ลิต้าย

ลิต้าย[3] (ค.ศ. 161 — 21 ตุลาคม ค.ศ. 256)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี่ ไต้ (จีน: 呂岱; พินอิน: Lǚ Dài) ชื่อรอง ติ้งกง (จีน: 定公; พินอิน: Dìnggōng) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เกิดในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ลิต้ายเริ่มรับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในเมืองบ้านเกิดซึ่งอยู่ในนครไท่โจว มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน ก่อนจะย้ายลงใต้ไปอยู่ภูมิภาคกังตั๋ง (หรือง่อ) ที่ซึ่งลิต้ายได้มาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย และภายหลังได้เป็นนายอำเภอภายใต้การปกครองของขุนศึกซุนกวน ลิต้ายขึ้นมามีชื่อเสียงภายหลังประสบความสำเร็จในการปราบปรามกบฏบางกลุ่มในอาณาเขตของซุนกวน ในช่วงต้นยุคสามก๊ก ซุนกวนผู้ซึ่งภายหลังขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กได้แต่งตั้งลิต้ายเป็นข้าหลวงมณฑลของมณฑลเกาจิ๋วทางใต้ ในช่วงที่ลิต้ายดำรงตำแหน่งในมณฑลเกาจิ๋วเป็นเวลาสิบปี ได้ปราบปรามการก่อการกำเริบหลายครั้ง รักษาความสงบสุขในพื้นที่ และติดต่อกับอาณาจักรต่างชาติบางอาณาจักรในคาบสมุทรอินโดจีน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่) และทำให้อาณาจักรเหล่านี้ส่งบรรณาการมายังง่อก๊ก ในปี ค.ศ. 231 ลิต้ายถูกเรียกตัวไปยังบู๊เฉียงเพื่อดูแลราชการพลเรือนและการทหารในมณฑลเกงจิ๋ว (ปัจจุบันคือมณฑลหูเป่ย์และหูหนาน) ร่วมกับลกซุน ตลอดช่วงคริตส์ทศวรรษ 230 ลิต้ายปราบปรามกบฏจำนวนหนึ่งในอาณาเขตของง่อก๊ก ในปี ค.ศ. 240 ลิต้ายที่อายุใกล้จะครบ 80 ปียังคงมีสุขภาพดีและมีความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ ลิต้ายขึ้นมามีตำแหน่งเป็นมหาขุนพลอาวุโสในปี ค.ศ. 246 และต่อมาได้เป็นเสนาบดีกลาโหมในปี ค.ศ. 252 ในรัชสมัยของซุนเหลียงผู้สืบราชบัลลังก์ของซุนกวน ลิต้ายเสียชีวิตขณะมีอายุ 95 ปี[1] และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีอายุยืนยาวที่สุดในยุคสามก๊ก[4]

ลิต้าย (ลฺหวี่ ไต้)
呂岱
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคม หรือ มิถุนายน ค.ศ. 252 (252) – 21 ตุลาคม ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ถัดไปเตงอิ๋น
มหาขุนพลอาวุโส (上大將軍 ช่างต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
กันยายน หรือ ตุลาคม ค.ศ. 246 (246) – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252 (252)
กษัตริย์ซุนกวน
ก่อนหน้าลกซุน
เจ้ามณฑลเกาจิ๋ว (交州牧 เจียวโจวมู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 239 (239) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ขุนพลพิทักษ์ภาคใต้
(鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – กันยายน หรือ ตุลาคม ค.ศ. 246 (246)
กษัตริย์ซุนกวน
ขุนพลสงบภาคใต้
(安南將軍 อานหนานเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ข้าหลวงมณฑลเกาจิ๋ว
(交州刺史 เจียวโจวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ก่อนหน้าเปาจิด
ถัดไปไต้ เหลียง
เจ้าเมืองหลูหลิง (廬陵太守 หลูหนิงไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 220 (220)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 161[1]
นครไท่โจว มณฑลเจียงซู
เสียชีวิต21 ตุลาคม ค.ศ. 256 (95 ปี)[a][1]
บุตรลฺหวี ข่าย[b]
อาชีพขุนพล
ชื่อรองติ้งกง (定公)
บรรดาศักดิ์พาน-ยฺหวีโหว (番禺侯)

การรับราชการช่วงต้น

ลิต้ายเป็นชาวอำเภอไห่หลิง (海陵縣 ไห่หลิงเซี่ยน) เมืองกองเหลง (廣陵郡 กว่างหลิงจฺวิ้น) ซึ่งอยู่ในนครไท่โจว มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน ลิต้ายเริ่มรับราชการในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในที่ว่าการอำเภอและที่ว่าการเมือง เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วแผ่นดินจีนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 180 และ 190 ลิต้ายหนีลงใต้ไปยังภูมิภาคกังตั๋ง (หรือง่อ) เพื่อลี้ภัย[5]

ในปี ค.ศ. 200[6] หลังจากซุนกวนขึ้นเป็นขุนศึกปกครองดินแดนกังตั๋ง ลิต้ายได้มารับราชการกับซุนกวนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในเมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น)[7] ระหว่างที่ซุนกวนเดินทางตรวจราชการในเมืองง่อกุ๋น ได้เรียกนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยทั้งหมดเพื่อประเมินคลังและการจัดการกฎหมายของทุกอำเภอ ลิต้ายทำให้ซุนกวนรู้สึกประทับใจเมื่อลิต้ายตอบคำถามได้ดีและแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งที่ตนดูแลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซุนกวนจึงมอบหมายให้ลิต้ายเป็นเสมียนในสำนักบริหารส่วนตัวของซุนกวน และภายหลังตั้งให้ลิต้ายเป็นนายอำเภอของอำเภออีเหี้ยว (餘姚縣 ยฺหวีเหยาเซี่ยน) ในช่วงที่ลิต้ายดำรงตำแหน่งได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์มากกว่า 1,000 นายมารับราชการเป็นทหารในทัพของซุนกวน[8][1]

สยบกบฏในห้อยเข

เมื่อลฺหวี่ เหอ (呂合) และฉิน หลาง (秦狼) นำการก่อการกำเริบในห้าอำเภอทางตะวันออกของเมืองห้อยเข (會稽 ไคว่จี; อยู่บริเวณนครเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ซุนกวนตั้งให้ลิต้ายเป็นนายกองพันและมอบหมายให้ช่วยเหลือเจียวขิมในการจัดการกับกลุ่มกบฏ ลิต้ายและเจียวขิมทำภารกิจได้สำหรับและจัดการนำความสงบกลับสู่ห้าอำเภอและจับตัวผู้นำกบฏ 2 คน จากนั้นลิต้ายจึงได้เลื่อนยศเป็นขุนพลราชองครักษ์ผู้น่าเชื่อถือแจ่มแจ้ง (昭信中郎將 เจาซิ่นจงหลางเจี้ยง) เป็นบำเหน็จความชอบ[9][1]

การบุกฮันต๋งที่ล้มเหลว

ในปี ค.ศ. 211 ลิต้ายและอิ่น อี้ (尹異) ที่เป็นรองแม่ทัพนำกองกำลัง 2,000 นายไปทางตะวันตกเพื่อล่วงให้เตียวฬ่อขุนศึกที่มีฐานกำลังในเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) มายังจุดซุ่มโจมตีที่เมืองฮั่นซิง (漢興郡 ฮั่นซิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) แต่เตียวฬ่อระแวงว่ามีบางอย่างน่าสงสัยจึงไม่ได้หลงกล จากนั้นซุนกวนจึงสั่งให้ลิต้ายและทหารถอยทัพกลับมากังตั๋ง[10][c]

ระหว่างเดินทางกลับ ลิต้ายผ่านมาทางเป๊กเต้เสีย (白帝城 ไป๋ตี้เฉิง; อยู่ในอำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่งในปัจจุบัน) และพบกับเล่าปี่พันธมิตรของซุนกวนซึ่งกำลังนำทัพเข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากเล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเอ๊กจิ้ว ลิต้ายเห็นว่าทัพเล่าปี่ไม่เป็นระเบียบและราวครึ่งหนึ่งของกำลังทหารหนีทัพหรือไม่ก็เสียชีวิต ลิต้ายจึงเชื่อว่าเล่าปี่จะยึดมณฑลเอ๊กจิ๋วไม่สำเร็จ เมื่อลิต้ายกลับมากังตั๋งได้แจ้งเรื่องนี้กับซุนกวน ซุนกวนจึงถามอู๋ ฟ่าน (吳範) ที่ปรึกษาที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเล่าปี่จะยึดเอ๊กจิ๋วได้สำเร็จ อู๋ ฟ่านตอบว่า "การคาดการณ์ของข้าพเจ้าขึ้นกับเจตจำนงของฟ้า สิ่งที่ท่านลิต้ายเห็นเป็นการกระทำของคน" การคาดการณ์ของอู๋ ฟ่านกลายเป็นความจริงเมื่อเล่าปี่พิชิตมณฑลเอ๊กจิ๋วได้สำเร็จในที่สุดในปี ค.ศ. 214[11][12]

กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตซุน-เล่า

ในปี ค.ศ. 215 ซุนกวนมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตในมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที้มณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) กับเล่าปี่ที่เป็นพันธมิตร ซุนกวนมอบหมายลิต้ายพร้อมด้วยซุน เม่า (孫茂) และนายทหารคนอื่น 9 คนเป็นรองแม่ทัพ ให้นำกำลังทหารเข้ายึดครอง 3 เมืองคือเตียงสา (長沙 ฉางชา), เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง; อยู่บริเวณนครหย่งโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง; อยู่บริเวณนครเชินโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน)[13] ข้าราชการใน 4 อำเภอคือ อานเฉิง (安成), โยว (攸), หย่งซิน (永新) และฉาหลิง (茶陵) ย้ายไปที่อำเภออินชาน (陰山縣 อินชานเซี่ยน; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเหิงตง มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และประกาศความเป็นศัตรูกับลิต้ายที่นั่น ลิต้ายจึงนำกองกำลังเข้าล้อมโจมตีอำเภออินชานและบังคับให้เหล่าข้าราชการที่แข็งข้อยอมจำนนได้สำเร็จ สามเมืองทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋วจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของซุนกวน[14]

ซุนกวนให้ลิต้ายอยู่ดูแลเมืองเตียงสา เวลานั้นอู๋ ต้าง (吳碭) นายอำเภอของอำเภออานเฉิงสมคบคิดกับกับนายทหารยฺเหวียน หลง (袁龍) เพื่อก่อกบฏต่อซุนกวนและแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกวนอูขุนพลผู้รักษาอาณาเขตของเล่าปี่ทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋ว อู๋ ต้างจัดการยึดครองโยว ส่วนยฺเหวียน หลงตั้งมั่นอยู่ที่อำเภอหลี่หลิง (醴陵)[15] ซุนกวนส่งขุนพลโลซกเข้าโจมตีอู๋ ต้าง โลซกเอาชนะอู๋ ต้างได้สำเร็จและยึดอำเภอต่าง ๆ คืนมาได้ ส่วนอู๋ ต้างหลบหนีไปหลังแตกพ่าย ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ลิต้ายเข้าโจมตีอำเภอหลี่หลิง ยึดอำเภอคืนมาได้ และประหารชีวิตยฺเหวียน หลง จากนั้นลิต้ายจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองของเมืองหลูหลิง (廬陵郡 หลูหลิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครจี๋อาน มณฑลเจียงซีในปัจจุบัน)[16][1]

ในฐานะข้าหลวงมณฑลเกาจิ๋ว

ในปี ค.ศ. 220 ลิต้ายได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเกาจิ๋วทางใต้ (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลกวางตุ้ง, เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และบางส่วนของภาคเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) แทนที่เปาจิด[1] หลังจากลิต้ายเข้ารับตำแหน่ง เฉฺวียน ปั๋ว (錢愽) หัวหน้ากลุ่มโจรในเมืองเกาเหลียง (高涼郡 เกาเหลียงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครหยางเจียง มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) นำผู้ติดตามมาสวามิภักดิ์ต่อลิต้าย ลิต้ายรับการสวามิภักดิ์ของเฉฺวียน ปั๋วและแต่งตั้งให้เป็นนายกองร้อยส่วนตะวันตกของเมืองเกาเหลียง[17] ต่อมาลิต้ายยังได้ปราบการก่อการกำเริบของชนเผ่าพื้นเมืองในเมืองยฺวี่หลิน (鬱林郡 ยฺวี่หลินจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกุ้ยก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน)[18]

ในช่วงเวลานั้นมีหัวหน้ากลุ่มโจรชื่อหวาง จิน (王金) จากอำเภอเจินหยาง (湞陽縣 เจินหยางเซี่ยน; ทางตะวันออกของนครอิงเต๋อ มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) ซึ่งมักนำผู้ติดตามไปปล้นบริเวณชายแดนของเมืองหนานไห่ (南海郡 หนานไห่จฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) ลิต้ายได้รับคำสั่งจากซุนกวนให้นำกองกำลังเข้าโจมตีกลุ่มโจรและจับเป็นหวาง จินได้สำเร็จ จากนั้นจึงส่งตัวหวาง จินไปยังเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) นครหลวงของง่อก๊ก ตลอดการทัพ ลิต้ายสังหาร จับกุม และปล่อยตัวโจรไปทั้งหมดประมาณ 10,000 คน ซุนกวนให้เลื่อนยศลิต้ายเป็นขุนพลสงบภาคใต้ (安南將軍 อานหนานเจียงจฺวิน) มอบอาญาสิทธิ์ และยกให้มีบรรดาศักดิ์เป็นตูเซียงโหว (都鄉侯) เพื่อตอบแทนความดีความชอบของลิต้าย[19]

ปราบกบฏชื่อ ฮุย

เมื่อชื่อ เซี่ย (士燮) เจ้าเมืองของเมืองเกาจี (交趾郡 เจียวจื่อจฺวิ้น) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 226[20] ซุนกวนตั้งให้ชื่อ ฮุย (士徽) บุตรชายคนที่ 3 ของชื่อ เซี่ยเป็นขุนพลและตั้งให้เป็นเจ้าเมืองของเมืองจิ่วเจิน (九真郡 จิ่วเจินจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครทัญฮว้า ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ซุนกวนยังแต่งตั้งเฉิน ฉือ (陳時) เป็นเจ้าเมืองของเมืองเกาจีคนใหม่แทนที่ชื่อ เซี่ย[21] ในช่วงเวลานั้นซุนกวนต้องการแยกส่วนหนึ่งของมณฑลเกาจิ๋วมาจัดตั้งเป็นมณฑลใหม่ชื่อกว่างโจว (廣州) โดยเมืองเกาจี, จิ่วเจิน (九真) และรื่อหนาน (日南) จะยังคงอยู่ในมณฑลเกาจิ๋ว ส่วนซังงาว (蒼梧 ชางอู๋), หนานไห่ (南海), ยฺวี่หลิน (鬱林) และเหอผู่ (合浦) จะก่อตั้งใหม่เป็นมณฑลกว่างโจว จากนั้นซุนกวนจึงตั้งให้ไต้ เหลียง (戴良) และลิต้ายเป็นข้าหลวงของมณฑลเกาจิ๋วและกว่างโจวตามลำดับ[22]

เมื่อไต้ เหลียงและเฉิน ฉือมารับตำแหน่งใหม่ ชื่อ ฮุยไม่ยอมรับการแต่งตั้งใหม่นี้และเริ่มต้นก่อกบฏโดยส่งทัพเข้าสกัดไต้ เหลียงและเฉิน ฉือ[23] ลิต้ายได้รับการอนุมัติจากซุนกวนให้นำกำลังพล 3,000 นายเข้าโจมตีชื่อ ฮุยและปราบปรามกบฏ[24] มีคนเตือนลิต้ายให้ระมัดระวังเพราะตระกูลชื่ออาศัยอยู่ในมณฑลเกาจิ๋วมาหลายรุุ่นและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคนในท้องถิ่น[25] ลิต้ายตอบว่า "แม้ว่าชื่อ ฮุยตัดสินใจก่อกบฏ แต่ก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าข้าจะนำทหารยกมา หากข้าโจมตีอย่างฉับไว ก็จะสามารถจับตัวชื่อ ฮุยที่ไม่ทันตั้งตัวได้และเอาชนะได้อย่างง่ายดาย หากข้าไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว คนอื่น ๆ ก็จะเริ่มคิดก่อกบฏเช่นกัน ส่วนชื่อ ฮุยก็จะมีเวลามากขึ้นในการเสริมการป้องกันของตน หากอนารยชนในทั้ง 7 เมืองประสานทัพเข้าร่วมกับชื่อ ฮุยในการก่อกบฏ ข้าเห็นว่าแม้แต่แม่ทัพที่เก่งที่สุดก็ไม่อาจจัดการกับพวกเขาได้"[26]

จากนั้นลิต้ายก็นำกองกำลังไปยังจุดรวมพลที่อำเภอเหอผู่ รวมกำลังกับไต้ เหลียงและเตรียมโจมตีชื่อ ฮุย[27] เมื่อชื่อ ฮุยรู้ว่าลิต้ายนำทัพมาที่เมืองเกาจีก็ตกใจและหวาดหวั่นด้วยไม่คาดคิดว่าลิต้ายจะมาถึงเร็วเพียงนี้ ชื่อ ฮุยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำพี่น้องของตนออกจากเมืองและยอมจำนนต่อลิต้าย ลิต้ายสั่งให้ประหารชีวิตพี่น้องตระกูลชื่อทั้งหมดและส่งศีรษะไปให้ซุนกวน[28][1] กาน หลี่ (甘醴) และหฺวาน จื้อ (桓治) นายทหาร 2 คนที่เคยรับใช้ชื่อ ฮุยได้ระดมพลเข้าโจมตีลิต้ายเพื่อแก้แค้นให้นาย ลิต้ายเอาชนะทั้งสองได้และกำจัดทัพปฏิปักษ์ทั้งเหลืออยู่ทั้งหมด จากความชอบในการศึก ลิต้ายจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับตำบลเป็นโหวระดับอำเภอชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "พาน-ยฺหวีโหว" (番禺侯)[29]

หลังการก่อกบฏของชื่อ ฮุย ซุนกวนได้ยกเลิกมณฑลกว่างโจวที่จัดตั้งขึ้นใหม่และฟื้นฟูมณฑลเกาจิ๋วดั้งเดิม หลังลิต้ายทำให้เมืองเกาจีกลับมาสงับแล้ว ก็นำกองกำลังลงใต้ไปเมืองเมืองจิ่วเจินเพื่อโจมตีทัพฝ่ายตรงข้าม สังหารและจับกุมข้าศึกได้หลายหมื่นคน [30] ลิต้ายยังมอบหมายให้นายทหารใต้บังคับบัญชาของตนให้เผยแพร่วัฒนธรรมของชาวจีนฮั่นในดินแดนทางใต้โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้คนที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่นที่อาศัยที่นั่นให้มีวัฒนธรรมอย่างชาวจีนฮั่น เวลาช่วงเวลาเดียวกัน ลิต้ายส่งทูตไปติดต่อกับเจ้าผู้ปกครองของอาณาจักรต่างชาติ เช่น ฟูนาน, เลิมเอิ๊ป (Lâm Ấp) และถางหมิง (堂明) ในคาบสมุทรอินโดจีน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่) และทำให้อาณาจักรเหล่านี้ส่งบรรณาการมายังง่อก๊ก[1] ซุนกวนยกย่องลิต้ายจากความดีความชอบเหล่านี้ และเลื่อนยศให้ลิต้ายเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน)[31]

สยบกบฏในบุเหลง หลูหลิง ห้อยเข และหนานไห่

ต้นปี ค.ศ. 231 หลังซุนกวนจักรพรรดิแห่งง่อก๊กทรงเห็นว่ามณฑลเกาจิ๋วกลับมาสงบแล้ว จึงมีรับสั่งให้ลิต้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่โอวโข่ว (漚口; อยู่ในนครฉางชา มณฑลหูหนานในปัจจุบัน)[32]

ราวเดือนมีนาคมหรือเมษายน ค.ศ. 231[33] ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในเง้าเขเซีย (五谿 อู่ซี; แปลว่า "ห้าโตรกธาร"; หมายถึงพื้นที่บริเวณนครหฺวาย-ฮฺว่า มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ก่อกบฏต่อต้านการปกครองของง่อก๊ก ซุนกวนทรงมีรับสั่งให้ลิต้ายนำกำลังพล 50,000 นายไปปราบกบฏ พระองค์ยังมีรับสั่งให้พัวโยยช่วยเหลือลิต้ายในการปราบกบฏ พัวโยยปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี การมอบรางวัลและการลงโทษเป็นไปอย่างยุติธรรม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 234[33] การก่อกบฏสิ้นสุดลงโดยกบฏมากกว่า 10,000 คนถูกสังหารหรือถูกจับกุม ชนเผ่าพื้นเมืองอ่อนกำลังลงอย่างมากจนไม่สามารถก่อกบฏได้อีกเป็นเวลานาน[34][35]

ในปี ค.ศ. 233 ซุนกวนมีรับสั่งให้ลิต้ายและพัวเจี้ยงนำกำลังพลไปประจำการอยู่ที่ลกเค้า (陸口 ลู่โข่ว; ที่ทะเลสาบลู่ฉุ่ยใกล้กับนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ต่อมาซุนกวนมีรับสั่งให้ทั้งคู่ย้ายไปประจำการที่ผูฉี (蒲圻; ปัจจุบันคือนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์) ที่อยู่ใกล้เคียง[36]

ในปี ค.ศ. 235 เกิดการก่อกบฏขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันใน 3 เมือง ได้แก่ หลูหลิง (廬陵; อยู่บริเวณนครจี๋อาน มณฑลเจียงซีในปัจจุบัน), ห้อยเข (會稽 ไคว่จี; อยู่บริเวณนครเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ทางด้านตะวันออก และหนานไห่ (南海郡 หนานไห่จฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) หลี่ หฺวาน (李桓) และลู่ เหอ (路合) นำการก่อกบฏในหลูหลิง สุย ชุน (隨春) นำการก่อกบฏในห้อยเข และหลัว ลี่ (羅厲) นำการก่อกบฏในหนานไห่[37] ซุนกวนจึงมีรับสั่งให้ลิต้ายพร้อมด้วยรองแม่ทัพหลิว จฺว่าน (劉纂) และต๋องจู (唐咨 ถาง จือ) นำกองกำลังแยกกันไปปราบกบฏแต่ละคร หลังจากสุย ชุนยอมจำนน ลิต้ายก็แต่งตั้งให้สุย ชุนเป็นขุนพลรองและรับเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ลิต้ายยังเอาชนะกองกำลังกบฏกลุ่มอื่น ๆ สังหารผู้นำกบฏหลี่ หฺวาน, ลู่เหอ และหลัว ลี่ แล้วส่งศีรษะไปถวายซุนกวน[38] ซุนกวนออกพระราชโองการยกย่องลิต้ายจากความดีความชอบในการปราบกบฏและฟื้นฟูความสงบใน 3 เมือง[39]

หลังการเสียชีวิตของพัวโยยในปี ค.ศ. 239[40] ลิต้ายรับช่วงหน้าที่ของพัวโยยในการดูแลราชการพลเรือนและงานเอกสารทั้งหมดในมณฑลเกงจิ๋ว ลิต้ายยังได้ย้ายไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) เพื่อทำงานร่วมกับลกซุน แต่ยังคงดูแลกองทหารรักษาการณ์ในผูฉี (蒲圻; ปัจจุบันคือนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์)[41]

ปราบกบฏเลี่ยว ชื่อ

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 239 หรือมกราคม ค.ศ. 240 เลี่ยว ชื่อ (廖式) นายทหารของง่อก๊กเริ่มต้นก่อกบฏในเมืองหลินเฮ่อ (臨賀郡 หลินเฮ่อจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเหอโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน) และนำผู้ติดตามเข้าโจมตีเมืองใกล้เคียงอันได้แก่เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง; อยู่บริเวณนครหย่งโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง; อยู่บริเวณนครเชินโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน)[40] การก่อการกำเริบของเลี่ยว ชื่อยังเป็นการกระตุ้นให้คนท้องถิ่นในเมืองในมณฑลเกาจิ๋วอันได้แก่ซังงาว (蒼梧 ชางอู๋; อยู่บริเวณนครอู๋โจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน) และยฺวี่หลิน (鬱林; อยู่บริเวณนครกุ้ยก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน) ให้ก่อกบฏต่อง่อก๊กด้วยเช่นกัน[42]

เมื่อลิต้ายได้รับรายงานเรื่องการก่อกบฏ จึงรวบรวมกำลังทหารและเข้าโจมตีกบฏทันที กองกำลังของลิต้ายเดินทัพทั้งหมดเพื่อจะไปถึงจุดหมายปลายทางโดยใช้เวลาอันสั้นที่สุด ซุนกวนทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปพบลิต้ายและแต่งตั้งลิต้ายเป็นเจ้ามณฑลเกาจิ๋ว (交州牧 เจียวโจวมู่) อย่างเป็นทางการ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนกวนมีรับสั่งให้นายทหารคนอื่น ๆ เช่นต๋องจูให้นำกองกำลังของแต่ละคนไปยังมณฑลเกาจิ๋วเพื่อสนับสนุนลิต้าย หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปี ลิต้ายปราบกบฏเป็นผลสำเร็จและฟื้นฟูความสงบในหลายเมือง ลิต้ายยังสั่งให้ประหารชีวิตผู้นำกบฏเลี่ยว ชื่อ, เฟ่ย์ หยาง (費楊) และผู้ติดตาม หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ลิต้ายกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมที่บู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์)[43]

ดูแลราชการในบู๊เฉียง

ในปี ค.ศ. 240 ลิต้ายมีอายุใกล้ครบ 80 ปีแล้ว แต่ยังคงมีสุขภาพดี มีความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะขุนพล และยังคงดูแลราชการในแต่ละวันในบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) ด้วยตนเอง[44]

ในช่วงเวลานั้น จาง เฉิง (張承) ขุนพลง่อก๊กเขียนจดหมายถึงลิต้ายดังต่อไปนี้: "ในอดีต เมื่อต้าน (旦) และชื่อ (奭) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจิว (周 โจว) ผู้คนเขียนศังสกานท์แดนใต้เพื่อสรรเสริญทั้งคู่ ทุกวันนี้ท่านและท่านลก (ลกซุน) ก็เฉกเช่นทั้งสองท่านนั้น ท่านทั้งสองแสดงความจงรักภักดี ความขยันหมั่นเพียร ความทุ่มเทการงาน และความอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างความสำเร็จและผลงานยิ่งใหญ่ ส่งเสริมวัฒนธรรมพลเรือนเข้มแข็ง เพลงของวิญญูชน (君子 จฺวินจื่อ) สรรเสริญคุณธรรมของพวกท่าน ส่วนราษฎรก็นิยมชมชอบในคุณค่าของพวกท่าน ข้าพเจ้าได้ยินว่าในทุก ๆ วัน ท่านมีเอกสารกองโตที่ต้องตรวจสอบและมีผู้คนต่อแถวเข้าพบไม่หมดสิ้น แต่ท่านไม่ละทิ้งงาน ไม่พร่ำบ่นว่าเหนื่อย ข้าพเจ้ายังได้ยินว่าท่านสามารถขึ้นหลังม้าได้โดยไม่ต้องเหยียบโกลน ดูเหมือนท่านได้เหนือกว่าเลียมเภา (廉頗 เหลียน พัว) ไปแล้ว ที่ท่านมีความสำเร็จทั้งหมดนี้ช่างน่าอัศจรรย์! อี้จิงกล่าวว่า 'เขาหวังให้คุณธรรมของตนสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นที่น่านับถือยิ่ง ๆ ขึ้นไป'[d] ท่านบรรลุความสมบูรณ์แบบเช่นนี้ได้อย่างไร!"[45]

ในปี ค.ศ. 243 ลิต้ายส่งจู อิง (朱應) และคาง ไท่ (康泰) ไปสำรวจดินแดนทางใต้ของมณฑลเกาจิ๋วซึ่งปัจจุบันคือคาบสมุทรอินโดจีน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่) และเผยแพร่วัฒนธรรมจีนที่นั่น คาง ไท่เขียนอู๋ฉือไว่กั๋วจฺว้าน (吳時外國傳) ซึ่งบันทึกถึงสิ่งที่เห็นระหส่างการเดินทางในอินโดจีน[e]

หลังการเสียชีวิตของลกซุนในปี ค.ศ. 245 จูกัดเก๊กขึ้นมาแทนที่ลกซุนในฐานะผู้บัญชาการทหารดูแลบู๊เฉียงและดูแลราชการในมณฑลเกงจิ๋ว ซุนกวนจึงทรงแบ่งบู๊เฉียงออกเป็น 2 ส่วน และมอบหมายให้ลิต้ายรับผิดชอบส่วนขวา ดูแลพื้นที่ตั้งแต่ผูฉี (蒲圻; ปัจจุบันคือนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์) ถึงบู๊เฉียง[46] ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246[47] ซุนกวนทรงเลื่อนให้ลิต้ายเป็นมหาขุนพลอาวุโส (上大將軍 ช่างต้าเจียงจวิน) และทรงแต่งตั้งให้ลฺหวี ข่าย (呂凱)[b] บุตรชายของลิต้ายเป็นนายกองพันดูแลกองทหารรักษาการณ์ที่ผูฉี[48]

การรับราชการช่วงปลายและเสียชีวิต

หลังซุนกวนสวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 252[49] ซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้องขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กองค์ใหม่[50] ต่อมาในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีเดียวกัน ซุนเหลียงทรงแต่งตั้งลิต้ายเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)[51][1]

ลิต้ายเสียชีวิตในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 256[a] ขณะอายุ 96 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[1] ลฺหวี ข่าย (呂凱)[b] บุตรชายได้สืบทอดบรรดาศักดิ์พาน-ยฺหวีโหว (番禺侯)[52]

ก่อนลิต้ายเสียชีวิตได้สั่งเสียว่าตนต้องการให้ฝังศพของตนด้วยโลงศพที่ไม่มีการตกแต่ง ให้แต่งกายศพด้วยชุดเรียบ ๆ และจัดงานศพแบบเรียบง่าย ลฺหวี ข่ายปฏิบัติตามคำสั่งเสียอย่างเคร่งครัด[53]

เกร็ดประวัติ

ปล่อยครอบครัวให้อยู่อย่างยากจน

ลิต้ายขึ้นชื่อว่าใช้ชีวิตอย่างซื่อตรง มัธยัสถ์ และเรียบง่าย เมื่อลิต้ายดำรงตำแหน่งในมณฑลเกาจิ๋ว ไม่ได้ส่งรายได้กลับไปบ้านเป็นเวลาหลายปีและทำให้ครอบครัวใช้ชีวิตอย่างยากจนและหิวโหย[54]

ซุนกวนทรงถอนหายใจเมื่อได้ยินเรื่องนี้ จึงตรัสกับข้าราชบริพารว่า "ลิต้ายอยู่ห่างไกลจากบ้านไปหลายพันลี้ ปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐอย่างซื่อสัตย์ ในขณะที่ครอบครัวต้องทนทุกข์ด้วยความยากจน ข้าไม่รู้เรื่องนี้เลยจนกระทั่งบัดนี้ พวกท่านผู้ช่วยคนสนิทและผู้รวบรวมข้อมูลของข้าไปทำอะไรอยู่ตลอดมานี้"[55] จากนั้นซุนกวนจึงทรงมีรับสั่งให้จัดเตรียมเงิน ข้าว เสื้อผ้า และผ้าไหมจำนวนหนึ่งส่งไปให้ครอบครัวของลิต้ายทุก ๆ ปี[56]

มิตรภาพกับสฺวี ยฺเหวียน

ลิต้ายเป็นเพื่อนสนิทกับสฺวี ยฺเหวียน (徐原) ชาวเมืองง่อกุ๋นซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องความใจกว้างและทะเยอทะยาน ลิต้ายมองเห็นศักยภาพยิ่งใหญ่ในตัวสฺวี ยฺเหวียน จึงมักส่งเสื้อผ้าไปให้สฺวี ยฺเหวียน มักหารือในเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันกับสฺวี ยฺเหวียน และเสนอชื่อสฺวี ยฺเหวียนให้ได้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ในที่สุดสฺวี ยฺเหวียนก็ขึ้นมารับราชการในราชสำนักง่อก๊กในตำแหน่งผู้ตรวจการของราชสำนัก[57]

สฺวี ยฺเหวียนเป็นที่รู้จักในเรื่องความภักดี กล้าหาญ และพูดตรงไปตรงมา เมื่อใดที่สฺวี ยฺเหวียนเห็นลิต้ายทำผิดพลาด จะชี้ให้ลิต้ายเห็นจุดผิดพลาดเป็นการส่วนตัว และในขณะเดียวกันก็ยกประเด็นมาหารือในที่สาธารณะ เมื่อมีคนบอกลิต้ายเรื่องนี้ ลิต้ายก็กล่าวว่า "นี่จึงเป็นเหตุให้ข้านับถือเต๋อเยฺวียน (德淵; ชื่อรองของสฺวี ยฺเหวียน) อย่างสูง"[58]

เมื่อสฺวี ยฺเหวียนเสียชีวิต ลิต้ายร้องไห้ไม่หยุดและกล่าวว่า "เต๋อเยฺวียนเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของข้า บัดนี้จากไปแล้ว ข้าจะไปหาใครที่จะชี้ให้ข้าเห็นความผิดพลาดของตัวข้าเองได้ที่ไหนอีกเล่า" คนร่วมสมัยของลิต้ายและสฺวี ยฺเหวียนมองมิตรภาพของทั้งคู่ในแง่บวกอย่างมาก[59]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย