การปฏิวัติยุคหินใหม่

การปฏิวัติยุคหินใหม่ หรือ การปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่หนึ่ง เป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างกว้างขวางของวัฒนธรรมมนุษย์ในยุคหินใหม่จากสังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ (สังคมแบบยังชีพ) สู่สังคมเกษตรกรรม และสังคมเมือง ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร[4] การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวทำให้มนุษย์มีโอกาสสังเกตและทดลองพันธุ์พืช นำไปสู่ความรู้ในการปรับปรุงไม้ป่าเป็นไม้เลี้ยง[5] แนวคิดการปฏิวัติยุคหินใหม่นี้คิดค้นโดย วี. กอร์ดอน ไชลด์ นักโบราณคดีชาวออสเตรเลียในหนังสือ Man Makes Himself[6]

แผนที่โลกแสดงศูนย์กลางการริเริ่มเกษตรกรรมและการแผ่กระจายในยุคก่อนประวัติศาสตร์: พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (11,000 BP), ลุ่มน้ำแยงซีและหวง (9,000 BP) และที่สูงนิวกินี (9,000–6,000 BP), เม็กซิโกตอนกลาง (5,000–4,000 BP), อเมริกาใต้ตอนเหนือ (5,000–4,000 BP), แอฟริกาใต้สะฮารา (5,000–4,000 BP, ยังไม่ทราบที่ตั้งแน่ชัด), อเมริกาเหนือทางตะวันออก (4,000–3,000 BP)[1], BP แทนหน่วยเวลา "ก่อนปัจจุบัน" (Before Present)
วิวัฒนาการของอุณหภูมิในภายหลังยุคน้ำแข็ง นับจากการขยายสูงสุดของแผ่นน้ำแข็งครั้งล่าสุด (Last Glacial Maximum - LGM) อ้างอิงจากการขุดสำรวจแกนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ การเกิดขึ้นของการเกษตรกรรมสอดคล้องกับช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงสิ้นสุดของช่วงหนาวเย็นของยุคดรายส์ (Younger Dryas) ต่อกับช่วงเริ่มต้นของช่วงเวลาที่อบอุ่นยาวนานของสมัยโฮโลซีน[2] ซึ่งสันนิษฐานว่า เขตร้อนและเขตกึ่งเขตร้อนได้ขยายตัวออกไปมาก ซึ่งสภาพภูมิอากาศแบบนี้ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำกสิกรรมแบบง่ายในช่วงเริ่มต้น[3]

การปฏิวัติยุคหินใหม่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงทางเกษตรกรรมที่ได้รับการยืนยันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่เพิ่มองค์ความรู้ในการผลิตอาหาร แต่เป็นการเปลี่ยนจากการใช้ชีวิตร่อนเร่ไปสู่การตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านและเมือง มีการชลประทานและถางป่าเพื่อทำการเพาะปลูก รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ การทำเครื่องปั้นดินเผา การปรับปรุงเครื่องมือหิน และการสร้างบ้านทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่ปรากฏการณ์ของการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า การเปลี่ยนผ่านทางประชากรยุคหินใหม่

หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เกิดขึ้นแยกกันในหลายแห่งทั่วโลก เริ่มในสมัยโฮโลซีนเมื่อ 11,700 ปีก่อน[7] ช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค[8] เริ่มจากบริเวณพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ราว 10,000–8,000 ปีก่อนคริสตกาล[9] ตามด้วยลุ่มแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำหวงราว 7,000 ปีก่อนคริสตกาล[10] และที่สูงนิวกินีราว 7,000–3,000 ปีก่อนคริสตกาล[11] มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุของการเปลี่ยนมาทำการเกษตร เช่น พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์[12] การใช้เกษตรกรรมเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจ[13] ปัจจัยด้านประชากร[14][15] การปรับตัวของมนุษย์และพืช[16] สภาพอากาศคงที่หลังยุคน้ำแข็ง[17] และการสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ (megafauna)[18] มีหลักฐานการเพาะปลูกธัญพืช 8 ชนิดเป็นครั้งแรกในลิแวนต์ช่วงราว 9,500 ปีก่อนคริสตกาล[19] ขณะที่การเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นโดยสัตว์กลุ่มแรก ๆ ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงได้แก่ สุนัข (13,000 ปีก่อนคริสตกาล[20]) แพะ (10,000 ปีก่อนคริสตกาล[21]) สุกร (9,000 ปีก่อนคริสตกาล[22]) แกะ (9,000–8,500 ปีก่อนคริสตกาล[23]) และวัว (8,000 ปีก่อนคริสตกาล[24])

มุมมองดั้งเดิมของการปฏิวัติยุคหินใหม่คือการเกษตรมีส่วนสนับสนุนประชากรที่มากขึ้น ทำให้ชุมชนยิ่งแผ่ขยาย ขณะเดียวกันก็เกิดแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ทำให้ผู้คนมีหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคม และเมื่อสังคมซับซ้อนขึ้นก็เกิดชนชั้นนำผู้ทำหน้าที่ปกครองชุมชน[25] พัฒนาการดังกล่าวหรือบางครั้งเรียกว่า การรวมกลุ่มยุคหินใหม่ (Neolithic package) เอื้อให้เกิดรากฐานโครงสร้างทางการเมือง การปกครองแบบรวมอำนาจ อุดมการณ์แบบลำดับชั้น การกระจายงาน และการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาการเขียน ศิลปะ และสถาปัตยกรรม นำไปสู่อารยธรรมแรกสุดอย่างซูเมอร์ทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย (ราว 6500 BP) อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสัมฤทธิ์[26]

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติยุคหินใหม่จะนำพาความก้าวหน้าต่าง ๆ แต่งานศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาและโบราณคดีหลายชิ้นพบว่าการที่มนุษย์เปลี่ยนมากินอาหารจากธัญพืชมากขึ้นทำให้การคาดหมายคงชีพลดลง การเสียชีวิตในทารกเพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อและโรคเสื่อม การเพาะปลูกกลับเป็นการจำกัดความหลากหลายของอาหาร ทำให้มนุษย์ขาดวิตามินและแร่ธาตุ[27] นอกจากนี้จาเรด ไดมอนด์ นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันยังเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมและความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ[28]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย