การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535

การปะทะครั้งสุดท้ายระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่รัฐในปี พ.ศ. 2535

การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535 หรือ ยุทธการนเรศวร[1][2] หรือ ยุทธการ 35 วัน นรกป่าบางกลอย[3] คือเหตุการณ์ที่ตำรวจตระเวนชายแดนได้นำกำลังจำนวน 8 นายพร้อมพรานนำทางไปพิสูจน์ทราบกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในบริเวณพื้นที่ป่าบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และแนวชายแดนพม่า–ไทย เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 และปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่ ทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนเสียชีวิต 4 นาย พรานนำทางเสียชีวิต 1 ราย

การปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535
ส่วนหนึ่งของ สงครามปราบปรามยาเสพติด และการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
วันที่7 สิงหาคม – 10 กันยายน พ.ศ. 2535
สถานที่
ผลกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ชุดสุดท้าย ถูกเปิดเผยที่ตั้งในเขตงานตะนาวศรีจึงทยอยวางอาวุธในปี พ.ศ. 2536–2537
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ดาบตำรวจ อรัญ กิจกุล หัวหน้าชุดปฏิบัติการหาข่าว ธง แจ่มศรี (สหายธง)
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองบินตำรวจ
กำลัง
ตำรวจตระเวนชายแดน 8 นาย
พรานนำทาง 1 คน
ไม่ทราบจำนวน
ความสูญเสีย
ตำรวจตระเวนชายแดน 4 นาย
พรานนำทาง 1 คน
ไม่ทราบจำนวน

เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) กับเจ้าหน้าที่รัฐ

กองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้ปรากฏในภายหลังว่าคือ กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ชุดสุดท้ายของประเทศไทยนำโดยสหายธงที่ถอยร่นปักหลักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว[3] โดยถือว่าเป็นการปะทะครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่รัฐของไทย[3][4][5]

ภูมิหลัง

ในอดีต แนวชายแดนไทย–พม่า ช่วงจังหวัดเพชรบุรี ไม่มีที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในฝั่งประเทศพม่ารูปแบบเดียวกับช่วงอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 ฝ่ายความมั่นคงซึ่งทราบการข่าวมาว่า มีการเคลื่อนไหวของ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ในพื้นที่กลางป่าแก่งกระจานติดต่อกับชายแดนไทยพม่า จึงได้จัดชุดตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร (ตำรวจพลร่ม) และตำรวจตระเวนชายแดนจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 เป็นกำลังผสมจำนวน 1 ชุด เพื่อลงพื้นที่หาข่าวเป็นระยะเวลา 7 วัน[3] ซึ่งได้เกิดการปะทะกันตั้งแต่นำเครื่องลงจอดเพื่อส่งกำลัง[6] ข้อมูลจากกำลังชุดแรกคาดว่าเป็นขบวนการค้ายาเสพติด[3] (ผลิตเฮโรอีน)[7] และการค้าแรงงานเถื่อนในฝั่งประเทศพม่า แต่ข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังอีกชุดเข้าไปหาข่าวเพิ่มเติม[3]

ความขัดแย้ง

ปฏิบัติการหาข่าว

ร.ต.อ. ณรงค์ฤทธิ์ พรหมโยธี (ยศในขณะนั้น นักบินเฮลิคอปเตอร์ในปฏิบัติการ

ก่อนเดินทางจริงเฮลิคอปเตอร์ได้ทำการบินสำรวจพื้นที่ลงจอดมาก่อนแล้วหนึ่งครั้งในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยมี ร้อยตำรวจเอก ณรงค์ฤทธิ์ พรหมโยธี ทำหน้าที่เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจที่จะเป็นนักบินในวันปฏิบัติการจริง เดินทางไปพร้อมกับ จ่าสิบตำรวจ โชคดี ชัยยะเจริญ และผู้กำกับการที่ดูแลปฏิบัติการ ใช้ระยะเวลาประมาณ 13 นาทีในการไปถึงพื้นที่เป้าหมาย ระหว่างตรวจการณ์พบหมู่บ้านอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ลงจอด ซึ่งมีพื้นที่พอที่จะนำเครื่องลงจอดเพื่อส่งกำลังพลลงได้ จึงได้สอบถามนักบินว่าเป็นหมู่บ้านใด ได้รับคำตอบว่าเป็นหมู่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นมิตรกับทางการไทย แต่จ่าโชคดีสังเกตเห็นความผิดปกติในการปลูกสร้างของสิ่งก่อสร้างซึ่งแปลกไปจากธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง คือการปลูกบ้านสลับฟันปลาตามลำน้ำ มีลักษณะเหมือนการก่อสร้างเชิงยุทธวิธี แต่ก็ไม่ได้ทัดทานอะไรในการตรวจการณ์ครั้งนั้น[6]

ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เวลา 09.00 น. ชุดปฏิบัติการหาข่าวด้วยวิธีการแทรกซึมและหลีกเลี่ยงการตรวจพบ[6] ประกอบกำลังตำรวจตระเวนชายแดนจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร (ตำรวจพลร่ม) จำนวน 6 นาย และจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 นาย รวม 8 นาย และพรานป่านำทางอีก 1 คน[7] ประกอบไปด้วย

  • กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร จำนวน 6 นาย[6]
    • ดาบตำรวจ อรัญ กลิ่นกุล หัวหน้าชุดปฏิบัติการหาข่าว
    • ดาบตำรวจ สำเริง ชัยชนะสงคราม (ไชยชนะสงคราม)
    • จ่าสิบตำรวจ โชคดี ชัยยะเจริญ[6]
    • จ่าสิบตำรวจ อดุลย์ พวงงาม[8]
    • สิบตำรวจโท พลอย ศิลปศร[9]
    • สิบตำรวจโท สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ[10]
  • เจ้าหน้าที่การข่าว กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 จำนวน 2 นาย[6]
    • สิบตำรวจโท ไพฑูรย์
    • สิบตำรวจโท ภิญโญ มีทรัพย์[7]
  • นายเมือง เอมมาก พรานป่าชาวกะเหรี่ยงนำทาง[6]

การปะทะครั้งแรก

ชุดปฏิบัติการหาข่าวเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยเฮลิคอปเตอร์ได้ร่อนลงจอดในพื้นที่เป้าหมายและถอนตัวออกจากพื้นที่ และมีกำหนดในการนัดหมายในการกลับมารับกลับในอีก 7 วันข้างหน้า[3] และใช้อาณัติสัญญาณในการลงจอดคือธงชาติไทย และหากพื้นที่ถอนตัวแรกไม่สามารถใช้การได้จะไปยังจุดที่ 2 หากไม่สามารถใช้งานได้อีกเช่นกันให้บินตรวจสอบตามแนวลำน้ำ[6] หลังจากชุดปฏิบัติการลงมายังพื้นที่แล้วได้พบความผิดปกติของภูมิประเทศ โดยมีกระต๊อบปลูกอยู่ริมลำห้วยอยู่หลายหลัง พร้อมกับการขุดคูโดยรอบ[3] ลักษณะคล้ายคูรบ โดยชุดปฏิบัติการได้จัดกำลังเข้าไปตรวจการณ์กระต๊อบหลังนั้น ซึ่งหัวหน้าชุดเข้าใจผิดว่าหมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านใจแผ่นดินจากการสรุปการตรวจการณ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เป็นมิตรกับฝ่ายตน จึงได้แสดงตนว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน[6]

ขณะนั้นเองชุดปฏิบัติการได้ถูกซุ่มโจมตีจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโดยไม่ทันตั้งตัวด้วยการระดมยิงเป็นชุด ทำให้ชุดปฏิบัติการต้องยิงตอบโต้และถอยร่นเข้าไปในแนวป่า[3] ซึ่งพรานป่าเป็นรายแรกที่ถูกกระสุนปืนทะลุแขนและขา แต่อาการยังไม่สาหัส พวกเขาจึงคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่หมู่บ้านใจแผ่นดินอย่างที่เข้าใจกัน จึงถอยร่นไปยังทิศตะวันออกเพื่อกลับเข้าแนวเขตของประเทศไทย อาศัยเข็มทิศ และความชำนาญพื้นที่ของพรานเมือง และจ่าโชคดี ซึ่งชุดปฏิบัติการดังกล่าวหลบหนีออกมาได้จากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโดยไม่ถูกตรวจพบถึง 5 วัน[7][4] ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากการปะทะ ซึ่งจ่าโชคดีได้เน้นย้ำว่าให้ทำการซ่อนพรางอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบและสะกดรอยจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย[6]

การปะทะครั้งที่ 2

ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ชุดปฏิบัติการหาข่าวได้ปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอีกครั้งขณะกำลังนอนพักผ่อนเอาแรงบริเวณโป่งดินระหว่างยอดเขาและเชิงเขา จากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายประมาณ 20-30 คน เปิดฉากกระหน่ำยิงเข้าใส่ จนมีผู้เสียชีวิต 3 นาย[4] คือ สิบตำรวจโท พลอย ศิลปสอน เสียชีวิตคาที่ สิบตำรวจโท ไพฑูรย์ ปิดสายะ โดนยิงที่สะโพกบาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา และนายเมือง กระสุนถูกที่คอ เสียชีวิตคาที่ ในขณะที่ดาบตำรวจ อรัญ ถูกกระสุนยิงโดนแขน และจ่าสิบตำรวจ อดุลย์ หายตัวไปในระหว่างการปะทะ โดยระหว่างการปะทะตำรวจตระเวนชายแดนได้ยิงตอบโต้และปาระเบิดขว้างตอบโต้ไปจำนวน 2 ชุด จนกระทั่งเสียงปืนสงบลง ชุดปฏิบัติการที่เหลือคาดว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้ล่าถอยไปแล้ว จึงได้เก็บปืน เครื่องกระสุนจากผู้เสียชีวิตและสิ่งของจำเป็น พร้อมกับทำศพอย่างเรียบง่ายและทำสัญลักษณ์เพื่อกลับมาเก็บกู้ศพในภายหลัง[3][7] ซึ่งจ่าโชคดีคาดกว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายสามารถติดตามสะกดรอยมาได้จากการประมาทภายในทีมที่ไม่ซ่อนพรางผ้าก็อตซ์ทำแผลด้วยการขุดฝังตามข้อกำชับ[6]

จากนั้นกำลังชุดที่เหลือได้ถอยร่นจากการติดตามไล่ล่า โดยซ่อนตัวในพุ่มไม้ในเวลากลางวัน และเคลื่อนที่ในเวลากลางคืนตามแนวเชิงเขา ระหว่างนั้นเสบียงอาหารที่เตรียมมาสำหรับ 7 วันได้ร่อยหรอลง กำลังได้ถอยร่นลงมาในแนวป่าทึบ จนกระทั่งพบตัวจ่าอดุลย์ จากพุ่มไม้สั่นไหวและเห็นหมวกไหมพรม จึงได้ค่อย ๆ แสดงตัวให้จ่าอดุลย์รับทราบ โดยจ่าอดุลย์ได้นำเนื้อค่างส่วนขามาด้วย จึงได้แบ่งให้กำลังในชุดทานกัน[7]

ในช่วงแรกของการถอยร่นหลบหนีจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย จ่าสำเริงได้เล่าว่า ชุดปฏิบัติการได้ใช้เส้นทางตามแนวทางน้ำ แต่ก็ถูกจัดกำลังไล่ล่าอย่างหนัก จึงเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการเดินหนีขึ้นภูเขา แต่ช่วงเวลานั้นก็มีฝนตกอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ถูกจัดกำลังมาปิดล้อมอีก จึงทำให้ทราบแน่ชัดแล้วว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายตั้งใจจะปิดล้อมเพื่อฆ่าชุดปฏิบัติการทั้งหมด โดยได้ปรับกลยุทธมาเดินในลำน้ำซึ่งเป็นลำธารความลึกไม่มาก[7] สามารถเดินได้ เพื่อซ่อนร่องรอยในการเดินทาง จนกระทั่งลำน้ำดังกล่าวบรรจบกับลำน้ำขนาดใหญ่ ไม่สามารถเดินเท้าไปต่อได้ จึงได้วางกำลังคุ้มกันและชุดที่เหลือต่อแพเพื่อล่องตามลำน้ำ[6] แต่ก็เจอกับผาน้ำตกทำให้แพแตก โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บจึงต้องเดินเท้ากันต่อ ระหว่างนั้นก็มีการแยกกำลังขึ้นไปอยู่บนที่สูงเพื่อติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสาร แต่ไม่สามารถใช้ติดต่อกับหน่วยเหนือได้[7]

ชุดปฏิบัติการได้ถอยร่นไปจนถึงพื้นที่นัดหมายถอนตัวตามกำหนดครบ 7 วัน แต่ปรากฏว่าเฮลิคอปเตอร์กลับมองไม่เห็นชุดของพวกเขาเนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด[6] และได้บินตัดผ่านไปโดยไม่เห็นสัญญาณที่ส่งให้ ทำให้ชุดปฏิบัติการต้องอาศัยอยู่ในป่าต่อ โดยจ่าสิบตรีโชคดีบอกเล่าว่าได้อาศัยของป่า เช่น ลูกมะเดื่อ งูเขียว แม้แต่ตัวทากเพื่อประทังชีวิต วิชาการเอาชีวิตรอดที่ได้รับการฝึกฝนมาได้ถูกนำมาใช้ทั้งหมดหลังจากนั้น โดยชุดปฏิบัติการได้ถอยร่นต่อไปจนไม่ทราบวันทราบคืน จนมาเจอไม้ที่ถูกฟันสัญลักษณ์คล้ายกับของชนเผ่ากะเหรี่ยง จึงได้จัดทีมล่วงหน้าไปก่อน 2 นาย คือจ่าสิบตรี สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ และ สิบตำรวจโท ภิญโญ มีทรัพย์ จนกระทั่งผ่านไปหลายชั่วโมงก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจำนวน 2 นัด ชุดปฏิบัติการหลักจึงทราบได้ว่าอาจเกิดปัญหากับชุดล่วงหน้าของจ่าสมชายและสิบตำรวจโทภิญโญ จึงลดความเร็วการเคลื่อนที่ลง เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ แต่ยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก[7]

ความช่วยเหลือ

กระทั่งชุดปฏิบัติการที่เหลือทั้ง 4 นายมั่นใจแล้วว่าได้ข้ามกลับเข้ามาในฝั่งไทยแล้ว ซึ่งชุดปฏิบัติการหลักยังคงคาดหวังว่าชุดปฏิบัติการล่วงหน้าที่เดินทางมาก่อนจะยังคงมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งชุดปฏิบัติการเดินทางมาพบกับศพของสิบตำรวจโทภิญโญ เสียชีวิตในท่านั่งมีเชือกผูกอยู่ที่คอ ที่หัวมีแผลถูกฟันขนาดใหญ่ที่เริ่มเน่า[7][3] มีรอยกรีดที่เท้าบริเวณเอ็นร้อยหวาย และปืนประจำกายสูญหายไป[6] ในขณะที่จ่าสมชายหาร่างไม่พบ พบเพียงกางกางซึ่งมีสัญลักษณ์ของหน่วยพลร่มลอยตามน้ำมา และน้ำมีกลิ่นสาปศพติดมาด้วย จึงคาดว่าเสียชีวิตแล้วเช่นกัน[7][3]

ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535[3] ชุดปฏิบัตการเดินตามลำน้ำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพบกับชุดค้นหาคือชาวกะเหรี่ยง 2 คน[7] คือหน่อสะ[1] และกะยอ[6] โดยขณะนั้นชุดปฏิบัติการได้ยกปืนขึ้นขู่ทีมค้นหา เนื่องจากไม่ไว้ใจว่าเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหรือไม่ ชาวกะเหรี่ยงทั้ง 2 จึงได้แนะนำว่าตนเป็นคนที่ทางการสั่งให้มาร่วมค้นหา โดยตนได้รับคำสั่งจากผู้กองนิพนธ์[6] เบื้องแรกชุดปฏิบัติการไม่เชื่อจึงได้สั่งให้พรานกะเหรี่ยงทั้ง 2 เทของออกจากย่ามทั้งหมด ซึ่งในนั้นมีซองยาของหน่วย ตชด. และห่อข้าวสุกที่กินไม่หมดติดมาด้วย ทำให้ข้าวห่อนั้นที่กะเหรี่ยงทั้ง 2 พกมาเป็นอาหารมื้อแรกของชุดปฏิบัติการหลังจากออกจากป่ามาได้ จากนั้นพรานชาวกะเหรี่ยงได้พาชุดปฏิบัติการทั้ง 4 นายไปยังหมู่บ้านซึ่งอยู่บนเขาสูง ซึ่งหมู่บ้านนั้นคือ หมู่บ้านใจแผ่นดิน ที่ปู่คออี้อาศัยอยู่นั่นเอง และได้ทานข้าวมื้อแรกอย่างเต็มที่ในหมู่บ้าน[7] ซึ่งกะเหรี่ยงที่ให้การช่วยเหลือทั้งหมดประกอบไปด้วย หน่อสะ[11][1] กะยอ[6] หน่อแอะ[12][11][1] โกละ และโมลิ[11]

ในเบื้องต้นนั้นชุดปฏิบัติการทั้ง 4 นายที่รอดชีวิตไม่ไว้วางใจใครทั้งสิ้น เนื่องจากคิดว่าเพื่อนของตนที่เสียชีวิตทั้ง 2 นายอาจจะเป็นฝีมือของชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากสัญลักษณ์ที่ได้พบก่อนจะแยกชุดออกจากกันมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อได้พบกับผู้ใหญ่บ้าน คือนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านบางกลอย[3] และคนของทางการไทยจึงได้วางใจและไว้ใจมากขึ้น และช่วยกันทำพื้นที่ลงจอดเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวเพื่อรองรับความช่วยเหลือ โดยทั้งหมดถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวหินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อตรวจเบื้องต้น[7] และย้ายไปพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ[6] ประกอบไปด้วย[7]

  • ดาบตำรวจ อรัญ กลิ่นกุล มีแผลถูกยิงบริเวณแขน อาการสาหัส
  • ดาบตำรวจ สำเริง ไชยชนะสงคราม
  • จ่าสิบตำรวจ อดุลย์ พวงงาม
  • จ่าสิบตำรวจ โชคดี ไชยะเจริญ

ในระหว่างการสูญหายของชุดปฏิบัติการหาข่าวทั้ง 9 รายนั้น ได้มีการส่งกำลังคนเดินเท้าเพื่อค้นหากว่า 300 คน ใช้อากาศยานเฮลิคอปเตอร์บินค้นหามากกว่า 200 เที่ยว รวมไปถึงอากาศยานปีกตรึงอีกกว่า 60 เที่ยว แต่ก็ไม่พบชุดปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนจึงได้พบชุดปฏิบัติการที่รอดชีวิตมาเพียง 4 นาย[7] ซึ่งปฏิบัติการค้นหาดังกล่าวมีครูป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้ที่ศึกษาและคลุกคลีอยู่กับชาวกะเหรี่ยงคอยประสานงานให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอยและใจแผ่นดินร่วมออกค้นหาชุดปฏิบัติการที่สูญหาย[13]

ผู้เสียชีวิตทั้งหมด

รายชื่อผู้เสียชีวิตของทางการไทยจากปฏิบัติการครั้งนี้ เรียงตามลำดับการเสียชีวิต ประกอบไปด้วย

  • นายเมือง เอมมาก พรานป่าชาวกะเหรี่ยง
  • สิบตำรวจโท พลอย ศิลปศร กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร
  • สิบตำรวจโท ไพฑูรย์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า
  • สิบตำรวจโท ภิญโญ มีทรัพย์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า
  • สิบตำรวจโท สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร

สิ่งสืบเนื่อง

หลังได้รับการช่วยเหลือ

หลังการช่วยเหลือ ชุดปฏิบัติการทั้ง 4 นายได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระพันปีหลวงได้พระราชทานเงินส่วนหนึ่งให้ และส่งเสียบุตรหลานของชุดปฏิบัติการทั้ง 8 นาย จนเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี[7][6]

ส่วนผู้เสียชีวิตทั้ง 4 นาย ไม่ได้รับการพูลบำเหน็จหรือการปรับเลื่อนชั้นยศแต่อย่างใดจากปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งการเก็บกู้ร่างสามารถทำได้เพียงร่างของ สิบตำรวจโท สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ และร่างของ สิบตำรวจโท ภิญโญ ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย ส่วนร่างของเจ้าหน้าที่อีก 2 นายและพรานป่าอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถเข้าไปเก็บกู้ร่างได้[6]

เปิดเผยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย

สหายธง หรือ ธง แจ่มศรี ผู้นำกองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งได้รับการเปิดเผยในปี พ.ศ. 2562 ว่าเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขตงานตะนาวศรี

ในภายหลังได้มีการออกมายอมรับว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ได้ปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 คือ กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตงานตะนาวศรี โดยเปิดเผยในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ณ งานฌาปนกิจ ธง แจ่มศรี ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนที่ 4 วัดพระประโทณเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม[3]

สหายโชติ ซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้อ่านประวัติของ ธง แจ่มศรี มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเปิดเผยถึงเรื่องราวในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เอาไว้ว่าได้ปะทะกับกับกำลังของตำรวจตระเวนชายแดน ในยุทธการ 35 วันนรกบางกลอย เหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในเวลานั้นได้มีการย้ายศูนย์การนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากจังหวัดชุมพร มาอยู่ในพื้นที่ตะนาวศรีเขตเหนือ (เพชรบุรี-ราชบุรี)[3][4]

การปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนในครั้งนั้น ถือเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) กับเจ้าหน้าที่รัฐ[3][4] ซึ่งสหายธง หรือ ธง แจ่มศรี มองว่าภารกิจที่แท้จริงของชุดปฏิบัติการหาข่าวของตำรวจตระเวนชายแดนนั้นไม่ใช้การพิสูจน์ทราบอย่างที่ได้ออกมาเปิดเผย แต่เป็นภารกิจในการ ดับเสียงปืนแตก หรือการมุ่งเป้าในการสังหารตนและกลุ่มคอมมิวนิสต์กลุ่มสุดท้ายที่เหลือกำลังอยู่ไม่มาก เนื่องจากเลือกวันในการปฏิบัติการคือวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งตรงกันกับวันเสียงปืนแตก เนื่องจากคัดกำลังพลที่มีความสามารถสูงมาปฏิบัติการในภารกิจดังกล่าว[4]

หลังจากการปะทะกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนในครั้งนั้น ทำให้ ที่มั่นจรยุทธ์สุดท้าย ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถูกเปิดเผย (แม้ขณะนั้นจนถึงก่อนการเปิดเผยเจ้าหน้าที่จะยังไม่ทราบว่าเป็น พคท.) จากการบุกเข้ามาถึงที่มั่น จึงต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง ก่อนจะถอนกำลังทั้งหมดจากพื้นที่ดังกล่าวเข้าไปในป่าลึกติดกับชายแดนพม่า และได้ประเมินว่าที่มั่นบางกลอยถูกตรวจพบแล้ว จึงได้ทยอยส่งสหายร่วมอุดมการณ์ของพรรคออกมาจากป่าจนหมด สิ้นสุดกองทหารป่าชุดสุดท้ายในปี พ.ศ. 2536[3] ซึ่งสหายธงได้อยู่ในป่าต่อจนถึงปี พ.ศ. 2537 จึงได้ออกจากป่ามา แต่ไม่ได้มอบตัวแต่อย่างใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2543 ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2493[4]

ปัจจุบันยังมีการจัดงานรำลึกวีรชนปฏิวัติ ณ อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี บ้านห้วยเกษม อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำทุกปี[3]

การผลักดันชาวกะเหรี่ยงและยุทธการตะนาวศรี

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี

หลังจากเหตุการณ์ 35 วันนรกบางกลอย ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง หมู่บ้านป่าไม้ และเริ่มอพยพคนลงมาจากพื้นที่ป่าในปี พ.ศ. 2539[14] จำนวน 57 ครอบครัว 391 คน[15] และจัดที่ดินให้ 7-8 ไร่ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่นั้นได้รับประโยชน์ แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก[14] เห็นได้ชัดในปี พ.ศ. 2552[1] เนื่องจากพื้นที่ทำกินใหม่เป็นหินแข็ง เพาะปลูกไม่ได้ ทำให้บางส่วนย้ายกลับขึ้นไปทำกินที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม[15] โดยมีการเขียนของบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านโป่งลึกบางกลอยตามพระราชดำริในปีงบประมาณ 2553 แต่กลับเกิดยุทธการตะนาวศรีขึ้นมาแทน ซึ่งมีความย้อนแย้งในตัวเอง[14]

ยุทธการตะนาวศรี นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น ดำเนินการผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงออกมาจากพื้นที่ "บางกลอยบน" หรือ "ใจแผ่นดิน" มาอยู่ในพื้นราบคือบ้านบางกลอยล่าง และบ้านโป่งลึก[11][16] ด้วยการรื้อบ้าน เข้าจับกุม เผาบ้านและยุ้งข้าว พร้อมกับตั้งข้อหาการบุกรุกป่าพร้อมกับกล่าวหาว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธ ระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2554 ซึ่งดำเนินการไปประมาณ 10-12 ครั้ง จนเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำในยุทธการดังกล่าวทำให้ยุทธการนี้ถูกเปิดเผยออกมา โดยกำลังประกอบด้วยหน่วยเฉพาะกิจชุดพระยาเสือ จากกองพลทหารราบที่ 9, ตำรวจตระเวนชายแดน[12] และเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช[11]

ในรายงานสรุปประจำเดือนของยุทธการตะนาวศรี มีส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า หน่อแอะ มีมิ[1] ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ในยุทธการตะนาวศรี และระบุว่าเป็นผู้บุกรุกที่อพยพเข้าไปใหม่ในพื้นที่ใจแผ่นดิน และมีอาวุธสงครามในครอบครอง ซึ่งความจริงแล้วเขาคือหนึ่งในพรานชาวกะเหรี่ยง 4 คน ที่ช่วยเหลือตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 4 นายที่รอดชีวิตในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งหน่อแอะเป็นลูกของปู่คออี้ โดยพรานอีก 3 คนที่เหลือคือ หน่อสะ[1] ลูกชายอีกคนของปู่คออี้ โกละ และโมลิ ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยดั่งเดิมในพื้นที่ ไม่ใช่การบุกรุกเข้ามาตั้งหมู่บ้านใหม่อย่างที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง[11]

นรก 35 วันในป่าบางกลอย

นรก 35 วันในป่าบางกลอย  
ผู้ประพันธ์เริงศักดิ์ กำธร
ประเทศไทย
ภาษาไทย
หัวเรื่องการปะทะที่บางกลอย พ.ศ. 2535
ประเภทสารคดี
พิมพ์สำนักพิมพ์บางหลวง
วันที่พิมพ์พฤศจิกายน 2535
หน้า151 หน้า
ISBN9748564525 ครั้งที่ 1
9789744790750 ครั้งที่ 6

นรก 35 วันในป่าบางกลอย เป็นหนังสือสารคดี ที่เขียนขึ้นโดย เริงศักดิ์ กำธร ซึ่งเขียนมาจากเรื่องจริงของกรณีที่ตำรวจตระเวนชายแดนชุดพิสูจน์ทราบปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่ป่าบางกลอย แก่งกระจานในปี พ.ศ. 2535 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 นาย 1 ราย และมีผู้รอดชีวิต 4 นาย

ประวัติ

นรก 35 วันในป่าบางกลอย เคยถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์โดยเผยแพร่แบ่งออกเป็นตอน ๆ[17] เขียนขึ้นโดย เริงศักดิ์ กำธร เจ้าของรางวัลพูลิเซอร์ปี 2533[18] โดยอาศัยข้อมูลจากตำรวจตระเวนชายแดนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้เขียนบันทึกและส่งมาให้กับเริงศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในขณะนั้น และได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวันเป็นรายตอน[5] ก่อนจะนำมารวบรวมเป็นรูปเล่มและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บางหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และสำนักพิมพ์เพื่องอักษรในปี พ.ศ. 2553 โดยได้อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นผู้เขียนคำนำ โดยเป็นเรื่องที่มีค่าลิขสิทธิ์แพงที่สุดในประเทศไทยเรื่องหนึ่ง[18]

รายละเอียด

นรก 35 วันในป่าบางกลอย ตีพิมพ์จำนวน 6 ครั้ง ดังนี้

  • พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤศจิกายน 2535 โดยสำนักพิมพ์บางหลวง ขนาด 12.8 x 18.5 เซนติเมตร มีจำนวน 151 หน้า [19]
  • พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2535 โดยสำนักพิมพ์บางหลวง[20]
  • พิมพ์ครั้งที่ 3 เมษายน 2537 โดยสำนักพิมพ์บางหลวง ขนาด 130x185 มิลลิเมตร มีจำนวน 159 หน้า[21]
  • พิมพ์ครั้งที่ 4
  • พิมพ์ครั้งที่ 5
  • พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2553[22] โดยสำนักพิมพ์เฟื่องอักษร ขนาด 144 x 209 x 10 มิลลิเมตร มีจำนวน 160 หน้า หมายเลข ISBN 9789744790750[23]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย