยของสุมาสูกลับไปยังลกเอี๋ยงพร้อมกับทัพหลัก อย่างไรก็ตาม สุมาเจียวทำตามคำแนะนำของเปาต้านและจงโฮยกลับมายังลกเอี๋ยงอันเป็นการขัดพระราชโองการ[12] และยังสามารถกุมอำนาจราชสำนักไว้ได้[13] นับแต่นั้นมาสุมาเจียวก็ไม่ยอมปล่อยให้โจมอหรือกวยทายเฮาอยู่เหนือการควบคุม

ในฐานะผู้กุมอำนาจสูงสุด

การรวมอำนาจ

กบฏฉิวฉุนครั้งที่ 3

ในช่วงไม่กี่ปีถัดมา สุมาเจียวรวบอำนาจยิ่งขึ้น ทำให้จักรพรรดิโจมอและกวยทายเฮาเหลืออำนาจเพียงเล็กน้อย จากนั้นสุมาเจียวสร้างเรื่องในหลายโอกาสที่ถูกมองว่าเป็นการอาจเอื้อมคิดช่วงชิงราชบัลลังก์วุยก๊ก ในปี ค.ศ. 256 สุมาเจียวบังคับจักรพรรดิให้พระราชทานเอกสิทธิ์ในการสวมฉลองพระองค์ มงกุฎ และฉลองพระบาท จากนั้นสุมาเจียวจึงทดสอบความภักดีของเหล่าขุนพลโดยการให้เหล่าคนสนิทไปบอกใบ้ถึงเจตนาของตนให้เหล่าขุนพลทั่วแผ่นดินได้รับรู้ ในปี ค.ศ. 257 สุมาเจียวส่งกาอุ้นไปตรวจสอบเจตนาของจูกัดเอี๋ยน จูกัดเอี๋ยนตำหนิกาอุ้นอย่างรุนแรง[14] ทำให้สุมาเจียวมีคำสั่งเรียกตัวจูกัดเอี๋ยนกลับนครหลวงโดยอ้างว่าจะเลื่อนตำแหน่งให้ จูกัดเอี๋ยนปฏิเสธคำสั่งและเริ่มต้นก่อกบฏ โดยยอมสวามิภักดิ์ต่อง่อก๊กเพื่อให้ช่วยคุ้มครอง[15] สุมาเจียวนำกำลังทหารรุดหน้าไปยังฐานที่มั่นของจูกัดเอี๋ยนที่ฉิวฉุนอย่างรวดเร็วและเข้าล้อมไว้ ในที่สุดก็ยึดฉิวฉุนได้ในปี ค.ศ. 258 หลังตัดโอกาสที่ง่อก๊กจะยกกำลังมาช่วย สุมาเจียวให้สังหารจูกัดเอี๋ยนและครอบครัว แต่สุมาเจียวก็ปฏิบัติอย่างเอื้อเฟื้อต่อผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏหลายคน เช่นราษฎรทั่วไปและทหารง่อก๊กที่ถูกส่งมาเป็นกำลังเสริม แม้ว่าจะมีผู้แนะนำให้ลงโทษราษฎรและสังหารทหารทั้งหมดก็ตาม [16] ซึ่งสุมาเจียวได้โต้ตอบไปว่า "คนแต่โบราณใช้กำลังทหารเพื่อคุ้มครองรัฐเป็นดีที่สุด ดังนั้นสังหารเฉพาะผู้นำเสียก็เพียงพอแล้ว ควรให้ทหารได้หนีกลับไปเถิด พวกเขาจะได้รายงานถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐภาคกลาง" ความเมตตากรุณานี้ทำให้ตระกูลสุมาถูกมองในเชิงบวกมากยิ่งขึ้นจากเหล่าราษฎร หลังการเสียชีวิตของจูกัดเอี๋ยน ก็ไม่มีใครกล้าต่อต้านสุมาเจียวอีกในช่วงอีกไม่กี่ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 258 สุมาเจียวบังคับจักรพรรดิโจมอให้พระราชทานเครื่องยศเก้าประการ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการของรัฐ และบรรดาศักดิ์ก๋งแห่งจิ้น (晉公 จิ้นกง) อันเป็นอีกขั้นที่ทำให้สุมาเจียวเข้าใกล้การช่วงชิงบัลลังก์ จากนั้นสุมาเจียวจึงปฏิเสธการรับเกียรติเหล่านี้ต่อหน้าสาธารณชนเก้าครั้ง[17]

การสวรรคตของจักรพรรดิโจมอและการควบคุมราชสำนักวุยก๊กอย่างเบ็ดเสร็จ

ราวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 260 สุมาเจียวบีบบังคับจักรรพรดิโจมออีกครั้งให้ออกพระราชโองการพระราชทานเครื่องยศเก้าประการและการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งสุมาเจียวก็ปฏิเสธอีกครั้ง[18] ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้โจมอทรงกริ้วหนัก พระองค์จึงปรึกษากับขุนนางคนสนิทคืออองซิม อองเก๋ง และอองเหงียบ โจมอตรัสกับขุนนางทั้งสามว่าแม้พระองค์จะทรงตระหนักดีว่ามีโอกาสสำเร็จน้อย แต่พระองค์จะทรงก่อการแข็งข้อต่อสุมาเจียว[19] พระองค์พกพระแสงดาบ นำทหารราชองครักษ์ยกไปจวนของสุมาเจียว สุมาเตี้ยมน้องชายของสุมาเจียวพยายามจะต้านทาน แต่เมื่อข้าราชบริพารของโจมอตะโกนเสียงดัง กองกำลังของสุมาเตี้ยมก็แตกหนีไป จากนั้นกาอุ้นมาถึงและเข้าสกัดกองทหารราชองครักษ์ โจมอเข้าต่อสู้ด้วยพระองค์เอง กองกำลังของกาอุ้นไม่กล้าโจมตีจักรพรรดิก็แตกหนีไปเช่นกัน[20] นายทหารคนหนึ่งในบังคับบัญชาของกาอุ้นชื่อเซงเจ (成濟 เฉิง จี้) ถามกาอุ้นว่าควรทำอย่างไร กาอุ้นบอกให้ปกป้องอำนาจของตระกูลสุมาโดยไม่ต้องคิดถึงผลที่ตามมา เซงเจจึงใช้หอกปลงพระชนม์โจมอ[21] เหตุการณ์นี้สร้างความยุ่งยากให้สุมาเจียวอย่างมาก[22]

ภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิโจมอ สาธารณชนเรียกร้องให้ประหารชีวิตกาอุ้น แต่สิ่งที่สุมาเจียวกระทำเป็นอย่างแรกคือบังคับกวยทายเฮาให้ลดฐานะย้อนหลังให้โจมอลงมามีสถานะเป็นสามัญชน และมีคำสั่งให้ทำพิธีศพของโจมอเยี่ยงสามัญชน[23] สุมาเจียวยังให้ประหารชีวิตอองเก๋งและครอบครัว วัดถัดมาหลังสุมาเจียวถูกสุมาหูผู้เป็นอาวิงวอน สุมาเจียวจึงกลับให้กวยทายเฮามีรับสั่งให้เลื่อนขั้นโจมอกลับมาอยู่ในฐานะก๋ง (公 กง) และทำพิธีศพอย่างอ๋อง[24] จากนั้นสุมาเจียวจึงเชิญโจฮวนผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) และเป็นหลานชายของโจโฉให้มายังนครหลวงเพื่อตั้งให้เป็นจักรพรรดิ ในเวลานี้กวยทายเฮาไร้อำนาจที่จะตรัสประการใดต่อไปได้[25] ท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านี้ สุมาเจียวยังคงปฏิเสธกับรับเครื่องยศเก้าประการและการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการของรัฐและบรรดาศักดิ์ก๋งแห่งจิ้น[26] หลายวันต่อมา สุมาเจียวกล่าวโทษเซงเจและน้องชายในข้อหากบฏ และสั่งให้ประหารชีวิตเซงเจและครอบครัวเพื่อบรรเทาความโกรธของสาธารณชน ในขณะที่ไว้ชีวิตกาอุ้น[27] ไม่มีใครกล้าก่อการต่อต้านสุมาเจียวแม้หลังการสวรรคตของจักรพรรดิโจมอ เนื่องจากเวลานั้นสุมาเจียวกลายเป็นผู้กุมอำนาจราชสำนักอย่างแท้จริงแล้ว ในวันที่ 27 มิถุนายน โจฮอวนเข้านครลกเอี๋ยงและขึ้นเป็นจักรพรรดิ[28] สองวันต่อมา สุมาเจียวบังคับจักรพรรดิโจฮวนพระราชทานเครื่องยศเก้าประการและการเลื่อนขั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการของรัฐกับบรรดาศักดิ์ก๋งแห่งจิ้น ซึ่งสุมาเจียวก็ยังคงปฏิเสธอยู่[29] เช่นเดียวกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ในเดือนตุลาคม[30][31]

การพิชิตจ๊กก๊ก

ในปี ค.ศ. 262 เนื่องด้วยเกียงอุยเข้าโจมตีชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง สุมาเจียวจึงคิดจะจ้างมือสังหารไปลอบสังหารเกียงอุย แต่แผนนี้ถูกคัดค้านโดยซุนโจยที่ปรึกษา[32] ด้านจงโฮยเชื่อว่าเกียงอุยสูญเสียกำลังทหารไปมากแล้ว จึงเป็นเวลาเหมาะที่จะทำลายจ๊กก๊กในครั้งเดียว[33] สุมาเจียวจึงตั้งจงโฮย จูกัดสู และเตงงายให้คุมทัพบุกจ๊กก๊ก (แม้ว่าเตงงายจะคัดค้านการทัพในตอนแรกก็ตาม) ทั้งหมดเคลื่อนทัพในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 263[34]

จงโฮย จูกัดสู และเตงงายเผชิญหน้ากับการรบต้านเล็กน้อยจากทัพจ๊กก๊ก ซึ่งฝ่ายจ๊ํกก๊กมีกลยุทธ์จะดึงทัพวุยก๊กเข้ามาแล้วเข้าปิดล้อมโจมตี แต่ผลกลับตรงกันข้ามเพราะทัพวุยก๊กเคลื่อนพลได้รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยยกผ่านเมืองชายแดนของจ๊กก๊กตรงไปยังจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือด่านแฮเบงก๋วน (陽安關 หยางอานกวาน; ปัจจุบันอยู่ในเมืองฮั่นจง มณฑลฉ่านซี) และเข้ายึดไว้ ในที่สุดจูกัดสูก็ถูกปลดออกจากการคุมทัพและถูกส่งกลับในฐานะนักโทษ เตงงายต้องการควบรวมกำลังทหารของตนเข้ากับของจูกัดสูจึงเข้าพบจงโฮย ฝ่ายจงโฮยต้องการถือสิทธิ์ขาดทางการทหาร จึงส่งคำประกาศที่กล่าวถึงความขี้ขลาดของจูกัดสู ภายหลังกำลังทหารของจูกัดสูจึงควบรวมกับกองกำลังของจงโฮย[35] ด้านเกียงอุยสามารถรวบรวมกำลังขึ้นใหม่และสกัดทัพวุยก๊กไม่ให้รุกคืบได้[36] กระทั่งเตงงายนำกองกำลังเคลื่อนผ่านด่านภูเขาคับขันไปจนถึงอิวกั๋ง เอาชนะจูกัดเจี๋ยม[37] และมุ่งตรงไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กประหลาดพระทัยกับการรุดหน้าเข้ามาอย่างรวดเร็วของเตงงาย และทรงเชื่อว่าเกียงอุยจะไม่สามารถกลับมาเร็วพอที่จะป้องกันนครหลวงจากเตงงาย เล่าเสี้ยนจึงยอมจำนนต่อวุยก๊ก[38] ก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 263 สุมาเจียวปฏิเสธเครื่องยศเก้าประการและการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้ง[39] แต่ในช่วงการทัพ เมื่อคำนึงความสำเร็จล่าสุดนี้แล้ว ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 263 จักรพรรดิโจฮวนตั้งให้สุมาเจียวเป็นก๋งแห่งจิ้น พระราชทานเครื่องยศเก้าประการและตำแหน่งผู้สำเร็จราชการของรัฐ และสุมาเจียวก็ยอมรับในที่สุด[40]

กบฏจงโฮย

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายอีกครั้งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการล่มสลายของจ๊กก๊ก เตงงายภูมิใจในความสำเร็จของตนและส่งหนังสือถึงสุมาเจียวที่มีเนื้อความแสดงออกซึ่งความหยิ่งทรนง ทำให้สุมาเจียวเกิดความระแวง ฝ่ายจงโฮยก็มีแผนจะก่อกบฏจึงปลอมแปลงจดหมายเพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสุมาเจียวและเตงงายจนเกินกว่าจะกู้คืน[41] สุมาเจียวจึงมีคำสั่งให้จงโฮยจับตัวเตงงาย แม้ว่าตัวสุมาเจียวก็ระแวงจงโฮยเช่นกัน แต่กระนั้นสุมาเจียวก็นำทัพของตนเองไปประจำอยู่ที่เตียงฮัน[42] จงโฮยยึดกองกำลังของเตงงายควบรวมเข้ากับกองกำลังของตน จากนั้นด้วยการยุยงของเกียงอุยที่เป็นผู้ช่วย (แต่เจตนาที่แท้จริงของเกียงอุคือการสังหารจงโฮยและกอบกู้จ๊กก๊กในท้ายที่สุด)[43] จงโฮยจึงก่อการกบฏในปี ค.ศ. 264[44] แต่กองกำลังของตัวจงโฮยกลับหันมาต่อต้านจงโฮย และสังหารทั้งจงโฮยและเกียงอุย[45] สุมาเจียวนิรโทษกรรมให้กับทุกคนในจ๊กก๊ก

เสียชีวิต

หลังกบฏจงโฮยถูกปราบ สุมาเจียวได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นจีนอ๋องหรืออ๋องแห่งจิ้น (晉王 จิ้นหวาง) ในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 264[46] อันเป็นก้าวสุดท้ายสู่การช่วงชิงบัลลังก์ สุมาเจียวตั้งเป้าหมายที่จะแก้ไขกฎหมายและระบบราชการให้สอดคล้องกับอาณาจักรที่สุมาเจียวต้องการให้อยากให้เป็น เช่น การฟื้นฟูตำแหน่งศักดินาห้าตำแหน่งในราชวงศ์โจว[47] (ระบบที่เลิกใช้ไปตั้งแต่ถูกยกเลิกโดยราชวงศ์ฉิน) และยังมอบสมัญญานามย้อนหลังให้สุมาอี้ผู้บิดาและสุมาสูผู้พี่ชายให้เป็นจักรพรรดิจิ้นเซฺวียนตี้ (晉宣帝) และจิ้นจิ่งตี้ (晉景王) ตามลำดับ[48] สุมาเจียวยังทำข้อตกลงสงบศึกกับง่อก๊ก[49] เพื่อป้องกันการแทรกแซงในแผนการชิงบัลลังก์ของสุมาเจียว[50]

ต่อมาในปีเดียวกัน สุมาเจียวพิจารณาว่าจะตั้งให้ใครเป็นทายาท สุมาเจียวคิดจะตั้งสุมาฮิวบุตรชายคนเล็กผู้มีความสามารถ ซึ่งสุมาสูรับไปเป็นบุตรบุญธรรมเพราะสุมาสูไม่มีบุตรชายเป็นของตนเอง ภายใต้เหตุผลที่ว่าสุมาสูมีความสำเร็จอย่างสูงในการสืบทอดและรักษาอำนาจของตระกูลสุมา การสืบทอดอำนาจก็ควรกลับไปหาสุมาฮิวผู้บุตรชาย แต่ที่ปรึกษาส่วนใหญ่เสนอให้ตั้งสุมาเอี๋ยนบุตรชายคนโตของสุมาเจียวแทน ในที่สุดสุมาเจียวจึงตัดสินใจตั้งให้สุมาเจียวเป็นทายาท[51]

ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 265 สุมาเจียวเสียชีวิต[52] ก่อนที่จะได้ช่วงชิงบัลลังก์ แม้ว่าจะได้รับการทำพิธีศพด้วยเกียรติอย่างจักรพรรดิในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 265 ในอีก 5 เดือนต่อมา สุมาเอี๋ยนซึ่งสืบทอดอำนาจจากบิดา[53] บังคับโจฮวนจักรพรรดิวุยก๊กให้สละราชบัลลังก์ให้กับตน เป็นการสิ้นสุดของวุยก๊กและเป็นการสถาปนาราชวงศ์จิ้น ภายหลังสุมาเอี๋ยนพระราชทานสมัญญานามให้สุมาเจียวผู้เป็นพระบิดาเป็นจักรพรรดิจิ้นเหวินตี้ (晉文帝)

ครอบครัว

ภรรยาและบุตรธิดา:

  • จักรพรรดินีเหวินหมิง แห่งตระกูลหวางหรืออองแห่งตองไฮ (文明皇后 東海王氏 เหวินหมิงหฺวางโฮ่ว ตงไห่หวางชื่อ; ค.ศ. 217–268) ชื่อตัว ยฺเหวียนจี (元姬)
    • เจ้าหญิงจิงเจ้า (京兆公主 จิงเจ้ากงจู่)
      • แต่งงานกับเจิน เต๋อ แห่งเสเป๋ง (西平 甄德 ซีผิง เจิน เต๋อ) และมีบุตรชายหนึ่งคน
    • สุมาเอี๋ยน จักรพรรดิอู่ (武皇帝 司馬炎 อู่หฺวางตี้ ซือหม่า เยียน; ค.ศ. 236–290) บุตรชายคนแรก
    • สุมาฮิว อ๋องแห่งฉีเซี่ยน (齊獻王 司馬攸 ฉีเซี่ยนหวาง ซือหม่า โยว; 248–283) บุตรชายคนที่ 2
    • ซือหม่า เจ้า อ๋องอายแห่งเฉิงหยาง (城陽哀王 司馬兆 เฉิงหยางอายหวาง ซือหม่า เจ้า) บุตรชายคนที่ 3
    • ซือหม่า ติ้งกั๋ว อ๋องเต้าฮุ่ยแห่งเลียวตั๋ง (遼東悼惠王 司馬定國 เหลียวตงเต้าฮุ่ยหวาง ซือหม่า ติ้งกั๋ว) บุตรชายคนที่ 4
    • ซือหมา กว่างเต๋อ อ๋องชางแห่งก๋งฮาน (廣漢殤王 司馬廣德 กว่างฮั่นชางหวาง ซือหม่า กว่างเต๋อ) บุตรชายคนที่ 5
  • ซิวหฺวา แห่งตระกูลหลี่หรือลิ (修華 李氏 ซิวหฺวา หลี่ชื่อ) ชื่อตัว เหยี่ยน (琰)
  • ซิวหรง แห่งตระกูลหวางหรืออง (修容 王氏 ซิวหรง หวางชื่อ) ชื่อตัว เซฺวียน (宣)
  • ซิวอี๋ แห่งตระกูลสฺวีหรือซิ (修儀 徐氏 ซิวอี๋ สฺวีชื่อ) ชื่อตัว เหยี่ยน (琰)
  • เจี๋ยยฺหวี แห่งตระกูลอู๋หรืองอ (婕妤 吳氏 เจี๋ยยฺหวี อู๋ชื่อ) ชื่อตัว ชู (淑)
  • ชงหฺวา แห่งตระกูลเจ้าหรือเตียว (充華 趙氏 ชงหฺวา เจ้าชื่อ) ชื่อตัว ถิ่ง (珽)
  • ภรรยาไม่ทราบชื่อ
    • ซือหม่า เจี้ยน อ๋องผิงแห่งเล่ออาน (樂安平王 司馬鑒 เล่ออานผิงหวาง ซือหม่า เจี้ยน; เสียชีวิต 297) บุตรชายคนที่ 6
    • ซือหม่า จี อ๋องแห่่งเอียน (燕王 司馬機 เยียนหวาง ซือหม่า จี) บุตรชายคนที่ 7
    • ซือหม่า หย่งจั้ว (司馬永祚) บุตรชายคนที่ 8
    • ซือหม่า เหยียนจั้ว อ๋องแห่งเล่อผิง (樂平王 司馬延祚 เล่อผิงหวาง ซือหม่า เหยียนจั้ว) บุตรชายคนที่ 9
    • เจ้าหญิงฉางชาน แต่งงานกับหวาง จี้ (王濟)

บรรพบุรุษ

ซือหม่า เลี่ยง
ซือหม่า จฺวิ้น (ค.ศ. 113–197)
สุมาหอง (ค.ศ. 149–219)
สุมาอี้ (ค.ศ. 179–251)
สุมาเจียว (ค.ศ. 211–265)
จาง วาง
จาง ชุนหฺวา (ค.ศ. 189–247)
ชานชื่อแห่งโห้ลาย

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย