ชาลเลนเจอร์ 2

เอฟวี 4034 ชาลเลนเจอร์ 2 (อังกฤษ: FV4034 Challenger 2) เป็นรถถังประจัญบานหลักสัญชาติอังกฤษที่ประจำการอยู่ในกองทัพบกสหราชอาณาจักรและกองทัพบกโอมาน มันถูกออกแบบและสร้างโดยบริษัทวิกเกอร์ส ดีเฟนซ์ ซิสเท็มส์ของอังกฤษ (ตอนนี้เป็นบีเออี ซิสเท็มส์ แลนด์ แอนด์ อาร์มเมนท์ส)[3]

เอฟวี 4034 ชาลเลนเจอร์ 2
บทบาทรถถังประจัญบานหลัก
สัญชาติ บริเตนใหญ่
ประจำการปีพ.ศ. 2541-ปัจจุบัน
ผู้ใช้งานกองทัพบกอังกฤษ, กองทัพบกโอมาน
สงครามสงครามอ่าว
บริษัทผู้ผลิตอัลวิส วิกเกอร์ส, บีเออี ซิสเทมส์
มูลค่า4,217,000 ปอนด์[1]
จำนวนที่ผลิตไม่เกิน 446 คัน
น้ำหนัก62.5 ตัน
ความยาว8.3 เมตร
11.5 เมตร (รวมปืน)
ความกว้าง3.5 เมตร
4.2 เมตร (รวมเกราะเสริม)
ความสูง2.5 เมตร
ลูกเรือ4 นาย (ผู้บัญชาการรถถัง พลปืน พลบรรจุ และพลขับ)
เกราะเกราะช็อบแฮม/ดอร์เชสเตอร์ ระดับ 2 (เป็นความลับ)
อาวุธหลักปืนใหญ่ลำกล้องเกลียวแอล30เอ1 ขนาด 120 ม.ม. พร้อมกระสุน 52 นัด
อาวุธรองปืนกล แอล94เอ1 อีเอ็กซ์-34 ขนาด 7.62 มม.
ปืนกล แอล37เอ2 ขนาด 7.62 มม.
เครื่องยนต์เครื่องยนต์ดีเซลวี12 เพอร์กินส์ ซีวี-12 บรรจุน้ำมัน 26 ลิตร
1,200 แรงม้า
กำลัง/น้ำหนัก19.2 แรงม้า/ตัน
ระบบส่งกำลังระบบสงกำลังแบบเกียร์ เดวิด บราวน์ ทีเอ็น54 (เดินหน้า 6 เกียร์ ถอยหลัง 2 เกียร์)
ระบบช่วงล่างสปริงไฮโดรนิวเมติก
ระยะห่างระหว่างตัวถังกับพื้น0.5 เมตร[2]
ความจุเชื้อเพลิง1,592 ลิตร[2]
พิสัย450 กิโลเมตร[2]บนถนน
250 กิโลเมตร[2] นอกถนน
ความเร็ว56 กม./ชม.[2] บนถนน
48.3 กม./ชม.[2] นอกถนน

ชาลเลนเจอร์ 2 เป็นรถถังที่ออกแบบใหม่มาจากชาลเลนเจอร์ 1 แม้ว่าตัวรถและส่วนขับเคลื่อนนั้นจะคล้ายคลึงกัน แต่ชาลเลนเจอร์ 2 นั้นมีชิ้นส่วนที่ออกแบบและสร้างขึ้นใหม่กว่าของชาลเลนเจอร์ 1 และมีเพียง 5% ของชิ้นส่วนที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับรถถังทั้งสองแบบได้ ชาลเลนเจอร์ 2 ได้เข้าแทนที่ชาลเลนเจอร์ 1 ในกองทัพบกอังกฤษและกองทัพบกโอมานเองก็ใช้รถถังนี้เช่นกัน ชาลเลนเจอร์ 2 ได้เข้าร่วมรบในบอสเนีย คอซอวอ และอิรัก

ประวัติ

ชาลเลนเจอร์ 2 เป็นรถถังแบบที่สามในตระกูลชาลเลนเจอร์ โดยรถถังแบบแรกคือเอ30 ชาลเลนเจอร์ เป็นรถถังในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้โครงของรถถังครอมเวลล์พร้อมปืนใหญ่ 17-ปอนด์ รถถังแบบที่สองคือชาลเลนเจอร์ 1 ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นรถถังประจัญบานหลักของอังกฤษตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 2523-2533

วิกเกอร์ส ดีเฟนซ์ ซิมเท็มส์ได้เริ่มพัฒนารถถังที่จะทำหน้าที่ต่อจากชาลเลนเจอร์ 1 ในปีพ.ศ. 2529 บริษัทวิกเกอร์สได้ยื่นแผนการสร้างชาลเลนเจอร์ 2 อย่างเป็นทางการให้กับกระทรวงกลาโหมของอังกฤษขอเรียกร้องหารถรถถังรุ่นใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ จอร์จ ยังเกอร์ ได้ประกาศให้สภาสามัญชนทราบว่า บริษัทวิกเกอร์สจะได้รับสัญญามูลค่า 90 ล้านปอนด์ในการสร้างรถถังตัวอย่างเพื่อนำมาสาธิต ข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในเดือนมกราคม พ.ศ. 2532[4] การสาธิตประกอบด้วยการทดสอบสามขั้นตอนด้วยกัน โดยจัดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2532 มีนาคม พ.ศ. 2533 และกันยายน พ.ศ. 2533 เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบบริษัทวิกเกอร์สจะต้องหาบรรลุปัจจัยทั้ง 11 ของรถถัง[4]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534 หลังจากการแข่งกันกับรถถังแบบอื่นๆ (รวมทั้งเอ็ม1เอ2 เอบรามส์และลีโอพาร์ด 2) กระทรวงกลาโหมของอังกฤษได้วางคำสั่งซื้อรถถัง 127 คันและรถถังสำหรับฝึกอีก 13 คันเป็นมูลค่า 520 ล้านปอนด์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2537 ได้มีการสั่งซื้อรถถังอีก 259 คัรและรถถังฝึกขับอีก 9 คัน เป็นจำนวนเงิน 800 ล้านปอนด์ ประเทศโอมานได้สั่งซื้อรถถังชาลเลนเจอร์ 2 จำนวน 18 คันในปีพ.ศ. 2537 และอีก 20 คันในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540

การผลิตเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2536 โดยมีสถานที่ผลิตหลักสองแห่งคือ พื้นที่เอลส์วิกค์ ทีน และแวร์ และที่บาร์นโบว์ในลีดส์ มีผู้ทำสัญญารับช่วงกว่า 250 ราย รถถังคันแรกถูกส่งมอบในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2537

การออกแบบ

อาวุธ

รถถังชาลเลนเจอร์ 2 ที่กำลังยิงปืนใหญ่ขณะทำการซ้อมรบ

ชาลเลนเจอร์ 2 มีอาวุธหลักเป็นปืนใหญ่แอล30เอ1 ขนาด 120 มม.[5] ซึ่งเป็นปืนรุ่นถัดจากปืนใหญ่แอล11 ของรถถังชิฟเทนและชาลเลนเจอร์ 1 ปืนถูกทำขึ้นจากเหล็กที่ผ่านกระบวนการนำกลับมาหลอมใหม่ในแสลกพร้อมภายในที่เป็นโครเมียมอัลลอยที่มีความแข็งแกร่งสูง ปืนนี้มีระบบขับไอเสียและความคุมโดยระบบอิเลคทรอนิกส์ทั้งหมด ป้อมปืนสามารถหมุนได้ 360 องศาภายใน 9 วินาที

สิ่งที่ปืนนี้แตกต่างจากรถถังคันอื่นๆ ในกลุ่มนาโต้ก็คือ มันเป็นปืนที่มีลำกล้องเกลียว เพราะว่ากองทัพบกอังกฤษนั้นใช้กระสุนหัวอัดทำลายด้วยระเบิดแรงสูง (high explosive squash head) กระสุนดังกล่าวสามารถยิงได้ไกลกว่ากระสุนเจาะเกราะทั่วไปและสามารถจัดการกับอาคารและพาหนะหุ้มเกราะขนาดเบาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในตัวรถถังจะบรรจุกระสุนปืนใหญ่ไว้ทั้งหมด 49 นัด ประกอบด้วยกระสุนเจาะเกราะพลังงานจลน์ แอล27เอ1 กระสุนหัวอัดทำลายด้วยระเบิดแรงสูง แอล31 และกระสุนฟอสฟอรัสขาว แอล34 การบรรจุกระสุนยังคงใช้วิธีบรรจุกระสุนและตัวประจุแยกจากกัน สำหรับกระสุนเกราะเกราะทั่วไปจะใช้ตัวประจุติดไฟง่าย และตัวประจุแบบครึ่งวงกลมใช้กับกระสุนระเบิดแรงสูงและกระสุนฟอสฟอรัส ท่อระบายอากาศจะถูกใช้เพื่อเริ่มต้นการยิงปืนใหญ่ การยิงอาวุธหลักจึงมีด้วยกันสามขึ้นตอนคือ บรรจุตัวกระสุน ตัวประจุ และท่อปล่อยความดัน

ชาลเลนเจอร์ 2 ยังมีอาวุธรองเป็นปืนกล แอล94เอ1 อีเอ็กซ์-37 ขนาด 7.62 มม.ที่ข้างกระบอกปืนใหญ่ และปืนกลแอล37เอ2 ที่บนฝาปิดพลบรรจุกระสุน รถถังบรรทุกกระสุนขนาด 7.62 มม.ทั้งหมด 4,200 นัด

การควบคุมการยิงและการมองเห็น

ภาพระยะใกล้ของชาลเลนเจอร์ 2

รถถังนี้ใช้ตัวควบคุมการยิงด้วยคอมพิวเตอร์แบบดิจิทัลของเจเนรัล ไดนามิกส์ที่ประกอบด้วยตัวประมวลผล 32-บิต พร้อมกับฐานข้อมูลเอ็มไอแอล เอสทีดี1553บี ที่สามารถรองรับระบบเพิ่มเติมได้ เช่น ระบบควบคุมข้อมูลสนามรบ

ผู้บัญชาการรถถังสามารถมองเห็นได้เป็นมุมกว้างด้วยกล้องซาเจม วีเอส 580-10 พร้อมเครื่องวัดระยะด้วยเลเซอร์ มีระยะมองบนล่างที่ +35° ถึง −35° พร้อมกล้องหักสายตาอีก 8 ตัวเพื่อมองให้เห็น 360 องศารอบรถถัง

กล้องจับความร้อนและศูนย์เล็งปืนแบบทอกส์ 2 (TOG II) ของบริษัทเธลส์ทำให้รถถังสามารถมองเห็นในเวลากลางคืนได้ รูปภาพที่เป็นความร้อนจะถูกแสดงบนหน้าจอของพลปืนและผู้บัญชาการรถถัง พลปืนจะมาสามารถหาระยะได้ด้วยเครื่องหาระยะด้วยเลเซอร์ที่มีพิสัยตั้งแต่ 200 เมตรถึง 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีกล้องหักสายตาที่สามารถขยายความคมชัดของภาพสำหรับพลขับในตอนกลางคืนอีกด้วย

การป้องกัน

ชาลเลนเจอร์ 2 เป็นหนึ่งในรถถังที่มีเกราะหนาที่สุดและมีการป้องกันดีที่สุดในโลก[6] ป้อมปืนและตัวรถใช้เกราะช็อบแฮมรุ่นสอง (หรือดอร์เชสเตอร์) ที่รายละเอียดยังคงเป็นความลับ ระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีถูกติดตั้งไว้ที่ตัวป้อมปืน

ทั้งสองด้านข้างของป้อมปืนมีเครื่องยิงระเบิดควันแอล8 ติดตั้งอยู่ นอกจากนี้ชาลเลนเจอร์ 2 นั้นสามารถสร้างม่านควันได้ด้วยการฉีดน้ำมันดีเซลเข้าไปที่ท่อไอเสีย

ระบบขับเคลื่อน

ชาลเลนเจอร์ 2 ของทหารม้ารักษาพระองค์สก็อตที่กำลังข้ามสิ่งกีดขวางในการฝึกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ในอิรัก
  • เครื่องยนต์: เครื่องยนต์ดีเซล ซีวี12 26.6 ลิตรของเพอกินส์ที่ให้กำลัง 1,200 แรงม้า
  • เกียร์: ระบบส่งกำลังแบบเกียร์ ทีเอ็น54 ของเดวิด บราวน์ (มี 6 เกียร์หน้าและ 2 เกีบร์หลัง)
  • ระบบช่วงล่าง: ระบบไฮโดรนิวเมติก
  • ตีนตะขาบ: แบบปรับด้วยไฮดรอลิกของวิลเลียม คุก ดีเฟนซ์
  • ความเร็วสูงสุด: 60 กม./ชม. (บนถนน) ; 40 กม./ชม. (ข้ามประเทศ)
  • พิสัย: 450 กม. (บนถนน); 250 กม. (ข้ามประเทศ)

ลูกเรือและการอำนวยความสะดวก

กองทัพบกอังกฤษยังคงใช้ลูกเรือ 4 คนเหมือนเดิม โดยรวมพลบรรจุด้วย เพราะว่าหลังจากการทำการประเมินความเสี่ยงแล้ว การใช้เครื่องบรรจุกระสุนอัตโนมัตินั้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในสนามรบ การผิดพลาดของกลไกและระยะเวลาในการซ่อมบำรุงนั้นเป็นสิ่งแรกที่กังวล

เช่นเดียวกับรถถังของอังกฤษตั้งแต่รถถังเซนจูเรียน ชาลเลนเจอร์ 2 มีที่ทำน้ำร้อนสำหรับชงชาและในการประกอบอาหารถุง[7] สิ่งนี้เป็นที่นิยมทั่วไปสำหรับยานเกราะในกองทัพอังกฤษและยังเป็นเอกลักษณ์ของสหราชอาณาจักรอีกด้วย

ประวัติการใช้งาน

ชาลเลนเจอร์ 2 ได้ทำภารกิจรักษาความสงบและทำการซ้อมรบมากมายก่อนที่มันจะได้เข้าสู้สนามรบจริงในการบุกอิรักเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546 กองพลน้อยยานเกราะที่ 7 จากกองพลยานเกราะที่ 1 ของสหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมรบพร้อมชาลเลนเจอร์ 2 จำนวน 120 คัน รถถังแสดงบทบาทสำคัญในการล้อมเมืองบาสรา ด้วยการยิงสนับสนุนให้กับกองกำลังของอังกฤษ ความสามารถของรถถังทำออกมาได้ดีเยี่ยมและปัญหาที่พบในการซ้อมรบก่อนหน้าได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

ในช่วงการบุกอิรักในปีพ.ศ. 2546 ไม่มีรถถังชาลเลนเจอร์ 2 คันใดถูกทำลายโดยข้าศึก มีเพียงหนึ่งคันเท่านั้นที่ถูกระเบิดจากระเบิดแสวงเครื่อง โชคร้ายที่รถถังคันดังกล่าวไม่ได้ติดตั้งเกราะ"ดอร์เชสเตอร์" ทำให้พลขับได้รับบาดเจ็บ ในการปะทะกันครั้งหนึ่งในบริเวณเมือง รถถังชาลเลนเจอร์ 2 คันหนึ่งถูกโจมตีด้วยปืนกลและอาร์พีจี ช่องมองของพลขับถูกทำลายและช่องมองที่เหลือถูกทำลายในขณะที่กำลังล่าถอย ทำให้ตีนตะขาบของรถถังตกลงไปในคูน้ำ รถถังถูกยิงด้วยอาร์พีจี 14 ลูกในระบะประชิดและถูกยิงด้วยอาวุธต่อต้านรถถังมิลานอีกหนึ่งลูก[8] ลูกเรือทั้งหมดรอดชีวิตอย่างปลอดภัยภายในรถถังและได้รับการช่วยเหลือในเวลาต่อมา หลังจากการซ่อมแซมนานหกชั่วโมงรถถังคันดังกล่าวจึงกลับมาใช้งานได้ ในอีกเหตุการณ์หนึ่งมีรถถังชาลเลนเจอร์ 2 ที่ถูกยิงด้วยอาร์พีจีถึง 70 ลูกแต่สามารถรอดมาได้[9]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ที่อัล-อะมาราห์ อาร์พีจี-29 ลูกหนึ่งได้ยิงทะลุเข้าส่วนหน้าของรถถังบริเวณห้องคนขับ ทำให้พลขับเสียเท้าทั้งสองข้างและมีลูกเรืออีกสองคนได้รับบาดเจ็บ แต่พลขับสามารถเข้าเกียร์ถอยหลังและถอยกลับไปที่ค่ายที่ห่างไป 2.4 กิโลเมตรได้ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ถูกประกาศสู่สาธารณะจนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยทางกระทรวงกลาโหมอังกฤษได้ออกมากล่าวว่า "เราไม่เคยอ้างว่าชาลเลนเจอร์ 2 นั้นไม่สามารถถูกเจาะทะลุได้"[10][11]

มีรถถังชาลเลนเจอร์ 2 สองคันที่ได้รับความเสียหายและอีกหนึ่งคันถูกทำลาย:

  • 25 มีนาคม พ.ศ. 2546 – เกิดเหตุการณ์ยิงกันเองในบาสราที่มีชาลเลนเจอร์ 2 หนึ่งคันจากกองกำลังแบล็ค วอชท์ (กรมรถถังรักษาพระองค์ที่ 2) และชาลเลนเจอร์ 2 อีกหนึ่งงคันจากกองพลหอกราชินีปะทะกันหลังจากเข้าใจผิดว่าเป็นศัตรู รถถังคันแรกได้ยิงเข้าใส่ช่องผู้บัญชาการรถถังของรถถังคันที่สอง ทำให้สะเก็ดกระสุนร้อนกระเด็นเข้าไปในส่วนป้อมปืนที่มีกระสุนอยู่และทำให้เกิดการระเบิดจนทำลายรถถังและสังหารลูกเรืออีกสองคน ซากของรถถังถูกทำลายทิ้ง เป็นชาลเลนเจอร์ 2 เพียงคันเดียวที่ถูกทำลายโดยสิ้นเชิงขณะปฏิบัติหน้าที่[12]
  • 6 เมษายน พ.ศ. 2550 – ที่เมืองบาสรา ประเทศอิรัก รถถังคันหนึ่งถูกเจาะทะลวงด้วยไออีดีที่ด้านใต้รถ ทำให้พลขับเสียนิ้วเท้าสามนิ้วและทหารอีกหนึ่งนายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย[13]

เพื่อที่จะป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ในอนาคต รถถังชาลเลนเจอร์ 2 จึงได้รับการยกระดับที่มีเกราะแบบใหม่และเกราะเสริมที่ผลิตโดยบริษัทราฟาเฟล แอดวานซ์ ดีเฟนซ์ ซิสเทมส์ของอิสราเอล[14] ปัจจุบันเมื่อใช้ในปฏิบัติการ ชาลเลนเจอร์ 2 จะได้รับการติดตั้งให้เป็นระบบมาตรฐานมากขึ้นและเสริมด้วยการยกระดับของเกราะและระบบอาวุธ

การยกระดับและรุ่นต่างๆ

คลิป

ชาลเลนเจอร์ 2 พร้อมแผงเกราะระเบิดตอบสนองที่ผลิตโดยบริษัทราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนส์ ซิสเทมส์[14]

โครงการพัฒนาอาวุธของชาลเลนเจอร์หรือโครงการคลิป (Challenger Lethality Improvement Programme) เป็นโครงการที่แทนที่ปืนใหญ่ลำกล้องเกลียว แอล30เอ1 ด้วยปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยงไรน์เมทัลล์ แอล55 ขนาด 120 มม.ที่ใช้โดยรถถังเลพเพิร์ด 2เอ6 การเปลี่ยนมาใช้ปืนลำกล้องเกลี้ยงนั้นทำให้ชาลเลนเจอร์ 2 สามารถใช้กระสุนของนาโต้ซึ่งผลิตโดยอเมริกาและเยอรมนีได้ กระสุนเหล่านี้ประกอบด้วย กระสุนเจาะเกราะด้วยพลังงานจลน์ที่ทำจากทังสเตน ซึ่งไม่มีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเมืองเหมือนกระสุนยูเรเนี่ยมเสื่อมอายุ ด้วยสายการผลิตกระสุนขนาด 120 มม.ในสหราชอาณาจักรที่ปิดตัวไปเป็นปี ทำให้จำนวนกระสุนของแอล30เอ1 นั้นมีจำกัด[15] นับเป็นโชคดีที่ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการทดสอบกระสุนหัวระเบิดแรงสูงที่ผลิตขึ้นใหม่ในเบลเยี่ยม นี่หมายความว่าชาลเลนเจอร์ 2 สามารถใช้กระสุนทังสเตนและกระสุนหัวระเบิดแรงสูงได้หากจำเป็น ซึ่งเป็นการประหยัดกระสุนของปืนแอล30 ไปได้

มีชาลเลนเจอร์ 2 หนึ่งคันที่ติดตั้งปืนแอล55 และถูกทดสอบเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2549[16] ปืนลำกล้องเกลี้ยงนั้นมีความยาวเดียวกันกับปืนแอล30เอ1 และสามารถติดตั้งได้พอดีกับระบบเดิมของรถถัง การทดสอบในช่วงแรกเผยให้เห็นว่ากระสุนทังสเตน ดีเอ็ม53 ของเยอรมนีนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่ากระสุนยูเรเนี่ยมเสื่อมสภาพ[6] จะต้องมีการปรับเปลี่ยนที่เก็บกระสุนและอุปกรณ์จัดการเพื่อรองรับกระสุนแบบใหม่ที่บรรจุกระสุนแบบขั้นตอนเดียว ในปี พ.ศ. 2549 ประเมินกันว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งปืนไรน์เมทัลล์ให้กับชาลเลนเจอร์ทุกคันในกองทัพบกอังกฤษ มีมูลค่าถึง 386 ล้านปอนด์[15]

การพัฒนาอื่นๆ ประกอบด้วยระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีแบบใหม่[17]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 กระทรวงกลาโหมอังกฤษได้เชิญให้บริษัทบีเออีเข้าประกวดราคาสำหรับโครงการเสริมความทนทานและความสามารถให้ชาลเลนเจอร์ 2 หรือซีทูซีเอสพี (Challenger 2 Capability Sustainment Program) ซึ่งรวบการยกระดับทั้งหมดไว้ในหนึ่งโครงการ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงกลางปี พ.ศ. 2551 โครงการดังกล่าวก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกยกเลิกเนื่องจากทางกระทรวงพบกับปัญหาการเงิน[18]

ประเทศผู้ใช้งาน

ประเทศที่ใช้รถถังชาลเลนเจอร์ 2

อ้างอิง

  • George Forty & Jack Livesey,the World Encyclopedia of Tanks,Anness,2006
🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย